ไลฟ์สไตล์

ไปชิม-น่องท่องบ้านมอญบางกระดี่

ไปชิม-น่องท่องบ้านมอญบางกระดี่

08 ก.ค. 2555

ไปชิมข้าวแช่ ขนมจีน ลอดช่อง ทอดน่องท่องบ้านมอญบางกระดี่ : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล

                 เรื่องเล่าคลาสสิกในแวดวงการทูตเรื่องหนึ่ง ที่ยังเล่าขานกันมิรู้จบจนวันนี้ คือ เมื่อราว 40 ปีก่อน ปัญหาการกดขี่ข่มเหงชนชาติส่วนน้อยในพม่า ถูกหยิบยกเป็นประเด็นถกเถียงในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ตัวแทนรัฐบาลทหารพม่า (เวลานั้น) แถลงต่อที่ประชุมแบบ "เอาสีข้างเข้าถู" ว่า บัดนี้ไม่มีชาวกะเหรี่ยง ชาวไทยใหญ่ ชาวมอญแล้ว ทุกคน ทุกชนเผ่ารวมกันเป็นชนชาติพม่าหมดแล้ว ทำให้มีนักการทูตคนหนึ่งยกมือขึ้นและกล่าวแย้งในทันทีว่า

                  "ไอ แอม เดอะ ลาสท์ มอญ" (ผมนี่ไง คนมอญที่เหลืออยู่)

                  นักการทูตท่านนั้น คือ นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ผู้มีเชื้อสายมอญผสมจีน ต้นตระกูลเป็นพญามอญ 1 ใน 7 หัวเมืองที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยาม และช่วยต่อต้านทัพพม่าในการศึกสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีชาวมอญอพยพเข้ามาสู่สยามประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง ชาวมอญบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ที่มีบ้านเรือนราษฎรกว่า 1,700 หลังคาเรือน นับเป็นชุมชนมอญที่ใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญคือ ยังรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญไว้อย่างเหนียวแน่น ในท่ามกลางวงล้อมของป่าคอนกรีตแห่งมหานครอันทันสมัย

                  ส่วนหนึ่งเพราะบางกระดี่มีคนรุ่นใหม่ที่อุทิศตน ทุ่มเททำงานอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมมอญอย่างจริงจัง ถึงขั้นดัดแปลงบ้านตนเองเป็น "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญบางกระดี่" เงินเดือนที่ได้จากการทำงาน ก็นำไปซื้อศิลปวัตถุ ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญามอญล้ำเลอค่า นำมาจัดแสดงไว้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ จะเข้ เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งแกะสลักไม้เป็นรูปตัวจระเข้จริงๆ ประดับกระจกวิจิตรตระการตา ชวนให้นึกถึงตำนานเล่าขานว่า สมัยก่อน หากจำต้องลี้ภัยสงครามสู่ลุ่มเจ้าพระยา ชาวมอญยังอุตส่าห์แบกเครื่องดนตรีอย่างฆ้องวง เปิงมาง ฯลฯ ติดตัวมาด้วย สะท้อนให้เห็นความเป็นศิลปินโดยสายเลือดของชนชาติมอญ

                  "ถ้าไม่ตัดสินใจซื้อไว้ตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน ป่านนี้คงจะถูกกว้านซื้อไปประดับบ้านเศรษฐีในยุโรปหรืออเมริกาแล้วละครับ"ธวัชพงษ์ มอญดะ หรือ "โอ" ประธานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมอญบางกระดี่เล่าให้ผมฟัง กล่าวได้ว่า วันนี้เขาคือเสาหลักทางวัฒนธรรมของชุมชน ใครทำพิธีอะไร แล้วไม่แน่ใจว่าถูกต้องตามธรรมเนียมมอญดั้งเดิมหรือไม่ จะต้องไปถามคุณโอ อย่างวันที่ผมไปเยือนบางกระดี่ มีพิธี "บูชาแม่ซื้อ" เพื่อเรียกขวัญเด็กเกิดใหม่พอดี คุณโออธิบายว่า เพราะเชื่อว่าทุกชีวิตล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป้องภัย เรียกกันว่า "แม่ซื้อ" ชาวมอญจึงทำพิธี "บูชาแม่ซื้อ" โดยวางเครื่องเซ่นสังเวยไว้ตรงหัวนอนเด็ก 7 วัน เป็นการปรนเปรอแม่ซื้อให้คุ้มครองเด็กให้ดีๆ

