
60 ปีจดหมายเหตุแห่งชาติ
60 ปีจดหมายเหตุแห่งชาติ : คอลัมน์หัวใจไทย
18 สิงหาคม วันสถาปนาหอจดหมายเหตุแห่งชาติครบ 60 ปี หน่วยงานเล็กๆ ที่ภารกิจยิ่งใหญ่ รับผิดชอบการรวบรวมเก็บรักษาและให้บริการเอกสารจดหมายเหตุที่รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงเอกสารของบุคคลที่มีผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ สุรีรัตน์ วงศ์เสงี่ยม รองอธิบดีกรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เล่าว่า งานจดหมายเหตุของไทยเป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้น (Chronicle) เป็นธรรมเนียมในราชสำนักที่มีความเป็นมาสืบย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย
ส่วนการเก็บรักษาเอกสารราชการไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ (Archives) อย่างสากล ปรากฏเป็นครั้งแรกในพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2438 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บหนังสือประเภทศุภอักษร (สาส์นของเจ้าประเทศราช) ไว้เป็นจดหมายเหตุ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงห่วงใยว่าหนังสือราชการที่เป็นเอกสารข้อมูลทางประวัติศาสตร์อาจจะสูญหายไป หากไม่ได้รวบรวมเก็บรักษาให้ได้ จึงมีพระดำริที่จะจัดตั้งจดหมายเหตุและหอรูปขึ้น เพื่อเก็บรักษาเอกสารที่มีอายุเกิน 25 ปี และรูปถ่ายไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ในพุทธศักราช 2459 จึงได้มีการจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุขึ้นในหอพระสมุดวชิรญาณเพื่อเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุ นับเป็นรากฐานงานจดหมายเหตุแห่งชาติในส่วนของงานการเก็บรักษาเอกสารที่สิ้นกระแสการใช้งานของส่วนราชการต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติในฐานะสมาชิกสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศประจำภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (SARBICA) มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมทั้งสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในอนาคตมีแผนงานดังนี้ 1.การพัฒนาบุคลากรโดยประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิก SARBICA ฝึกอบรมวิชาชีพจดหมายเหตุตามมาตรฐานสากล แลกเปลี่ยนนักจดหมายเหตุให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักจดหมายเหตุในประเทศสมาชิก 2.การพัฒนางานวิชาชีพจดหมายเหตุ ให้ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพจดหมายเหตุที่ทันสมัย 3.การบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเตรียมวางระบบการบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่หน่วยงานราชการ โดยประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิก SARBICA ที่มีระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์
4.การเตรียมความพร้อมเมื่อ พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้ พ.ร.บ.จดหมายเหตุแห่งชาติมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในการส่งมอบเอกสารราชการให้แก่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ให้ความรู้ในการวางระบบการจัดเก็บเอกสารในหน่วยงานราชการ 5.การส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศสมาชิก SARBICA และประชาคมอาเซียน ได้เข้าถึงเอกสารจดหมายเหตุ เพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างความรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศสมาชิก
.......................................
(60 ปีจดหมายเหตุแห่งชาติ : คอลัมน์หัวใจไทย)