ไลฟ์สไตล์

'สุรินทร์-อีสาน' ลุ่มน้ำมูลเชื่อมน้ำโขง

'สุรินทร์-อีสาน' ลุ่มน้ำมูลเชื่อมน้ำโขง

17 มิ.ย. 2555

คอลัมน์ : อมหมึก-เคี้ยวกระดาษ : 'สุรินทร์-อีสาน' ลุ่มน้ำมูลเชื่อมน้ำโขง สยาม-ขแมร์การสู่ประชาคมอาเซียน : โดย...ผู้สื่อข่าวบ้านไพร /ภาพ สุพจน์ อภัยสุวรรณ

                         คล้อยหลัง “ร่องรอยกาลเวลา” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย, สโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล เริ่มขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มาถึงครั้งที่ 2 ได้สัญจรไปยัง จ.สุรินทร์ ในชื่อ “ร่องรอยกาลเวลา : สุรินทร์ อีสาน ลุ่มน้ำมูลเชื่อมน้ำโขง สยาม-ขแมร์การสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน”

                         กิจกรรมมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมทองธารินทร์ โดยการประสานงานหลัก ผอ.ณรงค์ แผ้วพลสง ผอ.สพป.สุรินทร์ เขต 1 บรรยากาศในภาคเช้าเริ่มต้นด้วยสัมโมทนียกถา จาก พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) วัดบูรพาราม

                         พอเริ่มเข้าพิธีการ กฤษฎากร ชุติกุลกีรติ ผอ.สพป.สุรินทร์เขต 3 เป็นตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 4 เขต กล่าวรายงาน และสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดการประชุม ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นประวัติศาสตร์ชาติ กับ ประวัติศาสตร์ประชาคมอาเซียน” ในหัวข้อนี้มี ปรีดา ข้าวบ่อ บก.นิตยสารทางอีศาน ดำเนินรายการ มีกูรูด้านสื่อมวลชน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่พาย้อนกลับไปเมื่อแรกตั้งอาเซียนขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 และสิ่งที่คนไทยต้องเตรียมพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเดียวกันในปี 2558 พร้อมกับการปรับตัวที่จะยืนอยู่บนความภาคภูมิใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องพร้อมกับความหลากหลาย ซึ่งหลักรัฐศาสตร์มองว่า ความหลากหลายเป็นสิ่งที่งดงาม ไม่ใช่ที่สร้างความแตกต่างหรือแตกแยก

                         ด้าน ทองแถม นาถจำนง นายกสมาคมนักกลอนฯ ได้หยิบประเด็นประวัติศาสตร์ความเป็นเครือญาติจากตำนานนิทานเรื่อง น้ำเต้าปุง และพัฒนาการทางสังคมที่เชื่อมโยงความเป็นอาเซียนตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิจนมาถึงยุคปัจจุบัน

                         ในส่วน ดร.ดำเกิง โถทอง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ บอกเล่าถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสายตาของคนนอกที่มองมาในเฉพาะเรื่องค่านิยม ขณะเดียวกันก็อยากให้รู้ว่า ที่สุรินทร์มีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ละเชื้อชาติปะปนอยู่ด้วยกัน

                         ภาคบ่ายเป็นการแบ่งห้องสัมมนา ซึ่งมีสามหัวข้อด้วยกัน ตั้งแต่ “ศิลปะ ภาษากวี ดนตรีชีวิต สุ้มเสียงวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์” มี แดง เจดีย์ นักจัดรายการเพลงลูกทุ่งดำเนินรายการ วิทยากรโดย สุรินทร์ ภาคศิริ ครูเพลงชื่อดัง ซึ่งบอกเรื่องราวความเป็นมาของเพลง ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่แต่งให้ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู รวมทั้ง เพลงลำกล่อมทุ่ง ที่หยิบยืมทำนองลายเพลงจากขับลำหลวงพระบางมาประยุกต์ ในวงยังมี ไชยา วรรณศรี อดีตประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน และวีระ สุดสังข์ มาพูดถึงเพลงในบทกวี รวมทั้งเพลงที่ทำเกี่ยวกับชาติพันธุ์ผู้คนสองฝั่งโขง

                         ในห้องที่ 2 วิวัฒน์ โรจนวรรณ อดีตประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ดำเนินรายการ โดยมี ดร.ไพโรจน์ เพชรสังหาร อดีตวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ได้ให้ภาพความเป็นสองฝั่งโขงที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นจารึก, สิม, ฮูบแต้ม และการเข้ามาของพระพุทธศาสนาที่มีการค้าและการปรับเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิม

                         ส่วน ไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศน์ ได้เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะชุมชนวัฒนธรรมลุ่มน้ำมูลอีสานใต้นี้ถือว่าส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมขอม” นับถือศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ แต่มีศาสนาพุทธอยู่ด้วย แล้วสร้างปราสาทหินทั่วไป สร้างเมืองรูปสี่เหลี่ยม ขุดคูน้ำเอาดินกองเป็นเนินกำแพง ขณะที่ ดร.ดำเกิง โถทอง ได้ต่อเติมประเด็นที่พูดไว้จากภาคเช้า และมีการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างออกรสชาติ

                         ในห้องสุดท้าย โลกทรรศน์สุนทรภู่ภูมิศาสตร์ในอุษาคเนย์ ดำเนินรายการโดย พินิจ นิลรัตน์ ชี้สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามว่า สุนทรภู่ เกี่ยวอะไรกับ “อาเซียน” งานนี้ ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต ได้ขยายความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุนทรภู่ ที่ยังเป็นความเข้าอย่างเดิมคือ เกิดบ้านกร่ำ เมืองแกลง กับหลักฐานข้อเท็จจากงานเขียนสุนทรภู่ที่เกิดวังหลัง เป็นผู้ดีบางกอก ที่มีการชำระใหม่ รวมทั้งภูมิศาสตร์สุนทรภู่ในเรื่องพระอภัยมณี ที่เชื่อมโยงผู้คนนานาชาติและความหลากหลายจินตนาการ แม้กระทั่งคนชาติต่างที่ปรากฏในเรื่อง

                         ด้าน จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ได้หยิบเอา นิราศเพลงยาวรำพันพิลาป ของ สุนทรภู่ มาเป็นกรณีศึกษา หากอ่านไปจะพบเส้นทางการค้าในนิราศเรื่องอื่นๆ ที่เป็น Land Link เชื่อมโยงในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องการค้าเสรีในอดีตยุคต้นรัตนโกสินทร์

                         ส่วน วัฒนะ บุญจับ ได้บอกถึงเสียงในวรรณกรรมของสุนทรภู่ คลังความรู้ ภูมิศาสตร์ รหัสคดีที่สุนทรภู่ซ่อนไว้กับการเมืองและสังคมในยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีซ่อนเรื่องให้ค้นหามากมาย

                         กิจกรรม “ร่องรอยกาลเวลา” จะมีครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน อีก 2 ครั้ง คือ วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และอีกครั้ง วันที่ 28-29 มิถุนายน ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ โปรดติดตามโดยพลัน

-----------------------------

(คอลัมน์ : อมหมึก-เคี้ยวกระดาษ : 'สุรินทร์-อีสาน' ลุ่มน้ำมูลเชื่อมน้ำโขง สยาม-ขแมร์การสู่ประชาคมอาเซียน : โดย...ผู้สื่อข่าวบ้านไพร /ภาพ สุพจน์ อภัยสุวรรณ)