
ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียน
ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียน รองรับการศึกษาตลอดชีวิต : คอลัมน์ เปิดวิสัยทัศน์ : โดย ... กมลทิพย์ ใบเงิน
"คณะกรรมการสภาการศึกษา" หรือ บอร์ด กกศ. มี "ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั่งเก้าอี้ "ประธาน" โดยตำแหน่ง บอร์ด กกศ.มีบทบาทสำคัญยิ่งในการวางแผนการศึกษาระดับชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งบอร์ด กกศ.ชุดใหม่มีด้วยกัน 59 คน แยกเป็นบอร์ด กกศ.โดยตำแหน่ง 16 คน บอร์ด กกศ.ที่มาจากผู้แทนองค์กรต่างๆ 11 คน และบอร์ด กกศ.อีก 30 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากการคัดเลือกและสรรหาของ "5 องค์กรหลัก" ของกระทรวงศึกษาธิการ
ผศ.ดร.ประมา ศาสตระรุจิ ได้รับการคัดเลือกเป็น คณะกรรมการสภาการศึกษา ด้านการศึกษาเฉพาะทาง ที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 36 ปี เพราะเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2519 นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษา และการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ให้สามารถก้าวเข้าสู่สากลได้อย่างมั่นคง
ผศ.ดร.ประมา หอบดีกรีนักเรียนนอกจาก City University USA ระดับปริญาตรีและโทด้านบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ จากนั้นคว้าปริญาเอกคณะศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และวิทยากรพิเศษ ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (พีเอ็มคิวเอ) การวางแผนกลยุทธ์ การตรวจประเมินองค์กร การวางระบบ การวิเคราะห์เกณฑ์มาตรฐาน การบริหารจัดการองค์กร ด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ด้านบริหารจัดการ ด้านนโยบายและแผน
เคยได้รับมอบรางวัล อาทิ นักวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 โล่ประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ประดับเครื่องหมายนักโดดร่มชั้นกิตติมศักดิ์ และรับมอบใบประกาศนียบัตรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555
"การศึกษาในระบบสอนให้เด็กท่องจำ เด็กเรียนเพื่อท่องจำความรู้ไปสอบ แต่ไม่ส่งเสริมให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ได้ ผมมองว่าต้องปรับการเรียนการสอนใหม่ ด้วยการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัยในแต่ละเรื่องด้วย เช่น การปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม ควรเริ่มในเด็กเล็กก่อน และสอดแทรกเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้าในบทเรียนในทุกช่วงชีวิตที่เรียน
การออบแบบการเรียนรู้ควรมีตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชราหรือจนกว่าจะเสียชีวิต เพราะการจัดการศึกษายุคนี้ควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อความเท่าเทียมกัน ตามนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การศึกษาต้องเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้จะสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ แต่รากฐานการศึกษาในวัยเด็กต้องดี"
เมื่อการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ครูเน้น "บอกความรู้ให้เด็ก จด จำ" น่าเป็นห่วงอนาคตของเด็กไทยและอนาคตการศึกษาไทย เมื่อเด็กไทยคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น แก้ไขปัญหาไม่เป็น
"ผมในฐานะหัวหน้าทีม เตรียมเสนอคณะกรรมการสภาการศึกษา เพื่อกำหนดแผนการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่คนทุกคน ไมว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน วัยชรา เพื่อให้สามารถนำความรู้ ความสามารถ ผ่านประสบการณ์มาเทียบโอนความรู้ได้ตลอดชีวิต เพราะโลกยุคโลกาภิวัตน์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา หากเราหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่เราก็จะไม่ทันโลก จะเป็นคนที่ล้าหลัง ถูกคนเอาเปรียบได้ คาดว่าแผนดังกล่าวจะเสร็จเดือนกันยายน 2555 จากนั้นเสนอจะบอรด์ กกศ.เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป"
เครื่องมือในการเรียนรู้ต้องพร้อม ความจริงไทยมีอยู่แล้วแต่ยังไม่เกิดการ "บูรณาการ" ที่สมบูรณ์ หากอยากเห็นจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพเหมือน ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา หรือ บดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) อาจจะขยายรูปแบบการสอนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ไปยังโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา หรือ อีทีวี อยู่แล้ว แต่ร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่กำลังขยายไอซีทีชุมชน 1,800 ศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อระบบเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่มีทั้งอินเทอร์เน็ตๆ ไวไฟพร้อม ครูพร้อม เครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็กพร้อม เด็กจะได้ชมการสอนแบบสดๆ ด้วยครูที่เก่งพร้อมๆ กันทั่วประเทศ
ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมแต่ละบุคคล นี่คือก้าวสำคัญของการศึกษาไทยเพื่อความเท่าเทียมกัน และนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของ "ผศ.ดร.ประมา ศาสตระรุจิ" เลือดใหม่บอร์ด กกศ.คนนี้
----------
(หมายเหตุ : ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียน รองรับการศึกษาตลอดชีวิต : คอลัมน์ เปิดวิสัยทัศน์ : โดย ... กมลทิพย์ ใบเงิน)
----------