
ชวนสัมผัส 'ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก'
สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ชวนสัมผัส 'ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก'
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดโครงการบริการวิชาการเรื่อง "ความเปลี่ยนแปลงและเรื่องราวในตลาดเก่าเหล่าตั๊กลัก ราชบุรี" เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมเดินทางไปยังตลาดน้ำปากคลองลัดพลี อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เยี่ยมชมวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง อิ่มอารมณ์กับเส้นทางคลองสายประวัติศาสตร์ สัมผัสตำนานตลาดน้ำเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ตลาดน้ำ "เหล่าตั๊กลัก"เป็นตลาดชุมชนชาวจีน ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวก ในปี พ.ศ.2409-2411 เพื่อเชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง ให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานชื่อว่า คลองดำเนินสะดวก เป็นคลองขุดด้วยแรงงานคนที่ตรงและยาวที่สุดในประเทศ "เหล่าตั๊กลัก" หรือตลาดเก่า ตั้งอยู่บริเวณปากคลองลัดพลี แต่คนจำนวนมากเมื่อนึกถึงตลาดน้ำดำเนินสะดวกกลับนึกถึงตลาดน้ำแห่งใหม่ในคลองต้นเข็ม ซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางคมนาคมไปเป็นทางบก และการตอบสนองความสะดวกของนักท่องเที่ยว
สุดารา สุจฉายา นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์คลองดำเนินสะดวก กล่าวว่า ตลาดเหล่าตั๊กลัก หรือตลาดน้ำปากคลองลัดพลี เป็นตลาดธรรมชาติซึ่งเป็นจุดพบปะของพ่อค้าแม่ค้า และชาวบ้านริมคลองมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตร เพราะดำเนินสะดวกเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แต่เดิม เมื่อมีการขุดคลองดำเนินสะดวกก็เป็นการเปิดพื้นที่สองฝั่งคลอง โดยคนจีนจำนวนมากได้เข้ามาตั้งรกรากทำสวนผัก สวนผลไม้ เช่น สวนมะม่วง สวนมะพร้าว ครั้งหนึ่งที่อุตสาหกรรมน้ำตาลเฟื่องฟู ดำเนินสะดวกก็เคยเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่สำคัญที่สุด เพราะมีมะพร้าวจำนวนมากและคุณภาพดี
สมศักดิ์ อภิวันทนกุล กรรมการวิสาหกิจชุมชนฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวก ปากคลองลัดพลี กล่าวถึงความพยายามฟื้นฟูตลาดน้ำดั้งเดิมแห่งนี้ ว่า ชาวบ้านได้รวมตัวกันก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ตลาดเหล่าตั๊กลักกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยขอความร่วมมือให้ร้านค้าริมคลองกลับมาค้าขาย หรือเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ชักชวนเรือพ่อค้าแม่ค้าชาวสวนต่างๆ ให้มารวมตัวกันในพื้นที่ตลาดเก่าแห่งนี้ อีกทางหนึ่งก็ทำการประชาสัมพันธ์ตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ก เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมใหญ่ประจำปี ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คือ งานวิวาห์หมู่กลางน้ำ ซึ่งจัดขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล นักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากตลาดของชุมชนเปลี่ยนเป็นตลาดเพื่อการท่องเที่ยว พบว่าตลาดเก่าเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ มีทั้งที่เป็น "ตลาดใหม่-ทำให้เก่า" คือเกิดขึ้นใหม่ แต่เกาะกระแสความนิยมของเก่า ซึ่งมีการสร้างองค์ประกอบที่ให้กลิ่นอายคล้ายคลึงกับของเก่า โดยมากมักจะเป็นตลาดน้ำ ขายสินค้าในเรือ ข้าวของที่นำมาขายมักเป็นของโบราณ ได้แก่ อาหารโบราณ ของเล่นโบราณ เป็นต้น
ในขณะที่ "ตลาดเก่า-ฟื้นฟูใหม่" หลายๆ แห่ง ก็มีความแตกต่างกันไป ในกรณีของเหล่าตั๊กลัก เป็นตลาดที่ตายไปแล้ว เพราะร้านค้าบนบกก็ปิดร้านติดต่อกันมาหลายสิบปี กลายเป็นที่พักอาศัยเท่านั้น การค้าทางเรือก็ย้ายไปรวมกันอยู่ที่คลองต้นเข็ม การฟื้นฟูเหล่าตั๊กลักขึ้นมาใหม่นี้ ไม่ได้เปิดเพื่อเป็นตลาดของชุมชนอย่างในอดีต แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นตลาดท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ในช่วงบ่าย วิทยากรได้นำชมวิถีชีวิตริมคลองดำเนินสะดวก โดยเรือแจวพาไปสัมผัสประวัติศาสตร์ของชุมชน แวะเยี่ยมชมสวนผลไม้ เพื่อศึกษาวิธีการทำสวนและพิสูจน์คุณภาพของผลผลิต "สวนดำเนินฯ" จากนั้นย้อนรอยเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เยี่ยมชมบ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็ก พระสหายต้น ซึ่งยังคงเก็บรักษาสิ่งของและบรรยากาศเดิมๆ ของพื้นที่ไว้ได้เป็นอย่างดี ร่วมรับฟังการถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจของพระมหากษัตริย์และพระสหายต้น ผ่านทายาทผู้ดูแลบ้านรุ่นที่ 3 จากนั้นแวะชมเตาตาล ชิมน้ำตาลมะพร้าวของดีคู่ประวัติศาสตร์ดำเนินฯ