ไลฟ์สไตล์

ลูกไม้ตกใต้ต้น 'บ้านยนตรรักษ์'

ลูกไม้ตกใต้ต้น 'บ้านยนตรรักษ์'

04 ส.ค. 2555

ลูกไม้ตกใต้ต้น 'บ้านยนตรรักษ์' : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...เรื่อง ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์/ภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร

            "เราเป็นลูกพ่อด้วยเเวดล้อมทำให้เราหนีจากดนตรีไม่ได้ แต่เราก็มีโอกาสได้ทดลองเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ สุดท้ายก็รู้ว่าชอบด้านนี้จริงๆ จนตอนนี้ชีวิตก็อยู่กับดนตรีไป 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว"

             เพลงบรรเลงเปียโนนุ่มๆ ลอยทุ้มอยู่ภายในศาลาสุทธสิริโสภาอาคารสวยทรงโบราณ ใช้สำหรับการแสดงดนตรีโดยเฉพาะชวนให้นึกถึงยุคสมัยที่สาวๆ แต่งชุดกระโปรงบานสีสดพร้อมหมวกใบเก๋ แต่ทว่าเจ้าของเรียวนิ้วพลิ้วไหวกลับเป็นสาวสมัยใหม่ดีกรีบัณฑิตจบหมาดจากคณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ สาขาภาษาและวัฒนธรรม รุ่นที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นนักดนตรีคนเก่งที่สืบทอดความรักเสียงเพลงมาจากคุณพ่อนักเปียโนชั้นครูมาได้อย่างไม่แปลกแยก เธอคนนี่คือ "ลูกตาล" พารณี ยนตรรักษ์ สาวผู้ตั้งใจสานต่องานด้านการดนตรีของครอบครัวแบบไม่ขอมีเงื่อนไข ด้วยการเป็นอาจารย์สอนเปียโน และผู้จัดการของศาลาแห่งนี้ในวัย 20 ต้นๆ

              เมื่อรู้ถึงเจตนารมณ์อันแรงกล้า เราจึงนัดแนะให้เธอเปิดบ้านและศาลาหลังงามตามดูงานแรกหลังคว้าใบปริญญา และกิจกรรมยามว่างที่สร้างตัวตนของสาวน้อยคนนี้ให้มีความคิดจริงจังกับการดนตรี ซึ่งพอมาถึงโรงเรียนดนตรีณัฐ (Nat-Studio) ภายในซอยลาดพร้าว 35 แง้มประตูบ้านมาก็เจอกับ คุณพ่อณัฐและคุณแม่พวงเดือน ยนตรรักษ์ 2 นักดนตรีคู่ขวัญ ออกมาตอนรับ ก่อนพาไปเจอสาวลูกตาล ที่กำลังจัดเรียงกองหนังสือการ์ตูน และหนังสืออ่านเล่นภาษาผรั่งเศส ที่เจ้าตัวสะสมเอาไว้พร้อมบอกว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เธอเอาตัวรอดเมื่อครั้งที่ยังเรียนดนตรีอยู่ประเทศฝรั่งเศสได้

               "ตอนที่ตาลอายุ 16 บังเอิญครูสอนเปียโนของฝรั่งเศสคนหนึ่งท่านรับเราทั้ง 3 คน ทั้งลูกนัท พี่ชายคนโต แล้วก็ลูกตาล กับน้องสาว ลูกจัน ไปเป็นศิษย์ เราไปใช้ชีวิตกันเองที่โน่นอยู่ 2 ปีครึ่ง ทั้งค่าเรียนค่าเดินทางได้ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เป็นคนสนับสนุนให้ทั้งหมด และเป็นโรงเรียนรัฐบาล เราต้องปรับเรื่องวัฒนธรรมกันอย่างมาก เพราะเคยอยู่กันแต่โรงเรียนเอกชน และหญิงล้วน ตอนนั้นก็เรียนกันหนักมาก เพื่อต้องการให้สื่อสารได้เร็วๆ วันหนึ่งเดินไปเจอหนังสือการ์ตูนเรื่องนานะ กับพาราไดซ์คิสที่เราชอบ แต่เป็นปกภาษาฝรั่งเศส เห็นแล้วรู้สึกว่าสวยมาก มีปริ๊นติ้งที่ดี หน้าทะนุถนอม เลยซื้อมาอ่านดู จนช่วงหลังตาลเลยใช้เอ็มเอสเอ็น กับการ์ตูนเป็นสื่อการเรียนภาษาฝรั่งเศส เพราะเรามีเวลาคิดมากพอที่จะโต้ตอบ แล้วก็มีเรื่องพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ชอบการ์ตูนเหมือนกันได้ด้วย เพื่อนๆ ก็แนะนำหนังสืออ่านเล่นให้มาอีกเรื่อยๆ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติกันและกัน จุดนี้ก็ช่วยสานต่อความฝันในการเรียนคณะอักษรศาสตร์ที่เพิ่งจบมาได้ด้วย" สาวนักอ่านบอกถึงประโยชน์ของหนังสือสุดรัก

                   พอเปิดหนังสือให้ดูเสร็จ สาวลูกตาลก็ชี้ชวนให้ดูว่า ตอนนี้ที่บ้านค่อนข้างวุ่นวาย เพราะในวันถัดมาศาลาสุทธสิริ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบ้านจะเปิดตัวแล้ว ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง นักดนตรีและคนงานในบ้านกำลังช่วยกันจัดเรียงปัดกวาดเช็ดถูกันอย่างขะมักเขม้น และเธอก็จะได้เข้างานเป็นวันแรกในที่นี้อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าอีกด้วย

                 "บ้านนี้เราต่อเติมมาเรื่อยๆ อยู่กันเป็นแนวครอบครัวใหญ่ มีการจัดงานรวมรุ่นนักเรียน มีปาร์ตี้สังสรรค์กันทุกปี แต่ปีนี้ทุกคนคงได้มาอยู่ที่ศาลาสุทธศิริโสภา ที่มีที่มาจากพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ผู้ทรงอุปถัมภ์คุณพ่อมาตั้งแต่หนุ่มๆ ตอนนั้นคุณพ่อได้มีโอกาสไปถวายงานสอนเปียโนท่าน และเล่นให้ฟังตลอด สุดท้ายก็ให้พ่อเรียกว่าท่านแม่ และสนับสนุนทุกอย่างเรียกได้ว่าเป็นคนที่ทำให้คุณพ่อมีวันนี้ได้ บ้านหลังนี้ท่านก็ซื้อให้ เปียโนหลังแรกของโรงเรียนนี้ท่านก็ซื้อให้ตอนที่คุณพ่อได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แม้กระทั่งตอนแต่งงานท่านก็เป็นประธานให้ ยังเป็นคนซื้อชุดแต่งงานให้คุณแม่ด้วย คือเหมือนเป็นแม่จริงๆ คุณพ่อเลยมีโปรเจกท์ที่จะสร้างศาลา หรือฮอลล์การแสดงเพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงท่าน ใครเป็นลูกศิษย์อาจารย์ณัฐ ทุกคนจะรู้ว่าคุณพ่อคิดโปรเจกท์นี้และออกแบบเองมานานมาก คุณพ่อถึงกับซื้อเปียโนแบบแกรนด์คอนเสิร์ตมาตั้งไว้ที่บ้านก่อนที่จะสร้างศาลาเมื่อปีที่แล้วเสียอีก" ผู้จัดการศาลาสาวบอกถึงที่มาอันน่าประทับใจ

                 ระหว่างพาเดินทัวร์ศาลาสวย ทั้งห้องโถง ห้องแสดง และห้องพักศิลปิน นักเปียโนสาวก็ลองเล่นเพลงเพราะๆ กับเปียโนหลังใหญ่ ที่บ้านเธอทุ่มเททำงานหนักเพื่อแลกมาได้อย่างภูมิใจ เสียงดังกังวาลที่ลอยไปทั่วศาลาบอกถึงความพร้อมที่จะรับช่วงความสำเร็จของครอบครัวเธอได้อย่างดี

                 "ตาลเริ่มเล่นเปียโนมาตั้งแต่เป็นเด็กไม่กี่ขวบ มาช่วยงานสอนเป็นอาจารย์ที่บ้านตั้งแต่อายุ 18 พอมีประสบการณ์มากขึ้นคุณพ่อก็ให้นักเรียนมาสอนมากขึ้น ถ้าถามว่าเราชอบไหมตอนนั้น ความจริงเด็กทุกคนต้องผ่านการบังคับอยู่แล้ว เนื่องจากเราเป็นลูกพ่อ ด้วยเเวดล้อมทำให้เราหนีจากดนตรีไม่ได้ แต่เราก็มีโอกาสได้ทดลองเรียนรู้เรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ สุดท้ายก็รู้ว่าชอบด้านนี้จริงๆ จนตอนนี้ชีวิตก็อยู่กับดนตรีไป 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เสาร์-อาทิตย์ตาลจะสอนทั้งวัน คือบอกเพื่อนเลยว่าไม่ต้องชวนไปไหนนะ วันศุกร์เย็นๆ นี้ก็หมดเวลาเที่ยวเราแล้ว พอเรียนจบก็สอนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เมื่อก่อนเวลาบ้านเราจัดซัมเมอร์แคมป์เกี่ยวกับดนตรี ตาลกับน้องจะจัดการเรื่องกิจกรรมทุกอย่างและจะชนกับการเรียนเราด้วยทุกครั้ง ยิ่งช่วงที่มีส่งนักเรียนลงแข่งด้วยก็คือต้องท่องหนังสือให้ตัวเอง ติวเด็กก็ต้องติว เรางดสอนไม่ได้ด้วย ทุกอย่างจะรุมเร้ามาก แต่พอเรียนจบมาได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เหมือนที่คุณพ่อเคยได้ ก็รู้สึกภูมิใจที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้" อีกหนึ่งความสำเร็จที่อาจารย์สาวภาคภูมิใจ

                  "ช่วงที่ยากยิ่งใหญ่ที่สุดคือตอนขึ้นแฟมิลี่คอนเสิร์ตครั้งแรก ปกติเราจะแสดงต่างประเทศตลอด ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่แสดงในไทย ตอนนั้นอายุ 12 ได้ เราเตรียมเพลงๆ หนึ่งไว้ เป็นเพลงไม่ยาว แต่เร็วมาก เราซ้อมหนักมาก เครียดจนล็อกห้องไม่ยอมคุยกับใครเลย พอตอนขึ้นเวทีที่เป็นหอประชุมใหญ่ๆ มีเปียโน 1 ตัว สุดท้ายก็นึกไม่ออกว่าตัวโน้ตตัวแรกคืออะไร คิดอยู่นานจนตัดสินใจเอานิ้วจิ้มไปมั่วๆ แล้วก็เล่นยาวไปเลยจนไม่รู้ว่าจะจบยังไงอีก เป็นโมเม้นที่แปลกประหลาดมากไม่รู้ว่าผ่านมาได้ไง แต่ก็ภูมิใจที่ผ่านมาได้ จากนั้นก็หมั่นปรับปรุงรักตัวเองมากขึ้น ที่จริงการที่เป็นแบบนี้มันอันตรายมาก เพราะพอเวลาที่เราดึงตัวเองกลับมาได้จะไม่รู้เลยว่าเล่นมาถึงตรงไหนแล้ว เราควรต้องตั้งสติแล้วอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ ที่ผู้ใหญ่เขาบอกว่าควรเอาลูกมาเรียนเปียโนตั้งแต่เด็ก ความสำคัญก็คือ เพื่อการฝึกสมาธินั่นเอง"ประสบการณ์สำคัญที่สอนให้นักเปียโนสาวขยันเรียนรู้

                   เพราะเติบโตมากับการเรียนรู้จนชินทั้งงานดนตรี และงานด้านอื่นๆ ช่วงชีวิตหลังเรียนจบจึงเป็นเรื่องที่สาวคนนี้ไม่ประหม่าจนเกินตัว เธอบอกว่าเพราะสมัยนี้งานหายาก การตั้งใจสานต่อธุรกิจที่บ้าน แม้ยังเป็นความคิดที่สวนทางสำหรับวัยค้นหาประสบการณ์ แต่ก็เป็นตัวเลือกที่เธอชอบที่สุด เพราะความผูกพัน และคำว่ารัก ทั้งครอบครัว ดนตรี จึงทำให้ยากที่จะปลีกตัวออกมาจากโลกอันแสนอบอุ่นนี้จริงๆ   

.................................
(ลูกไม้ตกใต้ต้น 'บ้านยนตรรักษ์'  : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...เรื่อง  ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์/ภาพ กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร)