ไลฟ์สไตล์

ล่องเลชุมพร นอนเล่นเกาะพิทักษ์

ล่องเลชุมพร นอนเล่นเกาะพิทักษ์

04 พ.ย. 2555

ล่องเลชุมพร นอนเล่นเกาะพิทักษ์ : คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย...เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

                           ฤดูกาลเหยี่ยวอพยพราวปลายเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน (ตามสภาพอากาศแต่ละปี) ดูจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาที่ จังหวัดชุมพร ประตูสู่ภาคใต้แห่งนี้ จนเป็นที่รู้จักมากไปกว่าหาดทรายสงบๆ ในอดีต เช่นหาดทุ่งวัวแล่นหรือหาดทรายรี หรือเกาะแก่งในทะเล อย่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร หรือเกาะเต่า เกาะนางยวน ที่เป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ และนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก

                          เดี๋ยวนี้การเดินทางไปชุมพรยิ่งสะดวก ทั้งทางบกที่ถนนหนทางสะดวกขึ้น หรือจะรวดเร็วไปกว่านั้นประมาณว่ามีเวลา 2 วันก็เที่ยวได้ ด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก 34 ที่นั่ง ของ "มินิ นกแอร์" (www.nokair.com) ที่เพิ่งเปิดตัวให้บริการนักท่องเที่ยวไปหมาดๆ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ฉันก็เลยถือโอกาสไปลองของกะเขามั่ง หุหุ เครื่องเล็กน่ารัก ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเครื่องบินส่วนตัวซะจริงๆ ทำเวลาได้ไม่ต่างจากเครื่องใหญ่ ข้อสำคัญฉันชักชอบสนามบินชุมพรที่ไม่มีขั้นตอนอะไรยุ่งยาก ด้วยเพราะเป็นสนามบินเล็กๆ  

                           อ้อ ... บอกก่อนนะ สนามบินชุมพร อยู่ อ.ประทิว ห่างจากตัว อ.เมืองชุมพร ราวๆ 40 กม. ถ้าไปถึงสนามบิน ไม่มีรถส่วนตัวมารับก็ต้องเช่าเหมารถเข้าเมือง ที่มีผู้ให้บริการหลายราย หรือถ้าเป็นโรงแรมใหญ่ๆ ก็จะมีรถรับ-ส่งสนามบินเหมือนกัน ฉันเองสะดวกหน่อยเพราะจะล่องเรือชมทะเลชุมพร ไปกับเรือลมพระยา (www.lomprayah.com) ก็เลยมีรถรับ-ส่งถึงสนามบิน
 
                           มาชุมพรคราวนี้ สายไปหน่อยสำหรับการดูเหยี่ยว เลยขอล่องลอยไปกับสายลม และเกลียวคลื่นกับเขาบ้างดีกว่า ขอแค่ฟ้าฝนเป็นใจ แดดร่ม-ฝนไม่ตก ก็พอแล้ว ไม่หวังจะได้เห็นฟ้าใสๆ เท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าให้ดี จะเที่ยวทะเลชุมพร ควรเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของฝั่งอันดามัน เพราะช่วงไฮของฝั่งอันดามันเมื่อไหร่ ฝั่งนี้ก็ฝนชุกล่ะ
 
                           ทะเลชุมพร แม้สีน้ำจะไม่ฟ้าฟ้า ใสใส เหมือนฝั่งอันดามัน แต่ก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง บวกกับสรีระ ที่มีเวิ้งอ่าวเล็กๆ เต็มไปหมด กับชายทะเลและชายหาดที่ยาวรวมกันถึง 220 กม.ทีเดียว

                          ก่อนออกทะเลก็ต้องเอาฤกษ์เอาชัย ไปไหว้ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ปากน้ำชุมพรก่อน แล้วค่อยเดินทางไปขึ้นเรือที่ท่าเรือทุ่งมะขามน้อย  ต.หาดทรายรี ด้วยความที่กลัวเมาเรือ เลยขอรับลมอยู่บนดาดฟ้าของเรือแล้วกัน บวกกับความรู้สึกส่วนตัวที่เหมือนความเป็นอิสรเสรี มองเห็นผืนน้ำไปได้กว้างไกล

                          "ใหม่ๆ ก็อย่างนี้แหละ" ใครๆ ก็ว่างั้น เพราะพอเวลาผ่านไป ความตื่นเต้นจะลดลง แต่ฉันว่าคงไม่ใช่ เพราะพอจะเริ่มหายตื่นเต้น เกาะแก่งเล็กๆ ก็โผล่เข้ามาในสายตา ให้พวกเราลันชัตเตอร์กันต่อ จนเรือพาไปถึงหน้าเกาะใหญ่พอประมาณ พร้อมกับเสียงบอกของไกด์ว่า เป็นเกาะลังกาจิว

                          ลังกาจิว เป็นเกาะสัมปทานรังนก และเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ เคยเสด็จประภาสเพื่อทอดพระเนตรการเก็บรังนกบนเกาะนี้ และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ของพระองค์ไว้บนผนังหินปากถ้ำทางด้านใต้ ซึ่งยังคงปรากฏเป็นหลักฐาน แต่ฉันก็ไม่อาจจะเอาหลักฐานที่ว่านี้มาให้ดูได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเกาะ

                          ชายหาดที่เห็นด้านหน้าไม่กว้างมากนัก แต่ที่น่าทึ่งก็คือบ้าน หรือเรียกให้ถูกน่าจะเป็นกระต๊อบหลังไม่ใหญ่ที่ปลูกอยู่บนโขดหินริมหน้าผา ที่มีเสาสูงๆ และมีบันไดทอดลงมาด้านล่าง เดาว่าน่าจะถึงระดับที่น้ำทะเลขึ้นสูงไปดี แถมบางบ้านที่อยู่ไม่ไกลกัน ยังทำสะพานไม้ทอดยาว เป็นทางเดินถึงกันอีกด้วย วะ...ว้าวว

                         เรือลอยลำ ผูกทุ่นอยู่ไม่ไกลจากชายหาดเท่าไหร่ พร้อมกับเสียงเชิญชวนให้ลงไปดำน้ำตื้นดูประการังชายฝั่ง ใครใคร่ลง ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าใส่ชูชีพลงไปแหวกว่าย ดูประการังกัน แต่แนวไม่ยาวมากนัก ส่วนที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้ประการังเห็นจะเป็นเจ้าสลิดหิน ที่โผล่ขึ้นมากินขนมปังกันเป็นว่าเล่น

                         ราวครึ่งชั่วโมงที่ปล่อยให้ลงไปเปียกน้ำ เราก็ออกเดินทางกันต่อ เป้าหมายข้างหน้า คือ "เกาะพิทักษ์" หมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ที่เติบใหญ่ขึ้นในด้านต่างๆ และเป็นหมู่บ้านต้นแบบทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านต้นแบบเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่วิถีชีวิตยังคงเดิม

                         ใช้เวลาเกือบชั่วโมง ผ่านทั้งแดดอ่อนๆ และสายฝน ขนาดฉันผล็อยหลับไป 1 ตื่น เรือก็มาถึงเกาะพิทักษ์ ผู้ใหญ่หรั่ง (อำพล ธานีครุฑ) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 เกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด ซึ่งเป็นประธานการท่องเที่ยวเกาะพิทักษ์ และได้รับตำแหน่งเป็นประธานการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพรด้วย มารอเรือพวกเราอยู่ที่สะพานเทียบเรือ บอกว่า นึกว่าจะไม่มากันซะแล้ว เห็นเรือวนไปมา ที่แท้ก็หาทางเข้ามาเทียบเรือไม่ถูก เพราะเรือใหญ่กลัวจะเกยสันทราย ถ้าเข้าผิดด้านนั่นเอง

                        ขึ้นเกาะได้ ก็มุ่งหน้าไปกินข้าวที่บ้านผู้ใหญ่ แต่ระหว่างทางกว่าจะถึงนี่ซิ เหมือนจับปูใส่กระด้ง แวะตรงนั้น จอดตรงนี้ จนไกด์จะเวียนหัวตาย (เดาเอา) แวะดูของที่ระลึกเป็นของกระจุกกระจิกที่ทำจากเปลือกหอย เสื้อผ้า-กระเป๋าเจิมชื่อเกาะพิทักษ์ วางขายให้เห็น และที่พลาดไม่ได้ก็คือ อาหารทะเลแห้ง โดยเฉพาะ "ปลาเค็มหมกทราย" ที่เป็นของขึ้นชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกาะทิพักษ์

                        กรรมวิธีของเขาน่าทึ่งจริงๆ คือนำปลาอินทรีย์สดๆ จากทะเล ผ่ามกรรมวิธีการหมักด้วยเกลือและห่อด้วยพลาสติก ก่อนที่จะนำไปฝังทรายที่ชายหาดเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ทำให้ได้ปลาอินทรีเค็มที่มีรสชาติกลมกล่อม และมีกลิ่นหอม เป็นที่ติดอกติดใจ นอกจากนี้ก็ยังมีปลาหมึกแห้ง ปลาทูเค็มตัวเล็กๆ ที่นำไปทอดกรอบ อร่อยได้ไม่แพ้ปลาเล็กปลาน้อยยี่ห้ออื่น

                       นี่แค่เรียกน้ำย่อยก่อนพาไปชิมอาหารทะเลสดๆ เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านประมง อาชีพและรายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการประมง บวกกับการยึดแนวทางพระราชดำริตามทฤษฎีพอเพียง ทำให้เดือนหนึ่งๆ มีรายได้เข้ากระเป๋าขนาดมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกฉันตาโตทีเดียว

                       ส่วนการรองรับนักท่องเที่ยวก็เหมือนเป็นจ๊อบพิเศษ แต่ละบ้านที่เปิดรับนักท่องเที่ยวก็จะคอยดูแลทั้งที่หลับที่นอน และเรื่องอาหารการกินครบมื้อ สนนราคาขั้นต่ำ 500-550 บาท/คน/คืน  ระบบการเข้าพักก็จะใช้วิธีเวียนกันไป ยกเว้นจะเป็นแขกส่วนตัวหรือติดต่อขอเข้าพักที่บ้านนั้นๆ ก็อนุโลมแต่พอมีลูกค้าใหม่มาก็จะข้ามบ้านหลังนั้นไป เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและลดปัญหาต่างๆ 

                      ถ้าให้ดี มีเวลาสัก 3 วันก็เที่ยวสบาย เดินชมวิถีชุมชน พายคยัก ออกเรือไดหมึก ดำน้ำดูประการังแถวเกาะครามที่อยู่ไม่ไกลกัน แต่ถ้ามาถูกช่วงถูกจังหวะราวๆ เดือน

                      มิถุนายน-กรกฎาคม จะเห็นสันทรายของทะเลที่เชื่อมระหว่างเกาะพิทักษ์ กับฝั่งชุมพรที่อยู่ห่างกันราว 1 กม. จนทางเกาะมีการจัดประเพณีวิ่งแหวกทะเล เป็นที่สนุกสนานของคนบนเกาะและนักท่องเที่ยว นอกจากมาเที่ยวแล้ว ที่นี่ยังเหมาะจะมาเรียนรู้ดูงานความเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้านอีกด้วย

                       "เราพร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เพราะเรามีเสาหลัก 3 เสาที่มั่นคง" ผู้ใหญ่หรั่งบอกกับฉันอย่างทันสถานการณ์  เสาหลักการปกครองที่นี่มีการเลือกตั้ง ระบบเศรษฐกิจซึ่งชาวบ้านปลดหนี้ปลดสินและมีรายได้ และภาคสังคมที่แต่ละครอบครัวอยู่กันอย่างสงบสุข สังคมสงบภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

                      เกาะพิทักษ์...เกาะเล็กๆ แต่อุดมได้ด้วยทรัพยากรทางทะเล ไม่มีทางอดตายแน่ๆ สำหรับคนขยัน และชุมพรคงไม่ใช่แค่ทางผ่านอีกต่อไป เพราะมีอะไรที่มีมากกว่าท้องทะเล จริงๆ

หมายเหตุ : ติดต่อ ผู้ใหญ่หรั่ง เกาะพิทักษ์ 08-1093-1443

 

..................................

(ล่องเลชุมพร นอนเล่นเกาะพิทักษ์ : คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย...เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์)