ไลฟ์สไตล์

คมเลนส์ส่องพระ1กรกฎาคม2555

คมเลนส์ส่องพระ1กรกฎาคม2555

01 ก.ค. 2555

คมเลนส์ส่องพระประจำวันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 : แล่ม จันท์พิศาโล

              ••• วันนี้ (๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕) ตรงกับ วันลูกเสือแห่งชาติ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิด ลูกเสือไทย ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔ นับเป็นประเทศที่ ๓ ของโลก ที่จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น ต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยมีพระราชประสงค์ปลูกฝังให้เยาวชนรักชาติบ้านเมือง รักความสามัคคี มีความมานะอดทน และเสียสละเพื่อส่วนรวม...ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการเป็น ลูกเสือ มาก สมัยเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนแสงทองวิทยา หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับการคัดเลือกจากทางจังหวัดให้เป็นตัวแทนเดินทางเข้ามา ชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ณ สวนลุมพินี พระนคร (กทม.) เป็นการเฉลิมฉลอง ครบรอบ ๕๐ ปี ลูกเสือไทย เมื่อวันที่ ๑๙-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ จำนวนลูกเสือไทย ๕,๕๓๙ คนลูกเสือต่างประเทศ ๓๔๘ คน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผู้เขียนได้เข้ามากรุงเทพฯ ตื่นเต้นและดีใจมาก เมื่อถึง วันลูกเสือแห่งชาติ ครั้งใดก็อดไม่ได้ที่จะต้องย้อนคิดชีวิตตัวเองเมื่อ ๕๐ ปีก่อน •••
     
               ••• หมู่นี้ฝนตกบ่อยเพราะเป็น หน้าฝน ถือเป็นของธรรมดา แต่หากฝนไม่ตกนี่สิ ถือว่าไม่ธรรมดา แม้ว่าฝนจะตกหรือไม่ตกก็ตาม ทุกชีวิตใน สนามพระ ก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะเป็นอาชีพที่ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทั้งของตัวเองและครอบครัว ••• คมเลนส์ส่องพระ วันนี้ได้ภาพพระยอดนิยมมาหลากหลาย เริ่มจาก พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เนื้อดินเผา เป็น ๑ ใน ๕ ของ พระชุดเบญจภาคียอดนิยม ที่เช่าหากันที่หลักล้านขึ้นไป องค์นี้เป็นพระสวยสมบูรณ์มาก มีภาพอยู่ในหนังสือพระ จอมสุรางค์อุปถัมภ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ จัดทำโดย ท่านเสถียร เสถียรสุต นักสะสมพระเครื่องอาวุโส และเป็นเจ้าของพระส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่ได้ครอบครองพระองค์ใดองค์หนึ่งในหนังสือเล่มนี้จึงถือว่าได้ พระสุดยอดองค์สุดดัง ของวงการพระในอดีต ซึ่งนับวันจะหาชมองค์จริงในทุกวันนี้ได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เข้ารังเศรษฐีไปหมดแล้ว...พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ องค์นี้เป็นของ สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม •••
     
               ••• พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เป็นพระศิลปะอู่ทอง อายุความเก่าประมาณ ๗๐๐ ปี พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานเขียง พระพักตร์เหมือนคนแก่ อันเป็นที่มาของชื่อ พิมพ์หน้าแก่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของพระพิมพ์นี้ นอกจากนี้ปลายพระหัตถ์ซ้ายยาวไม่จรดพระกรขวา, พระเนตรซ้ายยาวรีลึกและตวัดปลายขึ้นสูงกว่าพระเนตรด้านขวา, พระนาสิกหนาใหญ่, พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย, พระกรรณขวายาวกว่าพระกรรณซ้าย, พระอุระใหญ่ลักษณะคล้ายหัวช้าง ฯลฯ การพิจารณาพิมพ์พระเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้พระเครื่องแต่ละประเภท หากมีโอกาสได้เห็น พระแท้องค์จริง ย่อมรู้ได้เร็วขึ้น •••
     
               ••• พระยอดขุนพล เป็นพระเครื่องที่มีพิมพ์ทรงองค์พระประณีตงดงามอลังการสุดๆ โดยเฉพาะ ซุ้มเรือนแก้ว มีลวดลายสวยงามเป็นพิเศษ จนน่าเชื่อว่าเป็นฝีมือการออกแบบและแกะแม่พิมพ์โดย ช่างหลวงในราชสำนัก สมัยลพบุรี อันเป็นต้นกำเนิดของพระพิมพ์นี้ โดยสังเกตจากลักษณะของ เทริด บนพระเศียร และ บัวเล็บช้าง ตรงฐานองค์พระ พระพิมพ์นี้ อ.ประชุม กาญจนวัฒน์ เจ้าของนิตยสารพระเครื่อง “ชาตรี” ที่โด่งดังมากเมื่อ ๒๕ ปีก่อน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น เซียนพระระดับปรมาจารย์ ท่านหนึ่งได้เขียนถึง พระยอดขุนพล ที่น่าแสวงหา ๓ เมือง คือ พระยอดขุนพล เมืองละโว้ (ลพบุรี), พระยอดขุนพล ชากังราว (กำแพงเพชร) และ พระยอดขุนพล อโยธยา (กรุวัดราชบูรณะ อยุธยา) แต่ละองค์ล้วนมีพุทธศิลป์ในทางเดียวกัน คือ งดงามอลังการเป็นพิเศษ องค์ในภาพคือ พระยอดขุนพล ชากังราว กรุทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร กรุเดียวกับ พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก อีกทั้งยังมีเนื้อพระที่เหมือนกันด้วย คือ เนื้อดินละเอียด นุ่ม สีดำอมเขียว ที่พิเศษคือ พระยอดขุนพล ชากังราว องค์นี้เป็นพระเต็มฟอร์ม สวยสมบูรณ์มาก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับทหาร-ตำรวจระดับนายพล หรือนักบริหารชั้นสูง ข้าราชการผู้ใหญ่ และนักการเมืองผู้มุ่งมั่นจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ควรจะมีพระระดับ ยอดขุนพล ไว้เสริมบารมีให้สมกับชื่อพระ องค์นี้เป็นพระของ สมาน คลองสาม ผู้ชำนาญพระกรุทุกชนิด •••
     
               ••• สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนฯ ทรงมีความศรัทธาเลื่อมใส พระกริ่ง เป็นอย่างยิ่ง ด้วยพระองค์ได้ทรงพบเห็นคุณวิเศษของพระกริ่งที่ใช้ทำ น้ำพระพุทธมนต์ ได้อย่างมหัศจรรย์ จึงทรงประกอบพิธีเททองหล่อ พระกริ่ง เป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ซึ่งตรงกับวันประสูติของพระองค์ ถือเป็นฤกษ์ดีแห่งการประกอบสิ่งที่เป็นสิริมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ พระกริ่ง ที่ทรงสร้างขึ้นจึงมีทุกช่วงแห่งการครองสมณศักดิ์ โดยเรียกพระกริ่งแต่ละรุ่นตามตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ทรงครองอยู่ในขณะนั้น อย่างเช่น พระกริ่งพรหมมุนี เป็นพระกริ่งที่ทรงสร้างในช่วงที่ทรงครองสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี (ระหว่างปี ๒๔๕๕-๒๔๖๖) พระกริ่งพรหมมุนี จึงมีหลายรุ่นด้วยกัน องค์ในภาพนี้เป็น พระกริ่งพรหมมุนี อีกรุ่นหนึ่งที่นิยมกันมาก เป็นพระของ เล็ก รูปหล่อ นักพระเครื่องรุ่นใหญ่ผู้ชำนาญพระกริ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเวลานี้ได้เปิด ชมรมพระเครื่องโลตัสปิ่นเกล้า ขึ้นที่ห้างโลตัสปิ่นเกล้า ที่นี่มีเซียนพระรุ่นใหญ่ร่วมเปิดร้านกว่า ๕๐ ร้าน และตู้พระอีก ๘๐ ตู้ ที่จอดรถมีมากสะดวกสบายดี •••
      
               ••• หลวงพ่อวงศ์ วัดบ้านค่าย จ.ระยอง (พระครูวิจิตรธรรมานุวัติ) เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาไสยศาตร์ โหราศาตร์ เเละเเพทย์เเผนโบราณที่เก่งมากท่านหนึ่งในภาคตะวันออก สมัยเดียวกับ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี ท่านทั้งสองต่างรู้จักมักคุ้นกันดี... หลวงพ่อวงศ์ เกิดที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อพ.ศ.๒๔๐๐ อุปสมบท ณ วัดบ้านค่าย เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ โดยมี หลวงปู่สังข์เฒ่า วัดละหารไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี วัดบ้านค่าย เป็นพระกรรมาจารย์ พระอาจารย์ห่วง วัดหนองกะบอก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จำพรรษาที่วัดบ้านค่ายจนถึงพรรษาที่ ๑๐ พ.ศ.๒๔๓๓ หลวงพ่อวงศ์ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านค่าย ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ขณะที่วิชาอาคมของท่านก็เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่อง น้ำพระพุทธมนต์ เป็นที่เลื่องลือกันมาก เพราะท่านทำปีละครั้งเท่านั้น คือ วันบูชาครูเเละอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้ให้กำเนิด ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ สิริรวมอายุ ๘๓ ปี พรรษา ๕๙ เหรียญที่ท่านปลุกเสกมี ๕ รุ่น คือ รุ่นแรก พิมพ์พระพุทธชินราช (เหรียญบัวผุด) พ.ศ.๒๔๗๒ รุ่นสอง รุ่น “บ้านไข้” ชื่อวัดแกะผิดเป็น วัดบ้านไข้ (สระไอไม้มลาย) ถือเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่านนิยมสูงสุด รุ่นสาม พ.ศ.๒๔๗๗ รุ่น “บ้านใข้” ชื่อวัดแกะผิดเป็น วัดบ้านใข้ (สระไอไม้ม้วน) รุ่นสี่ พ.ศ.๒๔๗๘ รุ่น “บ้านค่าย” ชื่อวัดแกะถูกต้องคือ “วัดบ้านค่าย” รุ่นห้า พ.ศ.๒๔๘๐ รุ่น “ฉลองอายุ ๘๐ ปี” เหรียญในภาพที่เห็นนี้ คือ เหรียญรุ่นแรก ที่เป็นรูปเหมือนของท่าน เจ้าของเหรียญคือ ชรินทร์ สงขลา ผู้ชำนาญเหรียญพระบอกว่าเหรียญนี้สร้างระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๗ เป็นเหรียญนิยมสูงสุด เนื้ออัลปาก้า ขอบเลื่อย ราคาหลักแสนต้น เป็นเหรียญระดับคลาสสิกเหรียญหนึ่งของนักสะสมเหรียญพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่หายากยิ่ง •••
      
               ••• พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังเตารีด พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ เป็นพระหล่อโบราณ แยกพิมพ์ตามภาษาเรียกในวงการพระได้ดังนี้ ๑.พิมพ์หน้าอาปาเช่ แข้งขีด (นิยมสุด) ๒.พิมพ์หน้าอาปาเช่ แข้งธรรมดา (ไม่มีขีด) และ ๓.พิมพ์หน้าแหงน ... คำว่า “อาปาเช่” มาจากใบหน้าของ หลวงพ่อทวด ลักษณะที่แก้มมีขีดคล้ายใบหน้านักรบอินเดียนแดงเผ่า “อาปาเช่” ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกันมานับพันปี...ปกติ พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์เล็ก องค์ที่หล่อออกมาไม่คมชัดเท่าที่ควร จะมีการตอกแต่งเติมให้ดูสวยคมชัดมากยิ่งขึ้น ส่วนมากจะตอกบริเวณหน้าผาก ตา และร่องแก้ม กรณีที่มีการตอกมาแต่ดั้งเดิมจะทำให้องค์พระดูมีเสน่ห์ไปอีกอย่าง (เช่นองค์ที่ลงโชว์ในวันนี้) ยกเว้นองค์พระที่นำมาตอกใหม่ เพื่อพรางจุดด้อยขององค์พระ เช่นนำพระสึกมาตอกใหม่ และปรับสภาพผิวให้ดูเก่าเสมือนพระดั้งเดิม กรณีนี้ต้องระวัง แต่สำหรับผู้ชำนาญการแล้วสามารถแยกแยะได้ไม่ยาก โดยดูจากธรรมชาติของร่องที่ตอกนั้น...พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์เล็ก  หน้าอาปาเช่ แข้งขีด องค์ที่นำมาโชว์นี้เป็นพระที่มีสภาพสวยมากๆ ไม่ผ่านการใช้มาก่อนเลย สภาพพระอ้วนล่ำ หน้าใหญ่ บัวตูมติดทุกเม็ด ดินเบ้าและคราบยาดำครบสูตร มีรอยตอกเก่าที่บริเวณหน้าผาก ทำให้ดูง่ายชนิดไม่ต้องส่องแว่นขยาย ค่านิยมพระพิมพ์นี้ที่สวยๆ อย่างนี้ทะลุหลักสามแสนไปแล้วในชั่วโมงนี้ องค์นี้เป็นพระของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวะ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเคยคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้ว •••
      
               ••• พระหลวงพ่อทวด  หลังเตารีด พิมพ์เล็ก หน้าอาปาเช่ อีกองค์เป็นพิมพ์ แข้งธรรมดา (ไม่มีขีด) องค์นี้เป็นพระสภาพเดิมๆ เหมือนกับองค์แข้งขีด เป็นพระของ  ชัยนฤทธิ์ เพชรพันธุ์ทอง ผู้ชำนาญการ พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้  โดยเฉพาะ ด้วยความรอบรู้ในพระสายนี้อย่างเอกอุ ทำให้มีผู้อยากเรียนรู้ พระหลวงพ่อทวด ไปขอฝึกวิทยายุทธ์จนสำเร็จชำนาญการไปแล้วหลายคน และคนสำคัญสุดที่กำลังเรียนรู้อยู่ในเวลานี้ คือ “น้องกร”  ลูกชายรูปหล่อมากๆ จนน่าจะไปเป็น ดารา มากกว่ามาเป็น เซียนพระ หน้าตาแบบนี้เปิดตัวเมื่อไรรับรองสาวๆ ติดกันตรึมแน่ๆ •••
      
               ••• พระรูปเหมือนหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็น ๑ ใน ๕ ของชุดเบญจภาคีพระรูปเหมือนยอดนิยมของพระคณาจารย์ยุคเก่า อันประกอบด้วย รูปเหมือนหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, รูปเหมือนหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ, รูปเหมือนหลวงพ่อสุข วัดโพธิ์ทรายทอง, รูปเหมือนหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ และ รูปเหมือนหลวงพ่อยอด วัดหนองปลาหมอ แต่ละองค์มีค่านิยมอยู่ที่หลักแสนขึ้นไปถึงหลักล้าน...รูปเหมือนหลวงพ่อยอด สร้างด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ โดยฝีมือช่างจากบ้านช่างหล่อ บางกอกน้อย แบบเดียวกับ พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ... สำหรับการสร้าง รูปเหมือนหลวงพ่อยอด ตามประวัติที่ เต้ สระบุรี ได้เขียนไว้ในหน้าพระเครื่อง คม ชัด ลึก เมื่อหลายปีก่อน กล่าวว่า ... วัตถุมงคลในยุคแรกๆ ของ หลวงพ่อยอด อินฺทโชติ (พระครูประสุตสังฆกิจ) คือ ตะกรุด และ เหรียญรุ่นแรก พิมพ์เสมา สร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ ส่วน รูปเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้ว โดย พระครูวิบูลย์คณานุสรณ์ (เฉื่อย) วัดสหมิตร ซึ่งเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ โดยได้สร้าง รูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อยอด ด้วยเนื้อโลหะเพื่อเป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านและลูกศิษย์ พร้อมกับได้เททองหล่อ  รูปเหมือนขนาดเล็ก จำนวน ๕๐๐ องค์ ด้วยเนื้อทองเหลือง ใต้ฐานกว้านเจาะเพื่อบรรจุอัฐิ แล้วอุดทับด้วยโลหะทองแดงทุกองค์ ในครั้งนั้นได้เปิดให้สั่งจองทำบุญองค์ละ ๒๐ บาท ประกอบพิธีปลุกเสกโดยพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อคง วัดพุธไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อเกิด วัดสะพาน จ.นครนายก, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อนาค วัดหนองสีดา จ.สระบุรี, หลวงพ่อเที่ยง วัดศาลาแดง จ.สระบุรี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการสร้างรูปเหมือนรุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่นในสมัยต่อมา แต่ที่โด่งดังสุดคือ รุ่นแรก ที่เห็นในภาพนี้ ซึ่งเป็นพระของ พ.ต.ท.บุญชัย คงเจริญ สวป.หนองแค โดยผ่านการพิจารณามาแล้วว่าเป็น พระแท้ จาก เต้ สระบุรี ผู้ชำนาญพระหลายประเภทของ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย

               ••• พร้อมกันนี้ขอแจ้งให้ทราบว่า ชมรมพระเครื่องห้างทวีกิจ จ.สระบุรี ได้ย้ายจากชั้น ๓ ลงมาอยู่ที่ชั้น ๒ แล้ว มีตู้พระกว่า ๒๐ ตู้ ติดต่อได้ตามอัธยาศัย •• ขออภัย วันนี้ไม่มีคอลัมน์ เส้นทางนักพระเครื่อง เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอ วันอาทิตย์ต่อไปคงมีตามปกติ...ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ติดตามคอลัมน์นี้มาโดยตลอด รวมทั้งกำลังใจและคำแนะนำที่มีคุณค่า พบกันใหม่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ต่อไป...นะมัสเต •••