
นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล
นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
การตั้งชื่อไทยของนกแบบถอดความหมายชื่อสามัญมาทุกกระเบียดนิ้ว อาจทำให้คนดูนกจำชื่อไทยได้ง่าย เพราะถ้าจำชื่ออังกฤษได้ก็จะจำชื่อไทยได้ไม่ยาก แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดชื่อที่ฟังดูไม่น่าจำเท่าไหร่นักอย่าง นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล (Large Woodshrike) ซึ่งถูกตั้งตามชื่อสามัญที่เคยใช้เรียกในอดีตอย่าง Brown-tailed Woodshrike ในขณะที่ญาติของมันที่หาตัวยากในเมืองไทยกว่ากันอย่างเห็นได้ชัดอย่าง Common Woodshrike ก็ถูกตั้งชื่อแบบคงความหมายเดิมว่านกเฉี่ยวดงธรรมดา ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้าเทียบกันมันไม่ใช่นกธรรมดาๆ สำหรับเมืองไทยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแหล่งอาศัยของมัน (ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ) ถูกทำลายลงไปมาก นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ในป่าทุกประเภทและพบทั่วประเทศจึงเหมาะกับคำว่า“ธรรมดา”มากกว่า
นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาลมีขนาดตัวใหญ่กว่านกเฉี่ยวดงธรรมดาพอสมควร ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา หางมีสีเดียวกับลำตัว ต่างจากนกเฉี่ยวดงธรรมดาซึ่งมีหางสีเข้มกว่าชัดเจน ข้อสังเกตเรื่องสีหางจึงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ที่จะเอามาใช้ตั้งชื่อนกป่าประจำคอลัมน์สัปดาห์นี้ ซึ่งมีสีหางไม่ต่างอะไรกับสีลำตัว นกตัวผู้มีกระหม่อมสีเทามากกว่าตัวเมีย มีแถบคาดตาสีดำหนาแบบนกอีเสือ (Shrikes) และจงอยปากที่งุ้มหนา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Woodshrikes มีแถบสีขาวที่ตะโพก ตัวผู้มีกระหม่อมสีอมเทามากกว่าตัวเมีย
นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาลเป็นนกที่มีข้อถกเถียงทางอนุกรมวิธานมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ชื่อ Tephrodornis virgatus ที่ถูกตั้งซ้ำซ้อนกัน จึงถือว่าเป็นชื่อพ้อง ถึงกระนั้นชื่อนี้ก็ยังคงถูกใช้อยู่บ่อยๆ เดิมทีนกเฉี่ยวดงและญาติของมันอย่างนกเขนน้อย (Flycatcher-shrikes) ก็เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวกนกเฉี่ยวบุ้ง (Cuckooshrikes) งานวิจัยทางชีวเคมีเร็วๆ นี้เอง ทำให้รู้ว่าญาติสนิทของพวกมัน คือนกในทวีปแอฟริกาชื่อว่า Helmetshrikes และ Shrike-flycatchers ซึ่งชื่อก็บอกเป็นนัยๆ ว่าพวกมันน่าจะมีหน้าตาคล้ายกันอยู่แล้ว
นกเฉี่ยวดงมักหากินรวมกันเป็นฝูง ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ นกในวงศ์นี้ล้วนเป็นสมาชิกสำคัญของ Bird wave หากินโดยโฉบจับแมลงและสัตว์เล็กๆ ตามต้นไม้ แต่ขนาดตัวที่ใหญ่โตเมื่อเทียบกับญาติๆ และปลายปากที่งุ้มเป็นตะขอของนกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาลช่วยให้มันสามารถล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ เช่น กิ้งก่าและจิ้งเหลน ด้วยเหตุนี้บางครั้งมันจึงถูกนกแซงแซวสีเทา (Ashy Drongo) มาหากินใกล้ๆ กัน เพื่อหาโอกาสแย่งชิงเหยื่อขนาดใหญ่ที่นกเฉี่ยวดงล่ามาได้ แต่นกแซงแซวก็ทำหน้าที่เป็น “ผู้คุ้มกัน” คอยไล่ตีเหยี่ยวและนกเค้าให้กับฝูงด้วย
...............................................
(นกเฉี่ยวดงหางสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว )