ไลฟ์สไตล์

'นล' พันธุ์นุชิต ฝากคิด..บาสไม่ใช่ชีวิต

'นล' พันธุ์นุชิต ฝากคิด..บาสไม่ใช่ชีวิต

26 พ.ค. 2555

'นล' พันธุ์นุชิต ฝากคิด..บาสไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นงานอดิเรกได้ : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...กอบแก้ว แผนสท้าน - เรื่อง/ธนาชัย ประมาณพาณิชย์ - ภาพ

                      สิ่งที่ได้รับคือการเรียนรู้ทั้งคนทั้งเกม บางทีคนเราไม่ได้ชนะเสมอไป บางทีก็ต้องแพ้บ้าง แพ้มากกว่าชนะด้วย ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ

                      หลายๆ คนเมื่อรักใคร รักอะไร หรือรักสิ่งไหนมักจะทุ่มเทชนิดที่เรียกได้ว่า สุดลิ่มทิ่มประตู นิติกร 6 ฝ่ายสำนักคดี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) "นล" พันธุ์นุชิต โปษยานนท์ ก็เคยเป็นเช่นนี้กับกีฬา "บาสเกตบอล" ซึ่งเขารักและทุ่มเทการฝึกซ้อมให้เกมการเล่นยัดห่วงมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายล่วงเลยสู่รั้วมหาวิทยาลัย กระทั่งได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวอยู่นานนับปี จึงได้สัจธรรมสอนใจตัวเองว่า บาสไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นงานอดิเรก นับแต่นั้นเป็นต้นมา

                       ใจนึกอยากเป็นคนตัวสูง จึงคิดเล่นบาสเกตบอล ข้าราชการหนุ่มแห่ง สตง. เท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่เกมกีฬายัดห่วงจนติดอกติดใจเล่นเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ว่าเพียงเพราะอยากมีรูปร่างสูงมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

                      "สมัยผมเรียนมัธยมปีที่ 3 ตอนนั้นอยากตัวสูง แต่ก็ไม่ใช่เด็กตัวเตี้ยนะ ใจอยากเป็นคนตัวสูง ตอนนั้นใจคิดอย่างเดียวเลยว่าบาสเกตบอลน่าจะช่วยให้เราสูงขึ้นได้อีก พอมาเล่นแล้วมันเป็นเกมซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าได้เล่นกีฬาจริงๆ จังๆ ต่างจากกีฬาว่ายน้ำ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นบาสเกตบอลเล่นเป็นทีมทำให้สนุกและรู้สึกท้าทาย ตอนเรียนนั้นผมจัดว่าเป็นคนตัวใหญ่จึงได้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์คอยทำหน้าที่เก็บบอลของเพื่อนร่วมทีมที่พลาด พอมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่นบาสให้คณะ มีเพื่อนๆ ตัวสูงกว่ามากทั้งที่ผมเองก็สูงถึง 182 เซนติเมตร จึงปรับมาเล่นตำแหน่งปีกนอก ซึ่งต้องมีความคล่องตัวมากกว่าเดิม คือวิ่งให้เร็วขึ้น แต่ผมวิ่งไม่ค่อยเร็วหรอก" ทายาทคนเล็ก (แต่ตัวใหญ่สุด) ของ คุณพ่อ พ.ต.อ.(พิเศษ)อนุชิต คุณแม่ ทมยันตี โปษยานนท์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในวันวาน

                       สนุก ท้าทาย และได้เพื่อน คือเสน่ห์ผูกมัดใจให้หนุ่มวัย 32 ปีในวันนี้ ถึงกับเคยฝันจะเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ ถ้าไม่ใช่เพราะอุบัติเหตุในเกมจนเขาต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสด้วยการเลือกเส้นทางเดินตามรอยครอบครัวซึ่งทำงานรับราชการตั้งแต่บรรพบุรุษสมัยรุ่นปู่ทวดซึ่งเป็นต้นสกุล อภัยวงศ์ นั่นเอง

                      "เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมได้เข้าสนามเล่น ถือว่ายังเป็นเกมกีฬาที่สนุกและชอบเล่นอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าทุกคนที่เล่นบาสจะต้องมีความหวัง มีความฝันอยากจะเล่นอาชีพ แต่อุปสรรคแรกในสมัยนั้นคือ ไม่มีบาสอาชีพในเมืองไทย ส่วนจุดเปลี่ยนความตั้งใจของผมอีกอย่าง คือการประสบอุบัติเหตุระหว่างการเล่นบาส ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ปี 4 ขณะวิ่งขึ้นไปเลย์อัพแล้วชนกับเพื่อนลงมาแล้วเข่าบิดทำให้เอ็นหัวเข่าขาดจำได้ตอนนั้นเสียงดังเป๊าะ อารมณ์เหมือนคนข้อเท้าพลิก หลังจากนั้น 3 อาทิตย์ก็ไปแข่งอีกเพราะคิดว่าตัวเองหายดีแล้วแต่ยิ่งเจ็บหนักขึ้น หลังจากที่ต้องใช้เวลาดูแลตัวเอง 1 ปี ก่อนผ่าตัดและอีก 1 ปี หลังจากผ่าตัด ผมเลยโฟกัสที่เรื่องการเรียนเพราะใกล้จะจบทำให้ห่างๆ จากบาสไป ส่วนอีกเหตุผลที่ตัดใจแน่ๆ คือ นักกีฬาอาชีพเวลาบาดเจ็บเขามีต้นสังกัดคอยดูแลอย่างดี แต่ตอนนั้นผมเป็นแค่นักบาสเด็กๆ หากฝืนเล่นต่อก็กลัวว่าหากแข้งขามีปัญหาจนส่งผลให้ทำงานที่ไหนไม่ได้อาจทำให้ชีวิตเสียโอกาสได้ จึงได้ข้อสรุปว่า บาสไม่ใช่อาชีพของเรา" นิติกรหนุ่ม ดีกรีปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมาสทริกท์ (Maastricht University) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ อยู่ในชุดบาสอย่างเตรียมพร้อมเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยน

                       แพ้บ้าง ชนะบ้าง ได้เรียนรู้เพื่อนในสนามบ้าง คือ เสน่ห์ของเกมยัดห่วงที่ผูกใจให้อดีตพระเอกละครช่อง 3 หวนกลับลงสู่สนามอีกครั้ง แม้จะเป็นการเล่นเพื่อออกกำลังกายไม่ได้จริงจังเหมือนเมื่อครั้งเยาว์วัย

                      "พอกลับมาเล่นบาสอีกครั้ง เริ่มคิดได้แล้วว่าเราต้องเล่นเพื่อออกกำลังกาย ไม่ต้องจริงจังอะไรมากนัก เพราะเราเองก็มีหน้าที่การงานทำแล้ว คิดได้ว่า วันนี้บาสไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นงานอดิเรก ก็เลยเล่นแบบสนุก ขาดหายได้บ้าง หรือถ้าเพื่อนๆ เขาแข่งขันกันจริงจังมากผมเองก็จะเลี่ยงไปชู้ตๆ  เสร็จแล้วก็วิ่งจ๊อกกิ้งรอบสนามต่อ นอกจากการได้ยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อ ผมว่าสิ่งที่ได้รับคือการเรียนรู้ทั้งคนทั้งเกม บางทีคนเราไม่ได้ชนะเสมอไป บางทีก็ต้องแพ้บ้าง แพ้มากกว่าชนะด้วย ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ บางวันอาจจะเล่นดี บางวันอาจจะเล่นไม่ดี บางวันเพื่อนร่วมทีมอาจจะเล่นไม่ดีแต่ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบเป็นทีม ซึ่งผมคิดว่า ถ้าแพ้ก็คือแพ้ทั้งทีม ตราบใดที่เราเล่นเต็มที่แล้ว ถ้าแพ้ก็ไม่เป็นไร ถือว่าสุดวิสัยในสิ่งที่เราทำ ไม่จำเป็นต้องเสียใจกับมันมากขนาดต้องแบกรับความทุกข์ทั้งหมดไว้คนเดียว" หนุ่มนล แสดงทัศนคติ

                       ลูกกลมๆ โยนไปโยนมาเพื่อให้ลงห่วงให้ได้ภายใต้การร่วมมือร่วมใจของทีมฝ่ายละ 5 คน ผู้ชมจากข้างสนามอาจแค่สนุก ตื่นเต้น แต่ผู้เล่นเขาก็แอบหยิบจับบางจุดมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะหน้าที่การงานใน สตง. ซึ่งมีทั้งแบบการทำงานเดี่ยว ทำงานกลุ่ม รวมถึงต้องประสานงานระหว่างองค์กรได้อย่างดี

                      "งานหลักๆ ของผมซึ่งทำอยู่ในกลุ่มงานวิเคราะห์กฎหมาย ต้องศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อปรับปรุงเรื่องให้ดีขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีงานจรมาเรื่อยๆ ตามความรู้ความสามารถ อย่างเช่น ทำหน้าที่ดูแลเวลามีแขกจากต่างประเทศเดินทางมาดูงานบ้าง แปลเอกสารบ้าง หรือจากเดิมที่มีประสบการณ์ด้านงานบันเทิงมาก่อน เวลามีงานผมมักจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกรบ้างก็มี แน่นอนมีทั้งงานเดี่ยวงานกลุ่ม ซึ่งพอนำมาเปรียบเทียบกับการเล่นบาสเกตบอล ผมว่ามันคล้ายๆ กันนะ ทำให้เราเรียนเรื่องการทำงานได้ว่าคนมีหลายประเภท อย่างบางทีเล่นไม่ดีแต่โทษคนอื่น นั่นคือคนเห็นแก่ตัว ขณะเดียวกันคนที่เล่นสบายๆ ยิ้มแย้มแจ่มใสแพ้ก็ไม่เป็นไร นี่คือคนไนซ์แต่จริงจังกับการทำงาน บางคนไม่เก่งแต่คิดว่าตัวเองเก่ง นี่ก็มั่นใจในตัวเองเกินไป หรืออย่างน้อยผมได้เรียนรู้ว่าเวลาเข้าสังคมกับคนต้องทำตัวอย่างไร" หนุ่มนล บอกแนวความคิดที่ได้จากการเล่นบาสเกตบอล

                       แม้วันที่นัดคุยกันจะไม่มีโอกาสได้เห็น ข้าราชการหนุ่มผู้มีใจกีฬายัดห่วงได้เล่นแบบเต็มๆ ทีม เนื่องจากเป็นวันหยุด จึงได้แค่เล่นเบาๆ กับลีลาทั้งการเลย์ออฟลูกขึ้นแป้น ลีลาชู้ต และลีลาการเลี้ยงลูกหลบเลี่ยง ฯลฯ  ซึ่งพอจะรีดเหงื่อได้บ้าง และในฐานะผู้มีประสบการณ์ผ่านอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามาก่อน ก่อนโบกมือลาจาก เขายังมีข้อแนะนำมาฝากน้องๆ ที่คิดอยากจะเล่นกีฬาชนิดเดียวกันนี้ว่า

                      สิ่งสำคัญเรื่องอุปกรณ์ เด็กไทยชอบใส่รองเท้านักเรียนเล่น หรือบางรายไม่ทันใจถอดรองเท้าเลยก็มี ผมก็เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อน ซึ่งมันไม่ช่วยอะไรเลย ช่วยอย่างเดียวคือช่วยให้เจ็บเร็วขึ้น ประการที่สองเรื่องอุปกรณ์ซับพอร์ตต่างๆ คนอาจจะมองว่าเป็นแฟชั่น แต่เป็นสิ่งสำคัญใส่ไว้ก็ดี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องซื้อของยี่ห้อดังหรือราคาแพง อาจซื้อตอนลดราคาก็ได้ไม่ผิดอะไร ประการสุดท้ายเรื่องยืดหยุ่นกล้ามเนื้อเป็นสิ่งที่ถูกละเลยทั้งที่มีความจำเป็นทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา ถ้าดูนักกีฬาอาชีพเขาให้เวลากับตรงนี้เป็นชั่วโมงเพื่อให้กล้ามเนื้อพร้อม ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์ เล่นเลยไม่ได้ยืดหยุ่นก็เจ็บ สุดท้ายให้สนุกกับเกม อย่าจริงจังกับเกมมากเกินไป อย่าติดมาในชีวิตมากเกินหากไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ

................................
( 'นล' พันธุ์นุชิต ฝากคิด..บาสไม่ใช่ชีวิตแต่เป็นงานอดิเรกได้ : คอลัมน์ขอเวลานอก : โดย...กอบแก้ว แผนสท้าน - เรื่อง/ธนาชัย ประมาณพาณิชย์ - ภาพ)