ไลฟ์สไตล์

'อัลมาตี้'เมืองน่าอยู่ผู้คนหลากหลาย

'อัลมาตี้'เมืองน่าอยู่ผู้คนหลากหลาย

17 มิ.ย. 2555

'อัลมาตี้'เมืองน่าอยู่ผู้คนหลากหลาย : คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า : โดย...กาญจนา หงษ์ทอง

                ป้วนเปี้ยนอยู่ในเอเชียกลางกันแบบติดพัน  จากอุซเบกิสถานแทนที่จะพุ่งกลับขวานทอง แต่ขอแวะเก็บตก คาซัคสถาน อีกซักประเทศ ไหนๆ ก็เถลไถลมาแถวนี้แล้วจะปล่อยผ่านประเทศคาซัคสถานไม่ได้จริงๆ  เพราะเป็นประเทศที่น่าสนใจในหลายแง่มุม ทั้งประวัติศาสตร์  ธรรมชาติ และวัฒนธรรมของผู้คน

                แทนที่จะใช้เมืองหลวงอย่างอัสตานาเป็นจุดออกตัวเที่ยว  แต่นักท่องเที่ยวเกือบร้อยทั้งร้อยส่วนใหญ่หย่อนตัวลงที่ อัลมาตี้ เมืองที่ถึงไม่ได้เป็นเมืองหลวง แต่จัดว่าเป็นฮับของอุตสาหกรรมการบิน แถมยังเป็นเมืองน่าเที่ยวของประเทศนี้อีกด้วย

                ปกติจากกรุงเทพฯ ไปคาซัคสถาน  มีสายการบินแอร์อัสตานา (0-2634-2552-3) บินตรงแบบม้วนเดียวจบ 7 ชั่วโมงกว่ามาถึงเมืองอัลมาตี้เลย เรื่องบริการและความสะดวกสบายบนเครื่องก็ต้องบอกว่าได้มาตรฐานหายห่วง คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับสายการบินแอร์อัสตานาเท่าไหร่  แต่ที่จริงแล้วเขามีเที่ยวบินเชื่อมกับยุโรปและเอเชียหลายเส้นทางเหมือนกัน

                ส่วนเรื่องที่หลับที่นอน บอกไว้ตรงนี้เลยว่า คาซัคสถานติดอันดับประเทศที่ค่าครองชีพสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก  โดยเฉพาะที่เมืองอัลมาตี้ จะหาโรงแรมราคาถูกๆ นี่ยากมาก ราคาที่พักนอนที่อัลมาตี้คืนเดียว เท่ากับนอนโรงแรมที่อุซเบกิสถานได้ 3 คืน เลยต้องพึ่งพาเว็บไซต์อโกดา(www.agoda.com) ให้ช่วยสแกนหาที่พักราคาแบบที่พอรับได้แต่ทำเลก็ต้องพอไหวด้วย  คลิกหาอยู่ไม่นาน  ก็ได้ที่พักแบบที่เล็งเอาไว้ 

                รู้แต่ว่าแพง แต่ไม่ยักรู้ว่าประเทศมุสลิมอย่างคาซัคสถานจะมีโบสถ์รูปโดมทรงหัวหอมตั้งกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่ถ้าคัดโบสถ์ที่อยู่ในหมวดจำเป็นต้องไป  คงจะมีโบสถ์เซนคอฟที่อยู่ใจกลางเมืองและโบสถ์เซนต์นิโคลัสที่อยู่ชานเมือง

               โบสถ์สีเหลืองสดและสีฟ้านวลตาทั้ง 2 แห่งนี้เป็นโบสถ์คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์อายุเกินร้อยปีที่สวยข่มหลายโบสถ์ในรัสเซียได้สบายๆ และเป็นเพราะโบสถ์ 2 แห่งนี้นี่เอง ที่เติมให้อัลมาตี้มีกลิ่นของรัสเซียลอยอ้อยอิ่งอยู่ทุกหัวมุมถนน 

               เท่านั้นยังไม่พอ  อัลมาตี้ยังมี ถนนอารบัท  ที่เป็นเหมือนย่านสยามของบ้านเรา  วัยรุ่น นักช้อปและนักเดินทางเดินกันให้ว่อนไปหมด  ห้างหรูและช็อปของพวกแบรนด์ดังตั้งเรียงรายประดับถนน 

               เห็นแล้วก็ได้แต่คิดว่าสมแล้วที่อัลมาตี้ติดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุด 50 อันดับแรกของโลก  ที่จริงเคยติดอันดับ 30 ด้วย  พักหลังค่อยๆ ถูกลง  เรียกว่าค่าครองชีพแพงกว่าเมืองใหญ่ๆ อย่างโตรอนโตในแคนาดา ลอสแองเจลิสในอเมริกา และฮัมบรูกในเยอรมันซะอีก

               จะเรียกคาซัคสถานว่าเศรษฐีใหม่ก็ได้ เพราะสมัยที่สหภาพโซเวียตปกครองอยู่ที่นี่ยังจนอยู่  แต่พอเป็นอิสรภาพคาซัคสถานมาขุดเจอน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเลสาบแคส เปียน  ทำให้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับโลกขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

               คาเฟ่ ร้านอาหารและแบรนด์เนมเป็นแค่ของประดับถนน แต่ที่ทำให้อารบัทกลายเป็นถนนคนเดินที่น่าเดินมากขึ้นก็น่าจะเป็นพวกภาพเขียนที่ศิลปินชาวคาซัคหอบมายึดพื้นที่กลางถนน ตั้งดักลูกค้าตั้งแต่กลางวันไปยันหัวค่ำ  บอกได้เลยว่าฝีมือเนี๊ยบมาก  ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนชาวคาซัคที่อยู่หลังม่านเหล็กมาซะนาน จะมีจินตนาการและฝีมือที่เยี่ยมยุทธ์ขนาดนี้

               ขืนตั้งเป้าหิ้วภาพเขียนสีน้ำมันกลับบ้าน มีหวังว่าไม่ได้เห็นอัลมาตี้ในมุมอื่นแน่  เพราะมีให้เลือกชนิดมืดฟ้ามัวดิน  จนน่าจะเปลี่ยนชื่อจากถนนอารบัทมาเป็นถนนอาร์ทสะบัดมากกว่า

              ในระยะเดินซักหอบสองหอบจากถนนอารบัท  จัตุรัสเก่า หรือ จัตุรัสอัสตานา รอฉันอยู่ที่นั่น ท่ามกลางสีเขียวครึ้มที่คลุมจัตุรัสแห่งนี้  มีรูปปั้นวีรสตรีของชาวคาซัคตั้งตระหง่านอยู่  ตรงข้ามจัตุรัสมีมหาวิทยาลัยประจำเมืองตั้งอยู่อย่างโอ่อ่าสมกับที่เคยเป็นอาคารรัฐสภาในยุคที่อัลมาตี้ยังเป็นเมืองหลวงเก่า   นอกเหนือจากตัวอาคารที่ใหญ่โตก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่นนัก  แต่เขาว่าน่าสนใจตรงที่ใต้ถุนตึก มีเสบียงและข้าวของจำเป็นสำหรับรับมือกับสงครามหรือภัยต่างๆ ได้สบายๆ อันนี้ไม่รู้จริงเท็จเป็นยังไง

              อาคารสำคัญหลายแห่งตั้งอยู่แถวจัตุรัสเก่า เพราะในช่วงที่อัลมาตี้ยังเป็นเมืองหลวง  ละแวกนี้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการปกครอง  แต่พอย้ายเมืองหลวงไปอยู่อัสตานา  อัลมาตี้ก็สร้างจัตุรัสใหม่เพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพที่ได้คืนจากรัสเซีย

              แต่จะจัตุรัสเก่าหรือใหม่  ก็ไม่น่าดูเท่าตลาด  ไอ้เรามันสิงห์ตลาดอยู่แล้ว ขอให้รู้เถอะว่าตลาดตั้งอยู่มุมไหนของเมือง  จะพุ่งไปหาในบัดดล  ที่อัลมาตี้ก็เหมือนกัน เขามี กรีนบาซาร์ ตลาดที่คึกคักมีชีวิตชีวาที่เปิดทุกวันตั้งแต่เช้าไปจรดค่ำ ยกเว้นวันจันทร์ 

              โปรดเคลียร์ท้องของท่านให้ว่างก่อนเดินเข้าตลาดนี้  เพราะเราจะถูกรบเร้าจากพวกพ่อค้าให้ชิมผลไม้แห้งจนพุงกางกันไปข้าง  ชิมแล้วจะซื้อหรือไม่ซื้อเขาก็ไม่ขัดข้องหรือด่าไล่หลัง ขอแค่ลั่นชัตเตอร์เก็บภาพเขาไปเป็นที่ระลึก เท่านี้ก็ยิ้มไม่หุบแล้วเดินไปคุยฟุ้งลั่นตลาด นี่แหละเสน่ห์ของตลาดแบบเอเชียขนานแท้

             เดินอยู่ในตลาดแล้วจะพบความจริงบางประการว่าอัลมาตี้ช่างเป็นเมืองที่มีผู้คนหลากหลายชาติ  เฉพาะพ่อค้าขายผลไม้แห้งยังมีทั้งจากทาจิกกิสถานและคีร์กิสถาน  แม่ค้าร้านโชห่วยในตลาดข้ามพรมแดนมาจากจีน เด็กหนุ่มจากแผงขายผักมาจากเติร์กมินิสถาน นี่ยังไม่นับโชเฟอร์แท็กซี่ที่เจอก็เป็นชาวรัสเซีย   คนในตลาดบอกว่ายังมีคนจากอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และยูเครนมาทำงานที่นี่กันเยอะแยะ 

             อาจจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ดูเหมือนผู้คนก็สมานฉันท์กันดี  ไม่มีรอยร้าวเหมือนขวานทอง

.....................................
('อัลมาตี้'เมืองน่าอยู่ผู้คนหลากหลาย : คอลัมน์เที่ยวนี้ขอเล่า : โดย...กาญจนา หงษ์ทอง)