
ใช้กังหันพลังน้ำผลิตน้ำมันงา
ใช้กังหันพลังน้ำผลิตน้ำมันงา 'ธัญทิพย์' ภูมิปัญญาไทยใหญ่ผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว : โดย...ดลมนัส กาเจ
ท่ามกลางผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องทุนแรงในสถานประกอบการ แต่สมาชิกกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กลับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยใหญ่ที่ใช้กันมากว่า 100 ปี ด้วยการสร้างกังหันพลังน้ำเป็นเครื่องทุนแรงใช้สำหรับผลิตน้ำมันงาสกัดเย็น ซึ่งนอกจากจะทำให้ทุนแรงและประหยัดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสามารถลดภาวะโลกร้อน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เสาวลักษณ์ มุ่งเจริญ ประธานกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย บอกว่า วิถีชีวิตของชาวไทยใหญ่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพด้วยการปลูกงาขาย ทำให้ชาวไทยใหญ่บริโภคน้ำมันงาสำหรับปรุงอาหารมาตลอด แต่ตอนหลังเมล็ดงาราคาถูกมาก เหลือเพียง กก.ละ 55 บาท ทำให้เกษตรกรที่ปลูกงามีรายไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะการปลูกงานั้น พื้นที่ 1 ไร่จะได้ผลผลิตราว 5-7 ถัง หรือ 60-75 กก. ในที่สุดชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปเมล็ดงามาเป็นน้ำมัน โดยเน้นหลักธรรมชาติ ที่ปลอดจากสารเคมีทุกชนิด ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยใหญ่ที่เคยใช้มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว คือสร้างกังหันพลังน้ำเป็นเครื่องทุนแรงใช้สำหรับผลิตน้ำมันงาสกัดเย็น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตงา
หลังจากรวมตัวแล้วมีการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ทำให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่ง และได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกจำนวนหนึ่ง เราจึงขยายการแปรรูปเมล็ดงาทำเป็นน้ำมันงาเพื่อบริโภค มีตั้งแต่ขนาดบรรจุขวด 90 ซีซี ขายส่งขวดละ 65 บาท ขนาด 200 ซีซี ขวดละ 120 บาท และขนาด 500 ซีซี นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปน้ำมันงาทำเป็นผลิตภัณฑ์สปาด้วย ทำให้วันนี้กลุ่มของเรามีเงินหมุนเวียนปีละราว 6 แสนบาท
สำหรับผลิตภัณฑ์สปานั้น เสาวลักษณ์ บอกว่า มีจำพวกน้ำมันนวดสมุนไพร ทาผิว ส่วนผสมในเครื่องใช้พวกสบู่ แชมพู และครีมนวด นอกจากนี้ยังแปรรูปเมล็ดงาทำเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกขนม อาทิ ขนมงา ทั้งงาขาว ภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา "ธัญทิพย์" ส่งขายทั้งตลาดในพื้นที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายสินค้าโอท็อป ร้านของฝาก ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สปา โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดน้ำมันงาจะเป็นตัวที่สร้างรายได้มากที่สุดถึง 70% ของรายได้ทั้งหมด เฉลี่ยเดือนละ 5-6 หมื่นบาท
ด้าน เอกพงษ์ มั่นคง รองประธานกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย บอกว่า การทำงานของกังหันพลังน้ำจะใช้น้ำจากฝายกันบนดอยปางหมู ปล่อยไหลตามท่อลงไปกระทบใบกังหัน โดยกังหันที่ว่าเป็นรูปวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 4 เมตร จะมีใบกังหันเป็นชั้นๆ เพื่อรองรับน้ำตกลงมากระแทกชั้นแล้วชั้นเล่า ตรงกลางของวงล้อกังหันพลังน้ำจะมีแกนทำด้วยไม้ประดู่ขนาดใหญ่ ด้านหนึ่งจะเชื่อมติดกับเฟืองที่ใช้สำหรับให้ครกที่ตำเมล็ดงาหมุนรอบตัวเองเพื่อการตำเมล็ดงาได้ทั่วถึง ตรงกลางครกมีไม้หรือสากตำข้าว พอเมล็ดงาแตกละเอียดน้ำมันจะออกมา จากนั้นนำใส่ถังเพื่อให้กากตกตะกอนใช้เวลาราว 1 เดือน เพื่อให้กากตกตะกอนจึงตักน้ำมันออกและกรองก่อนบรรจุดขวดต่อไป โดยเมล็ดงาน 4 กก.จะได้น้ำมันงา 1 กก.
การใช้กังหันพลังน้ำผลิตน้ำมันงาของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสบสอย แม้จะเป็นการทวนกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโลยีก็ตาม แต่ไม่ใช่เรื่องความล้าสมัย หากเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรแก่การส่งเสริมมากกว่า เพราะผลที่ได้มาคือประหยัดพลังงาน และไม่ก่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย
--------------------
(ใช้กังหันพลังน้ำผลิตน้ำมันงา 'ธัญทิพย์' ภูมิปัญญาไทยใหญ่ผลิตภัณฑ์โอท็อป 5 ดาว : โดย...ดลมนัส กาเจ)