ไลฟ์สไตล์

เมื่อต้องไปฉายแสงรักษามะเร็ง

เมื่อต้องไปฉายแสงรักษามะเร็ง

27 ก.ค. 2555

รู้ทันมะเร็ง : เมื่อต้องไปฉายแสงรักษามะเร็ง : นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

                       การฉายแสงหรือฉายรังสีเป็นการใช้รังสีรักษามะเร็งอีกรูปแบบหนึ่ง อันที่จริงแล้วการใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็งมีหลายรูปแบบหลายวิธีการ ถ้าจะแบ่งอย่างกว้างๆ ก็เป็นแบบการใช้รังสีจากภายนอกหรือการฉายแสงที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และแบบรังสีมาจากภายในร่างกาย เช่น การฝังแร่ ซึ่งการจะเลือกใช้รังสีรูปแบบไหนมารักษาโรคมะเร็งแต่ละประเภทก็ขึ้นอยู่กับว่า เป็นมะเร็งอวัยวะใด ประเภทของเซลล์มะเร็งเป็นแบบไหน รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย มีทั้งการใช้รังสีรักษาเป็นหลัก ไม่มีการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย เรียกว่าเป็นพระเอกแต่เพียงผู้เดียว บางกรณีก็ใช้การฉายแสงก่อนการรักษาวิธีการอื่นหรือฉายแสงไปพร้อมๆ กันเลย หรือฉายแสงหลังเสร็จสิ้นการรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด

                       หลังจากที่แพทย์เจ้าของไข้พิจารณาแล้วว่ารังสีรักษามีบทบาทในการรักษาผู้ป่วย ก่อนเข้าสู่กระบวนการฉายแสง ผู้ป่วยต้องมาพบรังสีแพทย์ตามนัดเพื่อวางแผนการรักษา แพทย์จะดูประวัติการรักษา ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจร่างกายบริเวณที่จะฉายรังสี ให้คำอธิบายเรื่องการปฏิบัติตัวและผลข้างเคียงของการรักษา ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์พร้อมกับญาติผู้ดูแล เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจไปพร้อมกัน จะได้ช่วยกันสังเกตอาการผิดปกติหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา โดยทั่วไปจะฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ หยุดพักเสาร์อาทิตย์ 2 วันแล้วเริ่มต้นใหม่ เวียนไปแบบนี้จนได้ปริมาณรังสีครบตามที่รังสีแพทย์กำหนด ขณะที่ผู้ป่วยกำลังได้รับการฉายแสงอยู่ในห้องนั้น ผู้ป่วยจะอยู่ในการดูแลของนักรังสีการแพทย์ ซึ่งจะจัดท่าผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับปริมาณรังสีเท่ากับที่วางแผนไว้จากเครื่องจำลองภาพ

                       โดยทั่วไป ผู้ป่วยรังสีรักษาไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษมากนัก การฉายรังสีมักให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก เมื่อฉายรังสีเสร็จผู้ป่วยกลับบ้านได้และกลับมารับการรักษาใหม่ในวันรุ่งขึ้น ข้อควรระวังที่สำคัญของผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงคือ ถ้ามีการขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายไว้บนผิวหนังผู้ป่วยด้วยสีพิเศษซึ่งลบออกได้ยาก ผู้ป่วยต้องพยายามไม่ให้เส้นหรือเครื่องหมายเหล่านั้นลบเลือน เพราะเป็นตำแหน่งที่เที่ยงตรงแม่นยำในการฉายแสง โดยปกตินักรังสีการแพทย์จะคอยเติมเส้นเหล่านั้นให้ชัดเจนเสมออยู่แล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการดูแลผิวหนังบริเวณที่ฉายแสง ไม่ควรขัดถูบริเวณที่ฉายแสง ไม่ควรใช้สบู่ที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนังส่วนนั้น เพราะผิวหนังในส่วนที่ได้รับรังสีจะแห้งกว่าปกติและไวต่อสารเคมี แสบ คัน เป็นแผลแตกเหมือนแผลน้ำร้อนลวกได้ง่าย ถ้าเป็นการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอ แนะนำให้หยุดใช้เครื่องสำอางซัก 2-3 เดือนหลังครบการฉายแสง เพื่อให้ผิวหนังกลับสู่สภาพใกล้เคียงปกติ

                       ก่อนจากอยากฝากว่าการฉายแสงไม่ทำให้มีรังสีตกค้างสะสมในร่างกายเหมือนการกินหรือฉีดน้ำแร่กัมมันตภาพรังสี เพราะรังสีจะออกมาจากเครื่องฉายแสงเฉพาะในช่วงที่กำลังฉายแสงในห้องเท่านั้น ดังนั้นหลังการฉายรังสีแต่ละครั้ง ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ตามปกติ ไม่ต้องกลัวว่าผู้ป่วยจะปล่อยรังสีอะไรออกมารบกวนสุขภาพของคนรอบข้างหรอกนะครับ...ขอบอก

 

---------------------------------

(รู้ทันมะเร็ง : เมื่อต้องไปฉายแสงรักษามะเร็ง : นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ)