
ชงหนัง'พระเจ้าช้างเผือก'เป็นมรดกโลกอืด
เสนอยูเนสโกชูหนัง พระเจ้าช้างเผือก เป็นมรดกความทรงจำของโลก สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุ 72 ปี ต้านการปกครองไม่อยู่ในศีลธรรม ข่มเหงประชาชน ผอ.หอภาพยนตร์ฯร้องเสนอเรื่องไปตั้งแต่ปี 52 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยแนวทางการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยเป็นมรดกของชาติว่า จากการที่ทางหอฯ ได้ขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ไทยเป็นมรดกของชาติ ประจำปี 2555 จำนวน 25 เรื่อง อาทิ เรื่องโชคสองชั้น ชีวิตก่อน แห่รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร ทิ้งระเบิดกรุงเทพในสงครามโลกครั้งที่ 2 แม่นาคพระโขนง ถือเป็นโครงการที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการอนุรักษ์คุณค่ามรดกของชาติ โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาคุณค่า เช่น ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และศิลปะ ภาพยนตร์เหล่านั้นมีความโดดเด่นของเนื้อหาที่มีอิทธิพลต่อสังคม ภาพยนตร์บางเรื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และมีชิ้นเดียวที่หาทดแทนกันไม่ได้ หรือมีความเสี่ยงที่จะสูญหาย จึงต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อประกาศออกไปให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของในเรื่องนี้
นายโดม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีภาพยนตร์ไทยจำนวนนับ 10,000 เรื่อง อาทิ ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สารคดี ฯลฯ ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปี (2554-2555) หอภาพยนตร์ได้ขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ของไทยเป็นมรดกของชาติไปแล้วรวม 50 เรื่อง
ที่สำคัญยังได้เสนอภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าต่อประเทศไทยและมีอายุเก่าแก่ 72 ปีต่อคณะกรรมการแห่งชาติของไทยว่าด้วยมรดกความทรงจำของโลก เพื่อที่เสนอชื่อต่อไปยังองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พิจารณาขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นมรดกความทรงจำของโลก ไปตั้งแต่ปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบจากคณะกรรมการแห่งชาติของไทยว่าด้วยมรดกความทรงจำของโลก
สำหรับภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” (King of the White Elephant) เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงขนาดยาว (feature drama) สร้างโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ในนาม ปรีดีโปรดักชั่น เมื่อปี พ.ศ. 2483 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) ผู้สร้างได้แต่งหนังสือนิยายเรื่องเดียวกันนี้เป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์ ในระบบฟิล์ม 35 มม. ขาวดำ บันทึกเสียงในฟิล์ม สำเร็จและนำออกฉายเป็นรอบปฐมทัศน์สู่สาธารณชนครั้งแรก ที่ กรุงเทพฯ สิงค์โปร์ และนิวยอร์ค ในวันเดียวกันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484
สาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่ผู้สร้างต้องการสื่อสารไปยังชาวโลก ให้ตระหนักถึงภัยของการปกครองและผู้ปกครองที่ไม่อยู่ในศีลธรรม ไม่เคารพกฎกติกาของสังคมโลก ซึ่งนำไปสู่การเบียดเบียนข่มเหงราษฎร และการทำสงครามรุกรานเพื่อนบ้านเพื่อแสวงผลประโยชน์ตนด้วยความโลภโมโทสัน ในขณะที่ผู้ปกครองซึ่งอยู่ในศีลธรรม จะดูแลราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข และปกป้องราษฎรจากภัยสงคราม ด้วยการทำสงครามต่อผู้รุกรานเพื่อสันติภาพ นับเป็นผลงานภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสการกระหายสงครามแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนที่กำลังเกิดขึ้นในโลกขณะนั้น และกำลังจะกระจายเป็นมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นผลงานภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่ประกาศอุดมการณ์สันติภาพและสันติสุขแก่โลก
เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศไทยเพียงเรื่องเดียวที่เหลือรอดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของผลงานภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนและมหรสพมวลชนยอดนิยมของโลกในเวลานั้น ที่แสดงให้เห็นการผสานการสื่อสารแสดงแบบดั้งเดิมของไทย กับการแสดงแบบภาพยนตร์ของตะวันตก(ฮอลลีวู้ด)แต่เหนืออื่นใดเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าในการประกาศอุดมการณ์หรืออุดมคติแห่งสันติภาพและสันติสุขอันถาวรของมนุษย์
................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก thaifilm.com)