
รสชาติของ'สายไหม'
รสชาติของ'สายไหม' : คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า : โดย...กาญจนา หงษ์ทอง
ถ้าอยากรู้ว่า สายไหมอร่อยแค่ไหน ไปแค่อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน ก็คงพอรู้แล้ว แต่เพราะอยากชิมรสชาติของเส้นทางสายไหม เลยต้องดั้นด้นข้ามน้ำข้ามทะเลไปหาแผ่นดินมังกร ที่นั่นต่างหากที่จะบอกได้ว่า บางเสี้ยวของเส้นทางสายไหมอร่อยล้ำแค่ไหน
เมื่อจะออกตัวท่องเส้นทางสายไหม ต้องทำการบ้าน 2 ประการคือ จับจองที่พักผ่านเว็บไซต์อโกดา (www.agoda.com) และหาเที่ยวบินไปหย่อนตัวลงตรงต้นทางของสายไหม ที่ เมืองอุรุมชี ซึ่งเที่ยวนี้ใช้บริการสายการบินไชน่าเซาเทิร์น แอร์ไลน์ (0-2677-7388) แค่ต้นทางอย่างอุรุมชีก็ทำให้หูตาเบิกโพลงไปหมดแล้ว เพราะอาหารการกินใน ย่านเอ้อร์เต้าเฉียว ทำให้เดินไม่เป็นสุข กลายเป็นพวกแวะร้านนั้นโฉบร้านนี้อยู่ตลอดเวลา ยังไม่ต้องชิมหรอก แค่ดูก็เพลินอารมณ์จะแย่ ทั้งเมนูปิ้งย่าง ที่ไม่ได้ปิ้งเฉพาะเนื้อแพะเท่านั้น แต่บางร้านขนตับไตไส้พุงออกมาเสียบไม้กันให้ควันโขมงไปหมด บางร้านพิเศษกว่านั้น เพราะไม่ได้มีแค่แพะ แต่แร่เนื้ออูฐมาปิ้งกันแบบหอมฉุย
ยังมีเมนูข้าว เมนูเส้นอีกเพียบที่รอการลิ้มลองของเรา ส่วนใหญ่เรื่องอาหารการกินที่นี่ ถ้ามีเนื้อสัตว์มาผสมด้วยเขาจะเน้นใช้เนื้อแพะเป็นหลัก แต่ถ้ามีอูฐเข้ามาผสมโรงด้วย จานนั้นจะแพงไปเลย ส่วนเมนูหมูลืมไปได้เลย เพราะคนบนเส้นทางสายไหมส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีชาวฮั่นมาอาศัยอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ กันมากขึ้น แต่พวกอาหารการกินส่วนใหญ่ยังเป็นวัฒนธรรมมุสลิมอยู่
มีหรือฉันจะพลาด เรื่องเมนูปิ้งย่างเนี่ยเป็นของถนัดอยู่แล้ว เคยชิมเนื้อแพะย่างที่ปากีสถานมาแล้ว เขาโรยเครื่องเทศซะหอมฉุย เผ็ดนิดๆ ไม่เหม็นสาบด้วย ยังติดใจรสชาติของแพะย่างไม่หาย ตามมาด้วยเนื้ออูฐรมควันที่ตุรกี นั่นก็ถูกปากได้ที่อยู่เหมือนกัน แล้วเนื้อแพะปิ้งบนเส้นทางสายไหมก็ทำให้รู้ว่า อร่อยไม่แพ้ที่ไหนในเมืองอาหรับ
ใครไม่ชอบพวกปิ้งย่าง ก็มีพวกข้าวหมกแพะ และก๋วยเตี๋ยวเวอร์ชั่นสายไหมด้วย ที่หลังจากใส่เส้นลงไปแล้วถมผักเข้าไปอีกเป็นกอง เสร็จแล้วไม่ลืมล้างปากด้วยน้ำทับทิมคั้นสด เพราะเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่เขา เป็นอันรู้กันว่าดินแดนแถบนี้เป็นทุ่งแล้งก็จริง แต่ก็น่าแปลกที่ปลูกผลไม้ขึ้นอย่างงอกงามแถมหวานอีกต่างหากไม่ว่าจะเป็นองุ่น แอปเปิ้ล แตงโม และทับทิม
นั่นแค่ต้นทางอย่างอุรุมชีนะ พอข้ามไป เมืองคาชการ์ (Kashgar) หรือ เมืองคาสือ ที่อยู่ห่างออกไปเกือบ 1,500 กิโลเมตร นั่นยิ่งเด็ดดวงเข้าไปอีก ฉันเริ่มต้นด้วยการชมเมืองก่อนจะไปชิมอาหารการกินของเขา
ซอกซอยของเมืองเก่าแห่งคาสือซ่อนบ้านเรือนก่อด้วยอิฐแล้วฉาบโคลนเอาไว้อย่างแน่นขนัด บางบ้านส่งรอยยิ้มแทนการเปิดประตู นั่นหมายถึงเขายินดีให้เข้าไปชมด้านใน เลยพบว่าหน้าบ้านที่เห็นเรียบๆ ด้านในซ่อนบ้านอันแสนอบอุ่นเอาไว้ ส่วนใหญ่บ้านแถวนี้เป็นครอบครัวใหญ่ ในบ้านจะมีห้องเล็กห้องน้อยซ่อนเอาไว้ ตรงกลางเป็นลานโล่ง แต่ทุกบ้านจะมีห้องรับแขกที่วางขนมนมเนยเอาไว้ต้อนรับขับสู้แขกเหรื่อ ลูกหลานออกไปทำงานกันจนบ้านโหรงเหรง แต่ที่ทำให้บ้านรู้สึกเป็นบ้าน คือ คุณยายใบหน้ายับย่นที่กำลังมือเป็นระวิงอยู่หน้าเตา ผัดผักของยายหอมกรุ่นกระตุกให้ท้องไส้ร้องครวญครางเบาๆ จนต้องรีบเผ่น
