ไลฟ์สไตล์

ตะลุยเมืองเกษตรกลางทะเลทราย(1)

ตะลุยเมืองเกษตรกลางทะเลทราย(1)

03 มิ.ย. 2555

ตะลุยเมืองเกษตรกลางทะเลทราย (1) เก็บตกจาก "อะกรีเทค2012" ที่เทลอาวีฟ : คอลัมน์ ท่องโลกเกษตร : โดย ... ดลมนัส กาเจ

          คณะของเราหมด 35 ชีวิต ที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ จะไปชมความอลังการของงานสุดยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรที่อิสราเอล ในงาน  “อิสราเอล อะกริคัลเจอร์ อินโนเวชั่น แอนด์ อะกริเทค 2012" (Israel Agriculture Innovation & Agritech 2012) หรือ "อะกริเทค 2012" จัดขึ้นที่กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2555  เป็นงานที่จัดแสดงนิทรรศการเครื่องมือการเกษตรที่ยิ่งใหญ่ของโลก งานนี้ 3 ปีจัดขึ้นครั้งหนึ่ง โดยปีนี้มีประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ จีน เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

          อิสราเอล เป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสามทวีป คือยุโรป เอเชีย และแอฟริกา จัดอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีพรมแดนติดกับเลบานอน ซีเรีย จอร์แดนและอียิปต์ มีประชากรราว 7 ล้านคน สภาพภูมิประเทศค่อนข้างแคบและยาว มีความยาวประมาณ 470 กม. กว้าง 135 กม. ครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง แต่อิสราเอลก็พัฒนาระบบชลประทานน้ำหยดใช้กับพืชอย่างคุ้มค่า จนปลูกพืชผักส่งออกไปยุโรปเป็นอันดับหนึ่ง

          การพัฒนาด้านการเกษตรของอิสราเอลต้องยอมรับว่า เขาเน้นด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพิชิตทะเลทราย และทำได้สำเร็จ จนทั่วโลกพากันยอมรับว่าสุดยอดจริงๆ โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงคือระบบน้ำหยดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และระบบชลประทานที่มีการกักเก็บอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ทั้งการขุดทะเลสาบ และในอุโมงค์ใต้ดินนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร นอกจากนี้ การสกัดเกลือออกจากน้ำกร่อยให้เป็นน้ำจืด และการนำน้ำเสียจากบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ซึ่งแต่ละวันมีถึง 300 ล้านลูกบากศ์เมตร เพื่อนำมาเพาะปลูกพืช

          ที่จริงอิสราเอลมีแหล่งน้ำที่สะอาดใต้ดินที่สำคัญเพียง 2 แห่ง และแหล่งเล็กๆ อีกหลายแห่ง อย่างที่ภูเขาในเขตจูเดีย-ซาทาเรีย เป็นแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติของอ่างกักน้ำใต้ดินที่ใหญ่และสำคัญที่สุด มีน้ำฝนที่ไหลมารวมกันบนหน้าหินของเนินเขาและจะไหลซึมสู่ชั้นหินหนาใต้ดิน และกลายเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่กระจัดกระจายออกไป นอกจากนี้ ยังมีท่อส่งน้ำขนาดใหญ่จากแม่น้ำจอร์แดนไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนความยาว 6,500 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำไปทั่วทุกมุมของประเทศ และเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งปวง ที่เอาชนะทะเลทรายมาได้นั้น ถูกนำมาแสดงในงานนี้

          คณะของเราไปถึงอิสราเอลในช่วงสายของวันที่ 13 พฤษภาคม 2555 ก่อนวันงานอะกริเทค 2 วัน ช่วงก่อนถึงวันงานเราแวะไปงานด้านอื่นๆ รวมถึงแวะเยือนสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ และได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตรของอิสราเอลจาก วนัสสุดา สุทธิรานี เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟว่า การเกษตรที่รุ่งเรืองของอิสราเอลนั้น เป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ในปัจจุบันภาคเกษตรกรรมเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวิจัยและการพัฒนาที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐบาล สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหาและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ 

          งานอะกริเทคครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะคนไทยเท่าที่ทราบมีหลายคณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หอการค้าไทย-อิสราเอล รวมถึงคณะที่สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยจัดพามา มีทั้งนักธุรกิจด้านการเกษตร นักวิชาการไปดูงาน คณะจากคณะทำงานด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสื่อมวลชน

          ภายในงานในฮอลล์ใหญ่ อยู่ด้านหน้าสุด จะเน้นงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านด้านเกษตรกรรม เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์พืช อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดิน ขุดดิน เพาะพันธุ์พืช การไถหว่าน อุปกรณ์ที่ช่วยย้ายต้นไม้ ระบบชลประทาน ระบบน้ำหยดที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ การควบคุมแมลง เรื่อยไปจนถึงการเพาะปลูกในเขตแห้งแล้ง โดยได้ปรับปรุงและพัฒนาวิทยาการใหม่ๆ เชิงวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างมากมายทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพ 

          นอกจากนี้ มีการโชว์อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์จำพวกเครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ๆ  โดยเฉพาะในโซนของนวัตกรรมมีการแสดงเครื่องมือสำหรับรีดนมวัวและเก็บไข่ ระบบการให้อาหารและการจัดเก็บข้อมูลการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ เครื่องมือไถหน้าดิน เครื่องมือบรรจุหีบห่อ และอุปกรณ์ที่ใช้เก็บผลผลิต รวมทั้งระบบการขนย้ายผลิตผลที่มีประสิทธิภาพ และการเลี้ยงสัตว์สวยงาม เป็นต้น

          สำหรับภาคการเกษตรกรของอิสราเอลที่กดำเนินอยู่มี 2 รูปแบบ คือคิบบุทส์ เป็นรูปแบบของการนิคม สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะมาร่วมกัน และแบ่งปันกำไรเท่าๆ กันในลักษณะของกงสีของชาวจีน และอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า "ชาร์บ" คือลักษณะทุนนิยมทำในที่ดินของตนเอง และมีรายได้เป็นของตนเอง 

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลอิสราเอลไม่ทุ่มเทให้การเกษตรแล้ว เพราะถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว จึงได้ทุ่มงบไปที่ด้านพัฒนาและวิจัยวิทยาศาสตร์ เพราะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า ส่วนการเกษตรนั้นเน้นบริโภคภายในประเทศและส่งออกบ้างมีรายได้เข้าประเทศ 10% ของมวลรวมทั้งประเทศ ส่วนรายได้หลักอยู่ที่การส่งออกเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรณ์ 

          ดร.สวาท สุทธิอาคาร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ บอกว่า ได้เห็นการแสดงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในภาคเกษตรที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่น่าสนใจมากคือระบบน้ำหยด ซึ่งอิสราเอลเป็นที่พัฒนาระบบน้ำหยด เป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลทางการทั้งขนาดเล็ก ขนาดที่เหมาะใช้ในพื้นที่กว้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรทั้งสิ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ควรจะนำระบบการจัดการน้ำ ระบบน้ำหยด หรือสปริงเกลอร์ แม้กระทั่งเทคโนโลยีในการเลี้ยงโคนม การเลี้ยงปลาในน้ำลึก เป็นต้น

 

          ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้พบเห็นจากที่ไปดูงานอะกริเทค 2012 ที่กรุงเทลอาวีฟ...อาทิตย์หน้าจะนำเสนอการเลี้ยงโคนมที่ทันสมัยที่สุด และให้ผลผลิตน้ำนมมากที่สุดในโลกอีกด้วย

 

 

----------

(หมายเหตุ : ตะลุยเมืองเกษตรกลางทะเลทราย (1) เก็บตกจาก "อะกรีเทค2012" ที่เทลอาวีฟ : คอลัมน์  ท่องโลกเกษตร : โดย ... ดลมนัส  กาเจ)

----------