ไลฟ์สไตล์

"โรคแพ้อากาศ" ในเด็ก

"โรคแพ้อากาศ" ในเด็ก

25 ก.ย. 2555

ปัจจุบันจะพบว่าเด็กก่อนวัยเรียน ช่วงอายุ 2-6 ปี จะเป็นหวัดบ่อยมากจนไม่แน่ใจว่าลูกเป็นภูมิแพ้หรือไม่ โดยเฉพาะเด็กที่เข้าโรงเรียนอนุบาล การเป็นหวัดปีละ 7-8 ครั้งถือว่าปกติ แต่หากเป็นบ่อยกว่านั้นอาจถึง 1-2 ครั้ง/เดือน ก็ถือว่าเป็นหวัดเรื้อรังซึ่งอาจเกิดจากโ

 โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติ และมีแนวโน้มจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่า 20% ของผู้ใหญ่และ 40% ของเด็กจะเป็นโรคนี้ และพบบ่อยขึ้นในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่มักจะเกิดเวลามีอากาศเปลี่ยน จึงเรียกว่า "โรคแพ้อากาศ"

อาการ
 คันในจมูก จามบ่อยๆ น้ำมูกใส คัดจมูก แน่นจมูก และอาการอื่นๆ เช่น เจ็บในจมูก หูอื้อ ปวดศีรษะ ไม่ได้กลิ่น มีน้ำมูกไหลลงคอ มีเสมหะติดคอ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ นอนกรน และอาจมีผลกระทบต่อการเรียนได้ โดยในบางคนอาจมีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หอบหืด ลมพิษ ผื่นผิวหนังตามข้อพับ คอ ใบหน้า
สาเหตุ
 เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้มีการหลั่งสารฮิสตามีนมากเกินไปในเลือด จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว เชื่อว่าเป็นกรรมพันธุ์ ผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค
 1.สารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม ที่พบบ่อยคือ ไรฝุ่น ฝุ่นในบ้าน นุ่น ขนสัตว์ แมลง และเชื้อราในอากาศ
 2.สารก่อภูมิแพ้อื่นๆ ที่อาจพบ เช่น ถุงมือยาง อาหารบางชนิด และในปัจจุบันพบปัญหาแพ้นมวัวบ่อยมากขึ้น
ปัจจัยเสริมที่อาจไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้แต่ทำให้เกิดอาการขึ้นได้ 
 -สารระคายเคืองต่อเยื่อบุโดยตรง เช่น ควันไฟ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุนต่างๆ อากาศร้อนจัด อากาศเย็นจัด การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ฝนตก แอร์เป่า พัดลมเป่า การอดนอน ทำงานหนัก ขาดการออกกำลังกาย อารมณ์ตึงเครียด
 -สารติดเชื้อ เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ฟันผุ ไข้หวัด ก็ทำให้สุขภาพอ่อนแอลง ทำให้อาการภูมิแพ้เกิดมากขึ้นได้

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นภูมิแพ้
 1.พาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบจริงหรือไม่ เพราะมีโรคอีกหลายโรคซึ่งมีอาการคล้ายกัน เช่น ไข้หวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เป็นต้น
 เมื่อพาลูกน้อยไปพบแพทย์ นอกจากการซักประวัติและตรวจหู คอ จมูกแล้ว การตรวจที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยยืนยันว่าเป็นโรคภูมิแพ้จริงหรือไม่ และแพ้อะไรบ้าง คือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และตรวจเลือดแต่การตรวจเลือดมีข้อจำกัด คือ ค่าใช้จ่ายสูงและไม่ทราบผลในทันที ปัจจุบันยังคงอาศัยการทดสอบทางผิวหนังเป็นหลัก ซึ่งการทดสอบนี้จะไม่เหมือนกับการฉีดยาทั่วไป และเจ็บน้อยกว่ากันมาก นอกจากนั้นยังเห็นผลได้ไม่เกิน 20 นาที คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ด้วยตาตัวเองว่าลูกน้อยแพ้อะไรบ้างและแพ้มากน้อยแค่ไหน
 2.พยายามกำจัดและหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ คุณพ่อคุณแม่ที่สามารถกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวลูกน้อยให้เหลือน้อยที่สุดอาจไม่มีอาการโดยไม่ต้องรักษาเลยก็ได้ พยายามควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับตัวลูก เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศที่สะอาดและนอนในห้องที่ไม่มีฝุ่น
 3.คุณพ่อคุณแม่พยายามหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่กล่าวไว้แล้วเนื่องจากเยื่อบุจมูกของลูกน้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะไวต่อสารระคายเคืองเหล่านี้มากกว่าคนธรรมดา
 4.อย่าให้ลูกนอนดึก และให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท และควรให้ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำเพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ซึ่งจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้น
 5.พยายามดูแลลูกน้อยอย่าให้มีความเครียด เพราะถ้าจิตใจไม่สบายอาการของโรคภูมิแพ้จะเป็นมากขึ้นด้วย ควรหาทางผ่อนคลายด้วยการพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศตามความชอบเป็นครั้งคราว
 6.ให้รักษาโรคติดเชื้อถ้าพบร่วมด้วย เพราะการอักเสบเรื้อรังไม่ว่าชนิดใดจะทำให้สุขภาพอ่อนแอลง ควรพยายามป้องกันการติดเชื้อให้น้อยที่สุด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ
 7.ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะยาบางชนิดถ้าใช้ต่อเนื่องกันอาจเป็นอันตรายได้ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา รวมถึงทำความเข้าใจว่ายาแต่ละตัว ตัวใดต้องใช้ต่อเนื่อง ตัวใดใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ
พญ.จีรารัตน์ บุญสร้างสุข
กุมารแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพเด็ก
โรงพยาบาลพญาไท 3 โทร.0-2467-1111