ไลฟ์สไตล์

'จันดี'โรงอัดก้อนยางมาตรฐานจีเอ็มพี

'จันดี'โรงอัดก้อนยางมาตรฐานจีเอ็มพี

29 ส.ค. 2555

ส.วิจัยยางยก 'โรงอัดก้อนยาง' จันดี สู่มาตรฐานจีเอ็มพีแห่งแรก : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          แม้ขณะนี้สถาบันเกษตรกรมีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ในการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนมาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อการส่งออก เพียงแต่โรงผลิตยางอัดก้อนที่ทางรัฐบาลสร้างไว้ในปี 2547 จำนวน 146 แห่งทั่วประเทศนั้นกลับไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากยังขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี  

 

          ในขณะที่สหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 310 หมู่ 3 ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้การนำของ "อุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน" สหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด และประธานเครือข่ายเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ด้านยางพาราครบวงจรแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 146 โรงกลับมีความโชคดีหลังได้รับงบพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด สมัยผู้ว่าฯ ภาณุ อุทัยรัตน์ จำนวน 7 ล้านบาท มาจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การอัดก้อนยาง จนสามารถดำเนินการผลิตได้ในที่สุด  

          ปัจจุบันโรงอัดก้อนยางสหกรณ์จันดี มีพื้นที่การจัดเก็บยางอัดก้อนขนาด 500 ตัน โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนให้เมื่อปี 2553 จากนั้นได้ทำการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 3,240 ก้อน คิดเป็นปริมาณ 360 ตัน ส่งผ่านไปยังกลุ่มเกษตรกรสวนธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งรับดูแลด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายต่อไป

          "ที่จริงความพร้อมของเกษตรกร เขาพร้อมมานานแล้ว แต่ตอนนี้โรงผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนทั้ง 146 โรงที่รัฐบาลสร้างขึ้นมานั้นยังใช้การไม่ได้ เพราะขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ส่วนของผมที่เดินเครื่องได้ขณะนี้เพราะได้งบพัฒนาจังหวัด (นครศรีธรรมราช) จำนวน 7 ล้านบาทมาดำเนินการ และเพิ่งได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี จากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ถือเป็นโรงอัดก้อนยางโรงแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี" อุดมศักดิ์ ศุทธิเวทิน ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด เผยข้อมูล 

          อุดมศักดิ์ ระบุอีกว่า ปัจจุบันโรงอัดก้อนยางแห่งนี้ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ตันต่อวัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเดือนละไม่ต่ำกว่า  1,000 ตัน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ขณะนี้ยังมีความต้องการยางแผ่นรมควันอัดก้อนสูงมาก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งจัดสรรงบประมาณปรับปรุงโรงอัดก้อนยางที่เหลืออีก 145 โรงให้สามารถเดินเครื่องการผลิตตามมาตรฐานจีเอ็มพีโดยเร็ว เพื่อจะได้ทันตลาดกลางระดับภูมิภาคที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้  

          "ราคายางรมควันอัดก้อนขณะนี้อยู่ที่ 106 บาทต่อกิโลกรัม ยาง 1 ก้อนจะมีน้ำหนัก 111.11 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักตามมาตรฐานสากลคือเป็นสเปกที่ตายตัว ต้องมีขนาดและน้ำหนักเท่านี้ สะดวกในด้านโลจิสติกส์ การขนส่งเคลื่อนย้าย ที่สำคัญไม่มีคู่แข่งทางตลาด เพราะไทยเป็นประเทศเดียวที่ผลิตยางอัดก้อน ส่วนอินโดฯ จะเน้นยางแท่ง และมาเลย์เน้นน้ำยางข้นส่งออก ผมเชื่อว่าถ้าทุกโรงสามารถผลิตยางรมควันอัดก้อนได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี สถาบันเกษตรกรทั้ง 675 แห่งทั่วประเทศก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องราคาและการตลาดแน่นอน"    

          สำหรับสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี เดิมเป็นกลุ่มธรรมชาติชื่อ "กลุ่มสวนยางจันดี"  ก่อตั้งเมื่อปี 2531 มีผู้ก่อตั้ง 15 คน และสมาชิกอีก 76 คน โดยมี ประสงค์ วิริยะตั้งสกุล เป็นประธานกรรมการคนแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกและเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่หมู่ 1, 3 และ 4 ต.จันดี ต.ไสหร้า ต.สวนขัน และ ต.หลักช้าง เฉลี่ยวันละ 8,000-10,000 กิโลกรัม เพื่อส่งขายให้แก่องค์การสวนยางนาบอน และบริษัทรับซื้อน้ำยางสด ก่อนจะได้รับการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 ปัจจุบันมีสมาชิก 165 คน มีทุนเรือนหุ้นและทุนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 2,405,147.77 บาท

 

 

--------------------

(ส.วิจัยยางยก 'โรงอัดก้อนยาง' จันดี สู่มาตรฐานจีเอ็มพีแห่งแรก : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)