
'พระยาอภัยภูเบศร-ม.บูรพา'เปิดหลักสูตรร่วม
'พระยาอภัยภูเบศร-ม.บูรพา'หลักสูตร'ร่วม'การแพทย์แผนไทย'
ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษากว่ายี่สิบแห่งเปิดสอน "หลักสูตรการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์" รวมทั้งมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ซึ่งร่วมมือกับ "มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย" เปิดสอนหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์" โดย 2 ปีแรก นิสิตจะเรียนที่คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ม.บูรพา บางแสน และจะย้ายไปปราจีนบุรี เพื่อเรียนปรีคลินิก ในปี 3 ที่วิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี และฝึกงานในปี 4 ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือโรงพยาบาลเครือข่ายอื่นๆ ก่อนจบออกไปเป็นบัณฑิตแพทย์แผนไทย
ประเด็นสำคัญที่ควรจะต้องพิจารณาคือ คุณภาพในการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตร "ร่วม" ดังกล่าว เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ นิสิตปี 2 ส่วนหนึ่งได้มีหนังสือขอให้ผู้บริหารพิจารณาให้นิสิตเรียนปี 3 (ปรีคลินิก) ต่อที่ ม.บูรพา บางแสน ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าในทุกด้าน ล่าสุด เมื่อต้นปี 2555 นพ.วิชาญ เกิดวิชัย คณบดี จัดประชุมนิสิตเพื่อชี้แจงแบบ "ปิดประตูตีแมว" โดยที่นิสิตไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น
ประเด็นปัญหาที่นิสิตกลุ่มนี้ประสงค์จะเสนอต่อผู้บริหาร และน่าจะเป็นประเด็นคำถามที่ผู้ปกครองรวมทั้งสาธารณชนที่สนใจปัญหาการจัดการศึกษาร่วมสถาบันอยากจะได้รับคำตอบจากผู้บริหารของ ม.บูรพา มากที่สุดสองประเด็น คือ
ประเด็นแรก ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี และเหตุผลในการส่งนิสิตปี 2 จาก ม.บูรพา บางแสน ซึ่งมีความพร้อมในทุกด้านไปเรียนปี 3 (ปรีคลินิก) ที่วิทยาลัยฯ ปราจีนฯ ทั้งๆ ที่มีความพร้อมน้อยกว่าในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านอาจารย์และห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยาที่จำเป็นต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องสมุนไพรไทย ที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นยารักษาโรคต่างๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้บริหารของวิทยาลัยเคยชี้แจงให้เหตุผลต่อนิสิตว่า "ห้องปฏิบัติการทางเภสัชวิทยานั้นไม่จำเป็นต่อการเรียนการสอนนัก" อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าทึ่ง (และขำไม่ออก) เมื่อวิทยาลัยฯ ปราจีนฯ ส่งนิสิตปี 3 (ซึ่งย้ายไปจาก ม.บูรพา บางแสน) ไปใช้ห้องปฏิบัติการทดลองของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ชลบุรี ซึ่งห่างจาก ม.บูรพา บางแสน ไม่ถึง 10 กิโลเมตร
นอกจากนั้น ม.บูรพา รวมทั้งวิทยาลัยฯ ปราจีนฯ ควรจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนด้วยว่า เหตุใดวิทยาลัยฯ ปราจีนฯ ซึ่งไม่เคยมีห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์เภสัชวิทยาภาคปฏิบัติพร้อมสำหรับการสอนมาตั้งแต่ต้นเพิ่งจะเริ่มมีอุปกรณ์ดังกล่าว ที่สั่งมา "สดๆ ร้อนๆ" เมื่อช่วงต้นปี 2555 นั้น กลับเก็บค่าหน่วยกิตเต็มในการสอนวิชาเภสัชกรรมไทยประยุกต์ 1-3 ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่กำหนดให้มีการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่ปี 2549 ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการสอนภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการจริงแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง การบริหารจัดการที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิ ในกรณี "วิชาเลือกเสรีที่ไม่เสรี" การที่คณะฯ ได้ดำเนินการลงทะเบียนให้นิสิตปี 2 ทุกคน เรียนวิชาเวชศาสตร์ชุมชน 3 ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรี ทั้งๆ ที่นิสิตมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิชาเรียนได้ตามใจชอบ ซึ่งถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการบริหาร/ดำเนินงานที่ผิดพลาด ขาดการวางแผนของเจ้าหน้าที่
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปัญหานี้ได้สะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยของผู้บริหาร ซึ่งหากพิจารณาให้จริงจังแล้ว ก็นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เพราะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และเมื่อนิสิตส่วนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะเรียนวิชานี้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ได้ร้องเรียนต่อทางคณะฯ กลับต้องดำเนินการตามขั้นตอนยุ่งยากมากมายของมหาวิทยาลัยด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหานี้ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุเกิดจากฝ่ายบริหาร
อีกตัวอย่างหนึ่งของปัญหา "วิชาเลือกเสรีที่ไม่เสรี" ซึ่งทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามอีกหลายคำถามอันเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษา "ร่วม" ระหว่าง ม.บูรพา และวิทยาลัยฯ ปราจีนฯ คือการที่คณะฯ ได้แจ้งอย่างกระชั้นชิดให้นิสิตปี 2 ทุกคนลงทะเบียนเรียนวิชาเลือกเสรีให้ครบ 6 หน่วยกิตก่อนย้ายไปปราจีนฯ ในเทอมหน้า ด้วยเหตุผลว่าวิทยาลัยฯ ปราจีนฯ ที่เคยเปิดวิชาเลือกเสรีมาทุกปีจะไม่เปิดวิชาเลือกเสรีอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้นิสิตส่วนใหญ่ต้องเสียเงินเรียนซัมเมอร์ที่น่าจะมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงถึง 1.5 หมื่นบาท สำหรับการเก็บวิชาเลือกเสรีเพียง 3-4 หน่วยกิต
ถึงแม้จะเป็นที่น่าเห็นใจที่ยังเป็นคณะใหม่ ทั้งการจัดการเรียนการสอนร่วมระหว่างสถาบันก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี หากผู้บริหารไม่รับฟัง ไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ ในการผลิตบัณฑิตแพทย์แผนไทย และยากแก่การแก้ไขมากยิ่งขึ้น
จึงสมควรที่ผู้บริหารของ ม.บูรพา และวิทยาลัยแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี รวมทั้งศิษย์เก่า และนิสิตปัจจุบันของคณะทุกคน จะต้องใส่ใจ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของนิสิตที่จะได้จบออกไปเป็นบัณฑิตคุณภาพ และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ที่จะมีแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีความรู้ความสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทย สืบทอดภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษครูบาอาจารย์ต่อไป