
วันวานนักศึกษา'ปอเนาะ'
คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม : ตอน: วันวานนักศึกษา'ปอเนาะ'
เดือนรอมาฎอนในประเทศอียิปต์ดำเนินมาได้อาทิตย์กว่าแล้ว พร้อมๆ กับที่นักศึกษาน้องใหม่ของไทยที่สนใจจะเดินทางมาศึกษาต่อยังประเทศอียิปต์ก็ทยอยกันมาลงทะเบียนนักศึกษาใหม่กับสถานเอกอัครราชทูตกว่าหนึ่งร้อยคนแล้วในตอนนี้ จากการศึกษาศาสนาระดับต่างๆ ในเมืองไทยต่อไปนี้ก็จะเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นและความยากที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนอย่างมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์
เมื่อวันก่อนผมได้พูดคุยกับน้องๆ นักศึกษาผ่านทางเฟซบุ๊ก ทางเอ็มเอสเอ็น เรื่องการศึกษาศาสนาอิสลามในเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมีการเตรียมพร้อมก่อนเดินทางมาศึกษาในต่างประเทศในเรื่องของภาษาอาหรับและการแนะแนวของอาจารย์และรุ่นพี่ที่เดินทางกลับไทย ทำให้มีความพร้อมที่จะเดินทางมาศึกษายังประเทศอียิปต์ การเรียนในชั้นเรียนสมัยปัจจุบันกลายเป็นชั้นเรียนที่มีคุณภาพ มีการปรับให้เข้ากับบรรยากาศของการศึกษา การแต่งกาย การทำกิจกรรมร่วมกัน การอยู่อาศัยในหอพัก ซึ่งไม่ต่างจากโรงเรียนสอนเฉพาะสามัญในตัวเมืองแต่อย่างใด และนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เจริญขึ้นในรูปแบบการศึกษาของสังคมรุ่นใหม่
วันนี้ผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นภาพการจัดงานของโรงเรียนศาสนาปอเนาะบ้านตาล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ผมยิ่งภูมิใจที่ได้เห็นโรงเรียนสอนศาสนามีการพัฒนาไปสู่สากลโดยเฉพาะ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นแบบอย่างของหลายๆ คนที่จะเดินรอยตามแห่งความสำเร็จนี้ และที่มาของความสำเร็จอย่างมีคุณค่าของหลายๆ คนในด้านการศึกษาศาสนาส่วนใหญ่จะต้องผ่านชีวิตการศึกษาในระบบปอเนาะมาก่อนทั้งนั้น
ปอเนาะ เป็นที่พักพิงชั่วคราวของนักศึกษาที่จะเข้าเรียนศาสนา การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เสื่อและผ้าห่มบางหนึ่งผืน หมอนหนึ่งใบ หม้อข้าวหนึ่งใบและจานหนึ่งใบ นี่คืออุปกรณ์ชีวิตของเด็กปอเนาะ ผู้ที่จะต้องเข้าศึกษาศาสนา ตั้งแต่เริ่มต้นอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน การเรียนรู้แบบอย่างศาสดาทั้งในเชิงความรู้และปฏิบัติ การทำความเข้าใจกับศาสนาอิสลามว่าด้วยเรื่องศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และการศึกษาภาษาอาหรับที่แปลออกมาเป็นบทความในเรื่องศาสนาที่มุสลิมทุกคนต้องถือปฏิบัติ การศึกษาหนังสือกีตาบที่มาจากภาษามลายูแล้วต้องมาแปลเป็นภาษาไทย
ชีวิตของนักศึกษาปอเนาะ การแต่งกายด้วยผ้าโสร่งและเสื้อสีพื้นๆ ไม่มีลวดลายเป็นส่วนใหญ่ บนศีรษะมีหมวกสีขาวอยู่คู่กายตลอดเวลา ทุกๆ ครั้งวันละ 5 เวลา เมื่อมีเสียงอาซาน หรือเสียงเรียกให้ไปละหมาด นักศึกษาปอเนาะทุกคนจะรีบตื่นและมุ่งไปยังบ่อน้ำที่ใช้รวมกันหลายๆ คนเพื่ออาบน้ำ บางครั้งสบู่หนึ่งก้อนผลัดกันใช้ทั้งปอเนาะก็มี การกินอาหารก็แบบง่ายๆเจียวไข่ น้ำพริก หรือข้าวสวยร้อนๆ ราดน้ำปลา เท่านี้ก็มีความสุขและอิ่มได้แบบพอเพียงในวันหนึ่งๆ สังคมในปอเนาะจึงเป็นสังคมพี่น้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรัก ความสามัคคี และความรู้สึกเดียวกันหมดทุกคน
นักศึกษาปอเนาะทุกคนตระหนักดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือการศึกษา การเรียนรู้ที่จะนำวิชาที่ได้มาเพื่อใช้กับตนเองและถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไป ชีวิตการเป็นอยู่ในปอเนาะจึงเต็มไปด้วยความดี ความเข้มแข็ง และเดินไปสู่เป้าหมายอย่างมั่นคง จึงไม่แปลกที่รุ่นพี่สมัยก่อนๆ มีความรู้ความสามารถและทักษะการใช้ภาษาอาหรับสื่อสารกับโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี ภาพวันวานยังคงฝังใจและรู้สึกดีทุกครั้งที่ผ่านปอเนาะ หากแต่วันนี้สภาพแบบนี้คงหาไม่ค่อยได้อีกแล้วในประเทศเรา
แม้สมัยนี้คำว่า "ปอเนาะ" ยังคงมีให้เรียกและใช้กันอยู่ แต่เนื้อหาสาระ และความเป็นธรรมชาติจากเดิมๆได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ปอเนาะบางปอเนาะเปิดสอนศาสนาพร้อมสามัญ บางปอเนาะควบคู่ไปกับการรักษาโรค โดยเอาเรื่องศาสนาเข้ามาสอนแนะแนวทางนำที่ถูกต้อง บางปอเนาะมีการสอนท่องจำกุรอ่านและมีกฎที่เข้มงวด และอีกหลายๆ อย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนั้นบางครั้งทำให้ความเป็นธรรมชาติแบบเดิมๆ หายไปด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนศาสนา
แม้วันนี้สภาพปอเนาะอาจไม่มีให้เห็น แต่ก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนธรรมดาจะสร้างคนให้ก้าวหน้าไม่ได้ หากอาจารย์หรือผู้บริหารเพิ่มความกระตือรือร้นหาแนวทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้การศึกษา ได้เข้าใจ และมีเป้าหมายที่แน่นอน ที่สำคัญที่ลืมไม่ได้และไม่น่าลืมคือ เรื่องศีลธรรม ที่ต้องให้อยู่คู่กับนักศึกษาตลอดไปเพราะทุกวันนี้สังคมในประเทศของเรามีแต่คนหน้าตาดีแต่เอาดีทางศีลธรรมมีไม่กี่คน ศีลธรรมไม่ได้สร้างขึ้นได้ที่ความมีชื่อเสียงของสถาบัน หากอยู่ที่การปลูกฝังที่ดีเท่านั้นเอง ปอเนาะแม้ไม่ใช่ที่พักที่สวยหรู แต่เป็นอู่ซ่อมหัวใจคนให้เป็นคนดีที่แท้จริง...นี่แหละคือผลดีของปอเนาะ
..............................................
(โลกการศึกษามุสลิม : ตอน: วันวานนักศึกษา'ปอเนาะ' )