
แรด...วิญญาณแห่งป่า
แรด... วิญญาณแห่งป่า : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม
ฝนตกซะหลายวัน หยิบปฏิทินมาดู เหลือบไปเห็นรูปแรดด้านล่าง พร้อมกับข้อความกำกับ 22 ก.ย. วันแรดโลก ...ด้วยบังเอิญเป็นปฏิทินขององค์การสวนสัตว์นี่เอง เลยได้รู้เรื่องวันอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย ซึ่งเปิดดูแต่ละเดือน จะมีทั้งนั้น วันเสือโคร่ง วันงูโลก วันอนุรักษ์ช้างไทย ฯลฯ แล้วก็รวมถึงวันแรดโลก ซึ่งก็เพิ่งผ่านไปได้สัปดาห์เดียว
แรดนั้น สำคัญไฉน ??
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมใดๆ หากแต่เป็นเรื่องของสัตว์ใหญ่ระดับบิ๊กไฟว์ ที่เรียกรวมๆ ว่า "แรด" เจ้าสัตว์หน้าตาดึกดำบรรพ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เข้าไปทุกขณะ จากการคุกคามถิ่นที่อยู่และการล่าของมนุษย์ รวมถึงการตัดขาดเส้นทางที่มันจะโคจรไปพบพวกเดียวกัน ทำให้โอกาสในการสืบพันธุ์ลดน้อยลงไปด้วย
ประเทศไทยเคยมีแรด 2 ชนิด คือ แรดนอเดียว หรือแรดชวา ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าแรด (Lesser one-horned หรือ Javan rhinoceros) และ แรดสองนอ หรือ กระซู่ (Asian two-horned หรือ Sumatran rhinoceros)
กระซู่มีนอสองนอ เรียงกันอยู่ บนสันจมูก นอหน้ายาวประมาณ 25 ซม. นอหลัง ยาวประมาณ 10 ซม. ในตัวเมียนอหลังอาจนูนขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มันไม่ได้ใช้ นอ สำหรับขวิดคู่ต่อสู้ แต่มีไว้สำหรับขวิดจอมปลวก หรือกิ่งไม้ที่ขวางหน้ามากกว่า
เมื่อปี 2526 เคยมีรายงานพบกระซู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ทางทิศเหนือแถบบริเวณลำห้วยดาดหรือลำโดก, บริเวณถ้ำครอบ และบริเวณยอดห้วยทู่ 4-5 ตัว แต่ในปี 2539 กลับพบร่องรอยของมันเหลืออยู่ตัวเดียว
มีรายงานด้วยว่า พบร่องรอยกระซู่ในป่าเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมถึงการสำรวจพบร่องรอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี
เมื่อต้นปี 2531 มีการสำรวจพบร่องรอยกระซู่ ทั้งปลักโคลนเก่า กองมูล และรอยสีตัวกับต้นไม้ แถวบึงน้ำและโป่งน้ำซับขนาดใหญ่ บริเวณลุ่มห้วยแม่น้ำจัน และแม่กลอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี
ปี 2540 คาดว่าคงเหลือกระซู่ อยู่ประมาณ 3 ตัว บริเวณปลักบนภูเขาสูง ในป่าฮาลา-บาลา แต่ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของเจ้าของรอย และมีแนวโน้มว่าพวกมันอาจจะหลบหนีเข้าป่าลึกมาเลเซีย และท้ายที่สุด มันก็เป็นเพียงวิญญาณแห่งป่าฝนของไทย
พฤติกรรมการหากินของมัน ที่มักใช้เส้นทางซ้ำๆ หนองน้ำและปลักเดิมๆ ทั้งยังชอบถ่ายมูลไว้ในที่เดียวกัน ทำให้นักล่าหัวแรดแกะรอยได้ง่าย ทำให้มันถูกดักล่าจนใกล้สูญพันธุ์
ทั้งแรด และกระซู่ต่างเป็นเหยื่อชิ้นโบแดงของนายพราน เพราะมีค่าหัวแพงลิบเนื่องจากเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดยาจีน โดยเฉพาะนอแรดที่มีการสาธยายสรรพคุณว่า เป็นยาแก้ปวด ส่วนเนื้อ กระดูก เลือด และฟันของเจ้าสัตว์ชนิดนี้ ก็เชื่อว่า เป็นยาอายุวัฒนะ และสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด
ว่ากันว่าเมื่อปี 2513 นอแรดขายกันที่ราคากรัมละ 50 เซนต์ 6 ปีให้หลังราคาขยับขึ้นไปเป็นกรัมละ 2 ดอลลาร์ พอในปี 2540 นอแรด มีราคาพุ่งไปถึงกรัมละ 800 ดอลลาร์ พูดง่ายๆ คือในช่วง 30 ปี ราคานอแรดในตลาดมืดของไทยพุ่งพรวดพราดถึง 1,000 เท่า และถึงตอนนี้ราคานอแรดในตลาดตะวันออกไกลสูงลิบถึงกรัมละ 6,000 ดอลลาร์ เข้าไปแล้ว
การจัดการปัญหาแรด ไม่ใช่ง่าย แม้ไซเตสจะบรรจุชื่อแรดไว้ในบัญชีหมายเลข 1 มาตั้งแต่ปี 2520 ห้ามการค้าขายระหว่างประเทศ ขณะที่หลายประเทศก็มีกฎหมายคุ้มครอง ของไทยเองก็อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวน แต่ดูเหมือนไม่ช่วยกอบกู้สถานการณ์แรดได้มากนัก เพราะนักล่ามักฉวยโอกาส บวกกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และเงินล่อใจมหาศาล จนทำให้เชื่อว่ามันอาจจะหายไปจากป่าเมืองไทยและผืนป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วจริงๆ
และแรดที่เราเห็นเพียงวันนี้ ก็มีอยู่แต่ในสวนสัตว์ หรือการเอ่ยอ้างของคนในอดีตเท่านั้นเอง
...........................................
(แรด... วิญญาณแห่งป่า : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม )