
เจ๊าะแจ๊ะวิทย์:รู้จัก'นาซา'กันเถอะ!!
คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ : รู้จักองค์การ 'นาซา' กันเถอะ!! : โดย ... พี่ฮัมมิ่งเบิร์ด
สวัสดีคะน้องๆ ตอนนี้หากใครได้ติดตามกระแสข่าว คงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ “นาซา (NASA)” เอ๋..แล้วน้องๆ ทราบกันใช่หรือเปล่าคะ ว่า “นาซา” เป็นองค์การอะไร มีหน้าที่อะไร ถ้ายังไม่แน่ชัด มาฟังกันค่ะ “นาซา” เป็นตัวย่อขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ The National Aeronautics and Space Administration ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) ตามพระราชบัญญัติการบินและอวกาศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานส่วนราชการ รับผิดชอบในโครงการอวกาศและงานวิจัยห้วงอากาศอวกาศ (aerospace) ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา คอยจัดการหรือควบคุมระบบงานวิจัยทั้งกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 องค์การนาซาได้ประกาศภารกิจหลักคือการบุกเบิกอนาคตแห่งการสำรวจอวกาศ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยทางการบินและอวกาศ
และแม้ องค์การดูจะชื่อเป็นวิทยาศาสตร์ แต่นาซามีกำเนิดจากเงื่อนไขด้านความมั่นคง ในช่วงที่สหรัฐทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต แต่ด้วยเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องอวกาศนั้นถือเป็นหน้าเป็นตาและเป็นการเสริมบารมีเหลือหลายให้ประเทศ
นาซามีศูนย์หลักๆ 13 แห่ง แต่ละแห่งมีหลายสาขา ถ้าต้องการจะค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็คือเว็บไซต์ NASA.GOV การศึกษาอวกาศ เป็นการค้นคว้าทั้งประวัติศาสตร์และอนาคต ซึ่งทำให้รู้ว่าเรามาจากไหนและจะไปไหน เราอยู่เดียวดายหรือมีเพื่อนใจ จักรวาลนี้ ทั้งเป็นการผสมผสานความหวังและความฝัน ดังนั้น จึงมีความหมายต่อมนุษยชาติ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ เป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา คนที่เข้าไปทำงานให้องค์การนี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน สถาบันวิจัยไหน นับว่าเป็นข้าราชการของรัฐ ซึ่งตามกฎของนาซา ระบุไว้ว่าบุคคลที่จะสอบบรรจุเข้าต้องเป็นชาวอเมริกันเท่านั้น คนต่างชาติที่เราเห็นทำงานกับนาซา คือ คนที่ได้สัญชาติอเมริกันแล้ว หรือชาตินั้นๆ มีโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับนาซา โดยผลงานวิจัยของนาซา ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักองค์การนี้มากขึ้นได้แก่ โครงการอะพอลโล สกายแล็บ เป็นต้น แล้วพบกันสัปดาห์หน้าคะ
(ขอบคุณข้อมูลดีๆจากอาจารย์คณะวิทย์ จุฬาฯ วิกิมีพีเดีย)
----------
(หมายเหตุ : คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ : รู้จักองค์การ 'นาซา' กันเถอะ!! : โดย ... พี่ฮัมมิ่งเบิร์ด <[email protected]>)
----------