                  ปรนเปรอด้วยกล้วยน้ำว้า มะพร้าวหางหนู ผลไม้มงคล น้ำอบ ผ้าถุง ผ้าสไบ เครื่องประดับมวยผมของแม่ สมุดหนังสือให้เด็กมีวิชาความรู้ ด้ายเข็ม ให้เด็กมีสติปัญญาเฉียบแหลม แหวนใส่ในขันน้ำ ให้เด็กเปิดตามาเห็นโลกได้เร็วขึ้น โดยก่อนจะนำเด็กไปวางบนที่นอนต้องปูผ้าขาวจากบันไดถึงห้องนอน เป็นลาดพระบาท สำหรับให้พระพรหมและเทพยดามาอวยพรให้เด็กเป็นสิริมงคล ธรรมเนียมการบูชา "แม่ซื้อ" ยังปรากฏในวิถีมอญบางกระดี่ เป็นวงวัฏแห่งชีวิต จวบจนเมื่อจะสิ้นลมหายใจ ลูกหลานจะปูผ้าขาวให้อีกครั้ง แต่ปูจากที่นอนไปสิ้นสุดที่หน้าต่าง เพื่อเป็นทางดำเนินให้เทพยดามารับดวงวิญญาณผู้ตายกลับไปสู่สรวงสวรรค์

                  น่าสังเกตว่า แม้ชาวมอญจะนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการเซ่นสรวงผี บูชาเทวดา อย่างข้าวแช่ ที่ถือเป็นภูมิปัญญาชั้นสูง ในการประดิษฐ์คิดทำอาหารที่กินแบบเย็นแต่อร่อย ปัจจุบันคนไทยชอบกันมาก โดยน้อยคนจะรู้ว่า ข้าวแช่ หรือที่คนมอญเรียก "เปิงซังกรานต์" นั้น ทำขึ้นเพื่อเป็นอาหารบูชาเทวดา มีพิธีกรรมและขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน ปรุงเสร็จแล้วต้องนำไปถวายบูชาเทวดาก่อน แล้วจึงถวายพระ และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ที่เหลือจึงจะนำมากินกันเองในครัวเรือน

                  คุณโอ เล่าว่า พิธีกรรมการหุงข้าวแช่ เริ่มตั้งแต่คัดข้าวสารเม็ดสวย นำมาขัด 7 ครั้ง ซาวน้ำ 7 ครั้ง แล้วจึงตั้งเตาไฟหุงข้าวบนลานโล่งนอกชายคาบ้าน ห้ามหุงในบ้านเด็ดขาด พอหุงข้าวให้สุกพอเม็ดสวย จึงนำไปขัดกับผนังกระบุง 7 ครั้ง ส่วนน้ำที่จะกินกับข้าวแช่ ต้องใช้น้ำสะอาดต้มสุก เทลงหม้อดินเผาใบใหญ่ อบควันเทียนและดอกไม้หอม เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา ทิ้งไว้หนึ่งคืน ระหว่างนั้น พ่อบ้านต้องสร้าง "ฮ้อยซังกรานต์" หรือปะรำพิธีที่จะใช้วางถาดข้าวแช่ถวายเทวดา

                  ไม่น่าแปลกใจ ที่ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์จะระบุว่า อาณาจักรมอญในอดีตเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร และมีวัฒนธรรมรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราว 1,200 ปีก่อน ในยุคที่เรียกว่า "ทวารวดี" แม้ภายหลังจะพ่ายแพ้ต่อพม่าจนไม่มีประเทศของตนเอง แต่มอญก็ยังทิ้งมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมไว้มากมาย ตั้งแต่กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ ที่มาของชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพลงมอญดูดาว การละเล่นมอญซ่อนผ้า ไปจนถึงอาหารอย่างข้าวแช่ และโดยเฉพาะขนมจีน ที่แพร่หลายไปทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ การทำงานของคุณโอ ธวัชพงศ์ มอญดะ จึงมิใช่เพื่อเผ่าพันธุ์มอญเท่านั้น หากยังเกิดประโยชน์ต่อคนไทย ในฐานะที่วัฒนธรรมมอญเป็นต้นธารสายหนึ่งของวัฒนธรรมไทย  

                  การจะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้คนหนุ่มที่มีความมุ่งมั่นอย่างคุณโอ อาจทำได้โดยการรวมกลุ่มกันไป "ตามรอยอารยธรรมมอญบางกระดี่ ชิมข้าวแช่-ขนมจีน-ลอดช่อง ทอดน่องท่องบ้านรามัญ" โดยนัดหมายล่วงหน้ากับคุณโอ ธวัชพงศ์ ให้จัดเตรียมอาหารไว้ก่อน ได้ที่ 08-1131-5722

............................................
(ไปชิมข้าวแช่ ขนมจีน ลอดช่อง ทอดน่องท่องบ้านมอญบางกระดี่ : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล)