ไลฟ์สไตล์

เมียงม่าน เมียนมาร์8:สะพานเชื่อมชีวิต

เมียงม่าน เมียนมาร์8:สะพานเชื่อมชีวิต

06 พ.ค. 2555

เมียงม่าน...เมียนมาร์ : ตอนที่ 8 (จบ) - สะพานเชื่อมชีวิต โดย...เรื่อง : ยุวดี วัชรางกูร ภาพ : เอิบเปรม วัชรางกูร

               มาถึงนครมัณฑะเลย์ ไม่มีใครพลาดการไปนมัสการพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือพระมหามัยมุนี ที่วัดมหามัยมุนี บางคนตื่นแต่ดึกราวตีสี่ เพื่อมายลพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีในทุกๆ เช้า

                กราบพระแล้ว ฉันกับนักโบราณคดีส่วนตัวก็เดินเตร่รอบๆ มีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญของวัด ริมผนังแสดงภาพนิทรรศการที่มาของพระมหามัยมุนี ซึ่งถูกอัญเชิญมาจากยะไข่ หรืออาระกัน ด้านหลังมีโรงจัดแสดงโบราณวัตถุรูปประติมากรรมสัมฤทธิ์จากขอมหลายชิ้น เช่น รูปช้างเอราวัณ พระอิศวร และสิงห์ ซึ่งเดิมเคยอยู่ที่ปราสาทนาคพัน ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายมาสู่อยุธยาสมัยเจ้าสามพระยายกทัพไปตีพระนครธม ในปี พ.ศ.1974 ครั้นอยุธยาพ่ายศึกพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ.2106 รูปประติมากรรมเหล่านี้ก็ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ที่กรุงหงสาวดี สมัยต่อๆ มาชาวอาระกันจากยะไข่ตีหงสาได้ก็ย้ายไปไว้ที่ยะไข่ สู่สมัยพระเจ้าปดุงทรงยกทัพตีเมืองยะไข่แล้วจึงย้ายประติมากรรมขอมมาไว้ที่มัณฑะเลย์ในที่สุด

                ห่างจากวัดออกนอกกรุงประมาณ 20 นาที โดยรถแท็กซี่ พวกเราก็มาถึงหมู่บ้านอมรปุระ อดีตราชธานีสำคัญอีกแห่งหนึ่งของพม่า

                ชาวอมรปุระขึ้นชื่อนักหนาในฝีมือการทอผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ที่นำมาทอเป็นลองจี(โสร่งพม่า) สำหรับชายและหญิง มีหลายราคาแล้วแต่ความยากของลวดลายและประเภทผ้า
 ก่อนสายวันนั้น พวกเรามาถึงสะพานอูเบ็ง สะพานไม้สักที่ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน เป็นสะพานที่ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งสมัยพระเจ้าโบดอพญาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง โดยใช้วัสดุบางส่วนจากวังอังวะเดิม

                สะพานไม้ทอดตัวยาวเหยียดไปในกลุ่มหมอกจางๆ ระยะทางรวม 1.2 กิโลเมตร ชาวประมงเหวี่ยงแหจับปลากันใต้เสาสะพาน แม่ค้าบางคนทอดปูและกุ้งอยู่ริมศาลารายทาง จิตรกรเริ่มกางแผงภาพวาดของเขาอย่างไม่รีบร้อน

                ภาพชีวิตเหล่านี้ทำให้ระยะก้าวอันเหมือนจะไม่สิ้นสุดดูสั้นเข้า จนเราเข้าสู่เขตหมู่บ้านเล็กๆ ปลายสะพาน เดินลึกขึ้นไปราว 500 เมตร จะพบเจดีย์จอกตอจี ที่พระเจ้าพุกามโปรดให้สร้างตามแบบอานันทเจดีย์ในกรุงพุกาม ในปี พ.ศ.2390 โดยช่างพื้นเมืองชาวพม่า

                จุดเด่นของวัดนี้คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังและเพดานบริเวณซุ้มทางเข้าพระเจดีย์ ส่วนใหญ่แสดงเรื่องราวในไตรภูมิ จักรวาลตามความเชื่อท้องถิ่น และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองอมรปุระในอดีต

                เสียงเล่าลือเล่าอ้างต่อๆ กันมาว่า ทางฝั่งนี้มีเจดีย์บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าฟ้าโยเดีย นามว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด ซึ่งถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยคราวเสียกรุงครั้งที่สอง

               พวกเราเดินสำรวจเจดีย์ใหญ่นี้ไปจนรอบ แล้วเดินทะลุไปทางด้านหลังชุนชนเล็กๆ ไปโผล่ที่หน้าหาด จนบรรจบเจดีย์อีกแห่งใกล้เชิงสะพานอูเบ็งก็ไม่พบเค้าเงื่อนหรือร่องรอยที่แสดงความเป็นสถูปของชาวสยาม

                ถามชาวบ้านยิ่งไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องนี้ เราเลยเชื่อว่านี่เป็นแค่เรื่องบอกต่อๆ กันมาของเหล่าไกด์พม่า แต่ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางโบราณคดีมายืนยัน

                อดีตโชยกลิ่นอับๆ อยู่หลังส้วมหลุมและกองขยะของชาวบ้าน หลายชีวิตบนสองฟากฝั่งอูเบ็งต่างหากคือจิตวิญญาณแท้จริงแห่งตองตะมานในวันนี้.

.............................
(เมียงม่าน...เมียนมาร์ : ตอนที่ 8 (จบ) -  สะพานเชื่อมชีวิต โดย...เรื่อง : ยุวดี วัชรางกูร ภาพ :  เอิบเปรม วัชรางกูร)