
9ปีกับการเลี้ยงสุกรแบบพันธสัญญา
9 ปีแห่งความสำเร็จ 'ทองใบฟาร์ม' กับเลี้ยงสุกรแบบพันธสัญญา : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร : โดย ... โต๊ะข่าวเกษตร
เนื้อที่ติดถนน 15 ไร่ ใน ต.ค้างพลู อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ด้านหน้าเต็มไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม ตรงกลางมีซุ้มทรงจั่วหลังคากระเบื้องสีน้ำเงิน ใต้หลังคาทรงจั่วนั้น มีป้ายบ่งบอกว่า ที่นี่เป็นสถานประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุกร หรือหมู ภายใต้ชื่อ "ทองใบฟาร์ม" ของ “ทองใบ รามสันเทียะ”
ระหว่างที่เดินลอดใต้ซุ้มจะผ่านไปสวนไม้ดอกไม้ประดับปะปนกับไม้ผล ทำให้บรรยากาศดูร่มรื่น ถัดไปเพียงเล็กน้อยจึงถึงที่ฟาร์มเลี้ยงหมูระบบปิด หรือที่เรียกว่า "อีแวป" และภายในฟาร์มมีการผลิตไบโอแก๊ส ที่ได้มาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) เพื่อนำแก๊สชีวภาพจากมูลสุกรนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มนั่นเอง
ทองใบ ย้อนอดีตเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในวัยสาวว่า ไม่แตกต่างไปหนุ่มสาวชาวต่างจังหวัดทั่วไป ที่มักนิยมไปขุดทองในเมืองหลวง ด้วยการเป็นพนักงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ จนเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี รู้สึกเบื่อมีชีวิตที่เป็นมนุษย์เงินเดือน จึงหวนกลับบ้านเกิดที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2547 หรือ 9 ปีก่อน เพื่อหาช่องทางในการประกอบอาชีพใหม่ และได้รับการแนะนำจากน้องชายที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรกับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ในรูปแบบของ "คอนแทรค ฟาร์มมิ่ง" (Contract Farming) ที่หลายฝ่ายต่างถกเถียงกันว่าเป็นการทำเกษตรที่ผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้เกษตรกรกลายเป็นเสมือนผู้รับจ้างเลี้ยงทั้งทางตรงและทางอ้อมเท่านั้น
"ฉันเองไม่มีพื้นฐานความรู้ในด้านการเกษตรโดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ น้องชายแนะนำให้ไปดูงานจากฟาร์มใกล้เคียง เห็นว่าฟาร์มอื่นประสบความสำเร็จ จึงไม่คิดอะไรมาก ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เริ่มแรกไปกู้เงินจากธนาคารมาสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรหมดไป 1.3 ล้านบาท เมื่อลงทำแล้วได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดีจากพนักงานซีพี ที่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นเลี้ยงจนถึงการจับขาย พอทำได้เข้าสู่ปีที่ 3 จึงพัฒนาสู่การใช้มูลสุกรในการผลิตไบโอแก๊ส ใช้เงินลงทุน 5 หมื่นบาท ทำให้ปัจจุบันสามารถประหยัดพลังงานได้กว่า 80%” ทองใบ กล่าว
สำหรับบ่อไบโอแก๊ส ทองใบ บอกว่า เป็นบ่อขนาด 12x14 เมตร ลึก 3 เมตร เป็นบ่อไบโอแก๊สที่ได้มาตรฐานฟาร์มสีเขียว ตอนนี้นอกจากได้แก๊สใช้ในฟาร์มแล้ว ยังมีรายได้จากการขายมูลสุกรหรือเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยอีกราว 4-5 หมื่นบาท จากหมูที่เลี้ยงรุ่นละ 550 ตัว โดยได้รับลูกพันธุ์หมูจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ เป็นลูกสุกรอายุ 18-21 วัน น้ำหนักประมาณ 6 กก.เลี้ยงอีก 140-150 วัน จะได้หมูที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 110-115 กก. ซึ่งซีพีเอฟ จะรับซื้อทั้งหมดเฉลี่ยแล้วแต่ละรุ่นจะขายได้รุ่นละ 2.5-2.6 แสนบาท หักต้นราว 7-7.5 หมื่น ที่เหลือเป็นกำไร ในแต่ละปีจะเลี้ยงได้ปีละ 2.08 รุ่นโดยเฉลี่ย และเท่าที่เลี้ยงมาไม่เคยขาดทุนด้วย
ด้าน ธนกฤต หนังสือ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ อธิบายว่า เกษตรพันธสัญญาไม่ใช่การผูกขาด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อย แต่มีการแจ้งกติกาตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรจะมีรายได้จากการเลี้ยง ได้ผลผลิตที่ดี โดยบริษัทจะรับผิดชอบในส่วนของลูกพันธุ์ ยา อาหาร ส่งพนักงานเข้ามาดูแล พร้อมกับแบกภาระในเรื่องของราคา ไม่ว่าราคาช่วงนั้นๆ จะขึ้นหรือลง เกษตรกรก็สามารถขายได้ในราคาที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะได้เงินมากหรือน้อยขึ้นกับประสิทธิภาพในการเอาใจใส่ดูแลในการเลี้ยง เรียกได้ว่าเข้าร่วมโครงการแล้วไม่มีขาดทุนแน่นอน เพราะ 30 ปีที่บริษัทดำเนินโครงการมา พบว่ามีเกษตรกรกว่า 90% ที่ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งจากการที่ได้ไปชม "ทองใบฟาร์ม" ของ “ทองใบ รามสันเทียะ” ที่ ต.ค้างพลู อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ที่ยืนยันว่า 9 ปีที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูให้ฐานะครอบครัวดีขึ้น รวมถึงน้องชายด้วย
--------------------
(9 ปีแห่งความสำเร็จ 'ทองใบฟาร์ม' กับเลี้ยงสุกรแบบพันธสัญญา : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร : โดย ... โต๊ะข่าวเกษตร)