ไลฟ์สไตล์

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

27 ก.ค. 2555

โรคมือเท้าปาก (Hand foot and mouth disease) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้หลายชนิดเรียกว่า "กลุ่มเอนเทอโรไวรัส" ที่พบบ่อยคือ ไวรัสคอกซากี เอ หรือบี และไวรัสเอนเทอโร 71 ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง

 จากที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปากในประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่งพบว่าเป็นชนิดรุนแรง และเป็นสาเหตุให้เด็กเล็กเสียชีวิตหลายสิบราย  สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบการการระบาดของโรคมือเท้าปากในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนหลายแห่ง ในบางเหตุการณ์ต้องมีการปิดศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ประกอบกับการระบาดของโรคนี้พบมากในช่วงฤดูฝน อากาศเย็น ชื้น ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 3 ปี เริ่มพบชนิดรุนแรงบ้างแล้วในบางพื้นที่ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง
อาการ
 1.อาจมีไข้นำมาก่อน จากนั้นอีก 1-2 วันต่อมา มีแผลในปากซึ่งมีลักษณะคล้ายแผลร้อนใน แต่มักมีหลายแผล ส่วนใหญ่พบที่บริเวณคอหอย หรือใกล้ต่อมทอนซิล หากเป็นมากจะลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล ร่วมกับพบตุ่มเล็กๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหายได้เอง เด็กบางรายมีเพียงแผลที่มือเท้าและปากโดยไม่มีไข้ 
 2.อาการของโรคแผลในคอหอย เด็กมีแค่แผลในปากอย่างเดียว ลักษณะแผลในปากเหมือนในกลุ่มที่มีอาการของโรคมือเท้าปาก แต่ไม่มีตุ่มน้ำที่มือและเท้า ส่วนไข้อาจมีหรือไม่มีก็ได้
 3.กลุ่มอาการรุนแรง ซึ่งมักมีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก หรือแขนขาอ่อนแรง สั่น หรือไม่รู้สึกตัว นอกจากนี้เด็กอาจมีอาการหอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ โดยที่เด็กอาจมีแผลหรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ปาก หรือไม่มีก็ได้ โดยอาการจะเกิดค่อนข้างเร็วภายใน 2-3 วัน
กลุ่มที่เสี่ยง
 วัยเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุต่ำกว่า 5 ปี มักพบการระบาดในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ในรายที่รุนแรงมักพบในเด็กเล็กมากๆ เช่น อายุ 1 ปีหรือน้อยกว่า จนถึงอายุ 3 ปี แต่เด็กโตก็พบได้บ้าง
การติดต่อ
 ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กๆ สัมผัสของเล่นหรือสิ่งของอื่นๆ ที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย จากนั้นใช้มือซึ่งสัมผัสเชื้อเหล่านั้นมาหยิบขนมหรืออาหารเข้าปาก นอกจากนี้อาจเกิดจากการแพร่ผ่านอุจจาระของเด็กที่ป่วยซึ่งเชื้อจะออกมากับอุจจาระมากที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย
การรักษา
 ขณะนี้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา นอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มากๆ 
การทำลายเชื้อ
 เชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัสนี้เป็นเชื้อที่ค่อนข้างทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน  โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเย็นหรือชื้นแฉะเชื้ออาจอยู่ได้เป็นเดือน นอกจากนี้การทำลายเชื้อต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วๆ ไปบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ รวมทั้งแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมืออาจไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ การทำลายเชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ใช้แสงอัลตราไวโอเลตในแสงแดด ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน การต้มที่ 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น น้ำยาฟอกขาว (อาจเป็นยี่ห้อไฮเตอร์ ไฮยีน คลอร็อกซ์) ตามวิธีใช้ที่เขียนไว้ข้างขวด
การป้องกัน
 เด็กยังไม่ป่วย ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย ก่อนรับประทานอาหาร หรือเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ผู้ปกครองให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย หลีกเลี่ยงการเล่น หรือคลุกคลีกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก หากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือเท้าปาก ให้พาไปพบแพทย์
 เด็กมีอาการป่วย แยกของใช้เด็กที่ป่วยไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น ดูแลให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปทิ้งในโถส้วม ทำความสะอาดพื้นห้องและพื้นผิวอื่นๆ ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ รวมถึงห้องสุขาและห้องน้ำ โดยล้างด้วยน้ำและผงซักฟอก แล้วตามด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน ส่วนของที่มีการนำเข้าปาก เช่น ของเล่น แก้วน้ำ ช้อน ล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกแล้วนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง แยกเด็กที่ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก หรืออาการแย่ลง ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
 หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือ 0-2590-3333
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข