
สกัด'ไบโอดีเซล'จาก'เมล็ดหยีทะเล'
ไบโอดีเซลสกัดจาก 'เมล็ดหยีทะเล' ทางเลือกเกษตรกรยุคน้ำมันแพง : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ
แม้ว่าสบู่ดำ จัดเป็นพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญนำมาผลิตไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ จำพวกเครื่องจักรกลทางการเกษตรชนิดต่างๆ อันนำมาสู่การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร แต่ทว่าปริมาณการผลิตก็ยังไม่เพียงต่อความต้องการที่นับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีพืชพลังงานและไม้โตเร็ว สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ทำการวิจัยหาพืชพลังงานเพิ่มเติมเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ในที่สุดก็พบว่าเมล็ดหยีทะเล นำมาสกัดเป็นไบโอดีเซล มีคุณสมบัติใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ดีไม่ต่างจากสบู่ดำ
"ทาง วช.ให้ทุนสนับสนุนจำนวน 1.8 ล้านบาท เพื่อศึกษาวิจัยศักยภาพของเมล็ดหยีทะเลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มจากศึกษาความเป็นไปได้ สภาพพื้นที่ปลูกและการรวบรวมพันธุ์ ขณะนี้ได้สิ้นสุดโครงการแล้ว ผลการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้สูงและกำลังจะขอทุนเพิ่มเพื่อจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์"
ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ หัวหน้าทีมนักวิจัย สังกัดหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีพืชพลังงานและไม้โตเร็ว สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวถึงที่มาโครงการวิจัยสกัดเมล็ดหยีทะเลเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตจากวิกฤติปัญหาราคาน้ำมัน
แม้หยีทะเลจะเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทยที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ก็ไม่มีใครนำใช้ประโยชน์มากนัก ปัจจุบันจะเหลืออยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เท่านั้น เพราะพื้นที่เดิมจะถูกโค่นทิ้งนำมาใช้เป็นฟืน ในขณะที่หลายประเทศอย่างเช่น อินเดียและออสเตรเลีย ได้มีการพัฒนาหยีทะเลมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้ประโยชน์มานานแล้ว ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติดีกว่าน้ำมันด้วยซ้ำ
หัวหน้าทีมวิจัยเผยถึงจุดเด่นของหยีทะเลว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้งมากๆ และพื้นที่ชายทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะในพื้นที่ดินเค็มทางภาคอีสาน หลังนำไปทดลองปลูกปรากฏว่าเติบโตได้ดีมาก น่าจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกหยีทะเล อีกทั้งยังเป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตยาวนาน 20-30 ปี และเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-5 ปี
"ของบ้านเรามีการปลูกกันเยอะหลังเกิดสึนามิ กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ก็ผลิตต้นกล้าปลูกตามชายฝั่ง เพราะหยีทะเลมีระบบรากลึก ตอนนี้เราเริ่มเอามาทดลองปลูกในพื้นที่ดินเค็มทางภาคอีสาน ก็ปรากฏว่าเจริญเติบโตได้ดีไม่ต่างจากชายฝั่งทะเล เราก็มองว่าประเทศไทยมีพื้นที่เสื่อมโทรมอีกเยอะแยะ และยังมีพื้นที่ดินเค็มอีกมากที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ หยีทะเลก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ตรงนี้"
ส่วนกระบวนการผลิตนั้น ดร.มะลิวัลย์ อธิบายว่า หลังนำเมล็ดหยีทะเลแก่สุกมาแกะเอาแต่เมล็ดในแล้วเข้าเครื่องหีบ โดยวิธีสคูเพลส ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องผลิตถ่านอัดแท่ง หลังได้น้ำมันออกมาแล้วก็นำมากรองอากาศ จากนั้นก็นำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกลทางการเกษตรหรือเครื่องเรือประมงพื้นบ้าน และขณะนี้กำลังพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้มีคุณสมบัติใช้กับรถยนต์ได้
น้ำมันไบโอดีเซลสกัดจากเมล็ดหยีทะเล นับเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรไทยในการลดต้นทุนด้านพลังงาน ท่ามกลางการเกิดวิกฤติปัญหาราคาน้ำมันแพง สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจกระบวนการผลิตและการนำมาใช้ประโยชน์สามารถมาเยี่ยมชมได้งาน "การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติปี 2555" (Thailand Research Expo 2012) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานในระบบเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2555 นี้
--------------------
(ไบโอดีเซลสกัดจาก 'เมล็ดหยีทะเล' ทางเลือกเกษตรกรยุคน้ำมันแพง : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)