ยังคงเดินซอกแซกไปตามตรอกแคบๆ ของเมืองเก่า เจอทั้งบ้านที่ทำเครื่องดนตรีขาย บางบ้านดัดแปลงเป็นร้านขายของที่ระลึกไปเลย คนหนุ่มสาวคงออกไปทำงาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่พบเจอส่วนใหญ่เลยมีแค่ประชากรเด็กเล็กและวัยไม้ใกล้ฝั่งที่อยู่เฝ้าบ้าน
พูดถึงเรื่องคน เขาบอกคาสือเป็นเมืองที่มีชาวเหวยหวูเอ่อร์ หรือชาวอุยกูร์อาศัยอยู่มากราว 2-3 แสนคน ซึ่งโดยมากก็อยู่ในเขตเมืองเก่า แต่ทุกวันนี้ชาวฮั่นแทรกตัวเข้ามาอยู่กันมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลจีน ที่พยายามส่งชาวฮั่นเข้ามาลงหลักปักฐานในแถบนี้ แต่ในเขตเมืองเก่าก็ยังจัดว่ามีชาวเหวยหวูเอ่อร์หนาแน่นอยู่
ภายในเมืองเก่าก็เหมือนเขาวงกต ซอกเล็กซอยน้อยแตกแขนงจากตรอกใหญ่เต็มไปหมด แต่ถ้ากลัวหลงก็เดินตามป้ายที่เขาติดไว้ หรือไม่ก็ถามหาปลายทางอย่างมัสยิดอิดคาห์ เพราะปากทางของเมืองเก่าอีกด้านหนึ่งอยู่บนถนนแคบๆ ที่เชื่อมกับทางไปมัสยิดอิดคาห์
บนถนนสายนี้เหนี่ยวฉันไว้ได้นานสองนาน เพราะมีทั้งร้านขายแป้งแผ่นที่เรียกว่านาน และร้านที่ขายข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากทองเหลือง เดินถัดขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเจอบ้านเก่าแก่ของชาวเหวยหวูเอ่อร์ ที่โดยมากทำเป็นบ้านสองชั้น กรอบหน้าต่างประตูเขาแกะสลักไม้ด้วยลวดลายและสีสันที่สวยงาม
ยิ่งใกล้ปากทางของถนนสายนี้ ผู้คนยิ่งพลุกพล่าน และยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพความมีชีวิตชีวาของคาสือมากขึ้นทุกขณะ พ่อค้าบางคนหอบองุ่นใส่ตะกร้าเดินทางมาจากชานเมือง เพื่อมาวางขายที่นี่ ขายหมดแล้วบางทีเขาก็แวะเข้าไปละหมาดที่มัสยิดอิดคาห์ก่อนจะกลับบ้าน ส่วนร้านขายแตงโมเห็นลูกค้ายืนล้อมวงกินแตงโมงกันอย่างครึกครื้น ฝั่งร้านขายข้าวหมกแพะก็ใช่ย่อย
โต๋เต๋อยู่แถวนี้จนถึงเย็น เลยพบว่า ดัชนีความคึกคักค่อยๆ ดีดตัวขึ้นสวนทางกับแสงที่ค่อยๆ จางลง แสงไฟระยิบระยับเหมือนกับงานวัด ถามชาวบ้านแถวนั้นได้ความว่า เป็น ไนท์มาร์เก็ต มีหรือจะพลาด
ต้องใช้คำว่าละลานตาถึงจะเหมาะ รอบตัวคืออาหารการกินที่หน้าตาแปลกบ้าง ไม่แปลกบ้าง แต่ทั้งหมดคือสีสันยามค่ำคืนที่ทำให้คาสือกลายเป็นเมืองที่ไม่เคยแห้งแล้งชีวิตชีวา มีทั้งข้าวหมกแพะที่นั่งล้อมวงกินกันข้างทางเลย ร้านขายเครื่องในวัวและเครื่องในแพะ เหมือนกับจะต้มแล้วก็กินอย่างนั้นเลย ไม่เห็นจิ้มเจิ้มอะไร บางร้านก็เป็นเหมือนก๋วยเตี๋ยว สาวเส้นใส่ชามเสร็จก็สุมเครื่องเทศและผักลงไป
ค่ำนี้เลยไม่ใช่แค่อิ่มท้อง แต่อิ่มอกอิ่มใจที่ได้เห็นคาสือในมุมที่สุดครึกครื้น จากอุรุมฉีถึงคาสือ ทำให้รู้แล้วว่ารสชาติของสายไหมนั้นกลมกล่อม ถูกปากนักเดินทางจากขวานทองจนอยากไปชิมซ้ำ
...................................
(รสชาติของ'สายไหม' : คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า : โดย...กาญจนา หงษ์ทอง)