ไลฟ์สไตล์

นกเด้าลมดง

นกเด้าลมดง

26 ส.ค. 2555

นกเด้าลมดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

              เป็นที่รู้กันดีว่าช่วงเวลาของปีที่จะสามารถพบจำนวนชนิดนกได้มากที่สุดในประเทศไทยคือช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ เดือนสิงหาคมเปรียบเสมือนช่วงอุ่นเครื่องของฤดูกาลที่นกอพยพหลายชนิดทยอยบินลงมาให้พบเห็นได้ จริงๆ แล้ว นกอพยพจากตอนเหนือชุดแรกนั้นมักจะถูกพบตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน เริ่มจากนกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) และนกเด้าลมหลังเทา (Grey Wagtail) นกกลุ่มที่เรียกกันว่า “นกบก” หรือ “landbirds” ชนิดถัดไปที่จะเริ่มพบได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม คือนกเด้าลมดง (Forest Wagtail)

              ในปีนี้ รายงานแรกของนกเด้าลมดงมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม โดยสุรเชษฐ์ เรืองมาก บนกระดานข่าวของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) นกเด้าลมดงที่พบในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นนกอพยพผ่านและอพยพตอนกลางคืนเป็นหลัก ใน “ช่วงขาลง” นกชนิดนี้ยังคงอพยพผ่านเมืองไทยจนถึงราวๆ ต้นเดือนตุลาคม ในขณะนี้นกเด้าลมดงจำนวนมากคงปรากฏตัวในหลายที่ทั่วประเทศไทยแล้ว

             นกเด้าลมดงมีลักษณะเด่นคือแถบสีดำสองแถบคาดบริเวณข้างอก โดยแถบบนมีความหนาเป็นสองเท่าของแถบล่าง ตรงกลางอกมีลายพาดแนวยาวสีดำเชื่อมระหว่างทั้งสองแถบ แถบล่างมักไม่เชื่อมต่อกันที่กลางอกและอาจไม่เชื่อมติดกับแถบที่พาดลงมา นอกจากนี้ยังมีแถบสีขาวสลับดำที่ปีก ลำตัวด้านบนสีเขียวมะกอก ส่วนด้านล่างสีขาว มีแถบคิ้วสีขาวชัดเจน นกตัวผู้โดยเฉลี่ยมีหางยาวกว่านกตัวเมีย มีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ มันจะโยกก้นไปทางด้านข้างอย่างเนิบช้า จริงๆ แล้วการส่ายหางแบบซ้าย-ขวาเช่นนี้ต่างหากที่คำว่า tail wagging มักใช้อ้างถึง ไม่ใช่การส่ายหางขึ้น-ลง (ที่มักใช้คำว่า tail bobbing) แบบที่พบในนกเด้าดินและนกเด้าลมชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยามตกใจมันก็จะบินขึ้นต้นไม้เสมอ มักพบหากินในที่ร่มครึ้มตามชายป่าหรือสวนสาธารณะเช่นเดียวกับนกเด้าดินสวน (Olive-backed Pipit) ไม่หากินในที่เปิดโล่งมากๆ เหมือนนกเด้าดิน-นกเด้าลมอื่นๆ

            ตามปกติเราจะพบนกเด้าลมดงเดินหากินแมลงตามพื้นที่มีใบไม้หล่นปกคลุม หลังสีเขียวตุ่นๆ และลวดลายตามตัวช่วยในการพรางตัวได้เป็นอย่างดี บางครั้งเราอาจพบนกเด้าลมดงเกาะนอนเป็นฝูงใหญ่รวมกับนกเด้าลมเหลือง (Eastern Yellow Wagtail) ตามกอพืชน้ำ พุ่มไม้ และป่าชายเลน เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้บ่อยทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงต้นและปลายฤดูกาลอพยพ

...................................
(นกเด้าลมดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว )