
ชาวเน็ตรุมสับ!แก้'ทับศัพท์'176คำ
HOT ติด WEB : ชาวเน็ต...รุมสับ แก้ 'ทับศัพท์' 176 คำ : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ
เพิ่งจะหมดยุคฮอตฮิตของ "ภาษาสก๊อย" ที่แสนจะเวียนหัวของวัยรุ่นบางกลุ่มไปหยกๆ ต้องมาเจอโจทย์ใหม่ เมื่อ "ราชบัณทิต" ขอเสนอแก้การเขียน "คำทับศัพท์" ใหม่ 176 คำ ถ้าใครได้เห็น "ศัพท์ใหม่" แวบๆ อาจดูคล้าย "ภาษาสก๊อย" มาตามหลอกหลอนทีเดียว (อิอิ)
"...ซีเมนต์-ซีเม็นต์, แบคทีเรีย-แบ็คทีเรีย, คอร์ด-ขอร์ด, เทคโนโลยี-เท็คโนโลยี่, กะรัต-กะหรัต, แอสไพริน-แอ๊สไพริน, คอนเสิร์ต-ค็อนเสิร์ต, คอมพิวเตอร์-ค็อมพิ้วเต้อร์, คอมมานโด-ค็อมมานโด, คอมมิวนิสต์-ค็อมมิวนิสต์, คูปอง-คูป็อง, เซนติเมตร-เซ็นติเม้ตร, อัลตราไวโอเลต-อัลตร้าไวโอเหล็ต...ฯลฯ"
นี่เป็นเพียงบางส่วนของ "คำทับศัพท์" ที่ ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทย เสนอขอปรับแก้เปลี่ยนแปลงคำศัพท์ที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษ 176 คำ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรือใช้อักษรสูง หรือใช้ "ห" นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้
กระแสดังกล่าวออกมาไม่ทันไร "ชาวเน็ต" ก็ตั้งกระทู้วิจารณ์ขรมถึงความ "ไม่ควร" เพราะจะยิ่งสร้าง "ความสับสน" ในการเขียนภาษาไทยของคนรุ่นใหม่ ขณะที่ภาษาไทยแท้ๆ ยังเขียนกัน ผิดๆ ถูกๆ
อย่างกระทู้ใน "ห้องสมุด" เว็บไซต์พันทิปดอทคอม ตั้งคำถามว่า "คุณเห็นด้วยกับการแก้คำไทยทับศัพท์ 176 คำหรือไม่?" พร้อมเปิดให้ร่วมคลิกโหวต ว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" ซึ่งมีกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ "ไม่เห็นด้วย" !!
คุณ "Gilia" มองว่า ฝรั่งไม่อ่านเน้นๆ พยางค์ท้ายด้วยเสียงสูงขึ้นแบบไทย ภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ จะพูดเสียงไม้เอก ไม้โท "ห" นำ ก็พูดไป แต่เราไม่ใส่ไม้เอก ไม้โทตั้งแต่แรกไม่ใช่เหรอ แล้วตอนนี้มาทำอะไรเนี่ย?
คุณ "Ch_Chang" มองว่า ใครจะเปลี่ยนไปใช้ตาม "ราดบันทิด" ก็ตามสบาย ผมไม่เปลี่ยนจะใช้แบบเดิม ที่เปลี่ยนนี่ดูยังไงๆ ภาษาสก๊อยชัดๆ ตอนผมเรียนภาษาอังกฤษ อาจารย์สอนว่า เวลาอ่านคำว่า Computer แต่ละประเทศสำเนียงการอ่านไม่เหมือนกัน และไม่ใช่อ่านว่า "ค็อมพิ้วเต้อร์" ฝรั่งจะไม่ออกเสียง "เต้อร์" แต่จะออกเสียง "เทอะ" สั้นๆ ผมไม่สนับสนุนครับ งานนี้ เห็นเมื่อก่อนก็รณรงค์การใช้คำให้ถูกในการพิมพ์ในอินเตอร์เนต ว่าที่พิมพ์กันอยู่นั้นผิด แต่พอมาในวันนี้กลับกลายเป็นว่าที่ผ่านมาเขาก็ใช้ถูกกันมาก่อน "ราดบันทิด"
ส่วน คุณ "เตยทะเล" ชี้ชัดๆ ว่า ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ tonal language (ภาษาที่ปรับเสียงตามวรรณยุกต์ เหมือนภาษาไทย เวียดนาม จีน) การมานั่งใส่วรรณยุกต์ให้ทับศัพท์ภาษาเหล่านี้ ผมว่าเมื่อยเปล่าๆ ที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน ไม่มีวรรณยุกต์ ไม่มีตัวควบ ง่าย ๆ และคล่องตัวดีอยู่แล้วครับ ผมว่าพวกท่านๆ ใช้เวลา "ที่น่าจะว่างมาก" ไปรณรงค์ให้เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องดีกว่า
ด้าน เว็บไซต์ www.playdn.com ก็มีการตั้งหัวข้อในกระดานสนทนา "เด็กรุ่นใหม่งานเข้า เล็งแก้ 176 คำทับศัพท์หวังเขียนให้ตรงเสียง" คุณ "windywaltz" ขอวิจารณ์แบบเป็นกลางว่า จะว่าไปการเปลี่ยนนี้ ก็ถือเป็นการเปลี่ยนที่ถูกหลักของลักษณะภาษาอย่างแท้จริง จะสังเกตว่าจะเป็นการกลบข้อบกพร่องในการออกเสียงได้ และสามารถอ้างอิงถึงเหตุ-ผลในการออกเสียงนั้นๆ จึงถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กรุ่นใหม่ และเป็นการสร้างรากฐานภาษาที่ดีในระยะยาว แต่มันเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะให้คนรุ่นเรายอมรับได้ เพราะมันขัดต่อสามัญสำนึกมากๆ ถึงแม้ว่ามันอาจมีการผิดหลักการอยู่บ้าง แต่เราทุกคนก็เข้าใจ และสามารถใช้กันได้อย่างไม่มีปัญหาทางการสื่อสาร จึงรู้สึกว่า "เปลี่ยนไปแล้วได้อะไร?"
คุณ "เทพเพน" จากเว็บไซต์ www.mthai.com ได้แสดงความคิดเห็นแสบๆ คันๆ ในหัวข้อ เห็นด้วยมั้ย? ราชบัณฑิต เสนอแก้ 176 คำทับศัพท์ ว่า ที่จริงควรจะเปลี่ยนคำไปเลย เช่น มอนิเตอร์=จอดู, สนุกเกอร์-ลูกดีดลงรู, เคเอฟซี-ไก่ทอดลุงหงอก, สลัด-รวมมิตรเศษผัก อย่างนี้จะดีกว่า
ขณะที่ คุณ "ดีแล้ว" จากเว็บไซต์ www.kapook.com มองว่า ราชบัณฑิตยสถาน ได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว...หลักการเดิมของท่านดีอยู่เเล้วครับ
ด้านแฟนเพจส่วนตัวของ "ครูลิลลี่" ครูวิชาภาษาไทยสถาบันกวดวิชาชื่อดัง มองว่า การเปลี่ยนคำทับศัพท์ดังกล่าว อาจทำให้เด็กเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการนำรูปและคำบางคำที่จะมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับข้อความที่ว่า "ฝากคิดเพื่อภาษาของพวกเราค่ะ" โดยมีผู้เข้าแสดงความคิดเห็นและร่วมกันแชร์เป็นจำนวนมาก
อาทิ "อย่าเลย เดี๋ยวจะเกิดปัญหาเด็กไทยใช้วรรณยุกต์ผิดอีก" , "อย่าเปลี่ยนเลยครับ ไม่อยากจำใหม่", "เขียนแบบนี้ ดูเหมือนภาษาวิบัติเลย", "เดือดร้อนงานธุรการงานสารบรรณ/จะสิ้นเปลืองกระดาษอีกมาก", และ "เหมือนภาษาสก๊อย" เป็นต้น
ท่ามกลางกระแสที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเปลี่ยน "คำทับศัพท์" ใหม่นั้น ล่าสุด น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ก็ออกมาเบรกประเด็นนี้ไว้แล้ว และยืนยันว่า ยังไม่มีการแก้คำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เนื่องจากเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อยุติ จะมีการสำรวจความคิดเห็นภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ก่อนเสนอผลการรับฟังความเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในวันที่ 12 ธันวาคม 2555 นี้...แล้วมาคอยลุ้นกันอีกที!!
--------------------
(HOT ติด WEB : ชาวเน็ต...รุมสับ แก้ 'ทับศัพท์' 176 คำ : โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ)