
สารสกัดจากเปลือกมังคุดใช้กันเชื้อโรค
สาร 'แซนโทน' สกัดจากเปลือกมังคุด ผสม 'หน้ากากอนามัย' ใช้กันเชื้อโรค : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ
ท่ามกลางวิกฤติปัญหาฝุ่นละลองที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนำมาซึ่งปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อย่างเช่น วัณโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียติดต่อได้โดยการหายใจเอาละอองเสมหะขนาดเล็กที่มีเชื้อโรคลอยอยู่ในอากาศที่มาจากการไอหรือจาม ตลอดจนฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัยผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้ทำการศึกษาหน้ากากที่สกัดจากสารสำคัญในเปลือกมังคุดจนพัฒนาไปสู่กระบวนการขึ้นรูปเป็นหน้ากากอนามัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ มศว สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
หลังพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติในการกรองเชื้อโรคที่ดี มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และเชื้อวัณโรคดื้อยาสูงถึงร้อยละ 99.99 และสามารถนำมาขยายผลเป็นผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรมได้ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่หน้ากากอนามัยที่มีคุณสมบัติพิเศษที่เหนือกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป ภายใต้ชื่อเจิร์มการ์ด (Germ-Guard)
พงศ์พล เอกบุตร นักศึกษาปริญญาเอก จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมวิจัยร่วมกับ ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัยผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด ย้อนที่มาของผลงาน หลังได้ค้นพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาบางตัวได้ เนื่องจากในเปลือกมังคุดจะมีสารประกอบ “แซนโทน” ซึ่งมีฤทธิ์ทางตัวยาในการฆ่าเชื้อวัณโรค ต้านการอักเสบของแผล การรักษาเซลล์มะเร็ง จากคุณประโยชน์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการวิจัย จึงได้จุดประกายความคิดในการผสมใช้กับหน้ากากอนามัย
"ผลจากการทดสอบเมื่อหยดเชื้อวัณโรค 1 หมื่นเซลล์ต่อสารละลาย 1 มิลลิลิตร ลงบนหน้ากากอนามัยที่มีสารสกัดจากเปลือกมังคุด พบว่าเชื้อครึ่งหนึ่งตายทันที แต่ตามมาตรฐานต้องทดสอบนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าเชื้อตายทั้งหมด และเมื่อเทียบกับการใช้ซิลเวอร์นาโน สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีความปลอดภัยมากกว่า แต่ข้อเสียของหน้ากากผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุดคือมีกลิ่นมังคุดอ่อนๆ"
นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า สำหรับขั้นตอนการวิจัย เริ่มแรกนำส่วนเปลือกมาสกัดสารด้วยวิธีใช้ตัวทำลายพิเศษ ซึ่งสามารถดึงสารสำคัญได้มากกว่าปกติ โดยเปลือก 1 กก.หลังใช้เวลาสกัด 2 วัน จะได้สารประกอบแซนโทนประมาณ 40 กรัม จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มาใส่ในวัสดุปิดแผล แล้วทดสอบกลไกในการรักษาแผลเบิร์น (Burns) จากไฟไหม้ในสัตว์ทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น
จากนั้นจึงวิจัยต่อยอดมาสู่การทำเส้นใยนาโนไฟเบอร์ (การกรอง) ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กมากๆ มีพื้นที่สัมผัสสูงมากแล้วพัฒนามาเป็นแผ่นกรองทั่วไป และหน้ากากอนามัยเจิร์มการ์ด (Germ-Guard) ที่นอกจากความสามารถในการกรองเชื้อโรค โดยห้องปฏิบัติการ NELSON LAB ในสหรัฐอเมริการับรองว่าสามารถกรองเชื้อโรคได้ถึง 97.8 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรอีกด้วย
สนใจผลิตภัณฑ์เยี่ยมชมได้ที่งาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555” (Thailand Research Expo 2012) ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2555 หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-2579-9775 ในวันและเวลาราชการ
--------------------
(สาร 'แซนโทน' สกัดจากเปลือกมังคุด ผสม 'หน้ากากอนามัย' ใช้กันเชื้อโรค : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)