
ยกระดับ'น้ำตาลมะพร้าว'แม่กลอง'
ยกระดับ'น้ำตาลมะพร้าว'แม่กลอง'ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสู่ห้างดัง โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ไม่ได้มีแค่ "ตลาดน้ำ" เท่านั้น แต่ใน ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ยังเต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด ทั้งลิ้นจี่ ส้มโอ โดยเฉพาะมะพร้าวจะมีการปลูกกันมากเป็นพิเศษและให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้ชาวสวนมะพร้าวในตำบลท่าคา หันมารวมกลุ่มแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลมะพร้าว ภายใต้การนำของ "ฐานิดา สีเหลือง" ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 2 ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม หวังต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพของน้ำตาลและตัวผลิตภัณฑ์เพื่อพยุงราคาน้ำตาลให้สูงขึ้น
"การทำน้ำตาลมะพร้าวที่นี่มีนานมานานแล้วล่ะ เพราะชาวบ้านที่นี่จะมีสวนมะพร้าวกันเกือบทุกบ้าน เมื่อก่อนเก็บผลขาย ราคาก็ไม่ดีนักสู้ส้มโอ ลิ้นจี่ไม่ได้ แต่หลังจากมีตลาดน้ำท่าคาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านก็หันมาทำน้ำตาลมะพร้าวขึ้น ทั้งในรูปของน้ำตาลสดและน้ำตาลปึก เพื่อนำมาขายที่ตลาดน้ำท่าคา" ฐานิดา สีเหลือง ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 2 ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ย้อนอดีตความเป็นมาของการทำน้ำตาลมะพร้าว
ฐานิดา เผยต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคามีสมาชิกทั้งสิ้น 52 รายเพื่อผลิตน้ำตาลมะพร้าวส่งจำหน่าย โดยมีตลาดหลักคือตลาดน้ำท่าคาและห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากการผลิตตามออเดอร์โดยแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 200-400 กิโลกรัมแล้ว ยังมีผลิตเพื่อจำหน่ายตามงานโอท็อปต่างๆ ที่จังหวัดจัดขึ้นและเมืองทองธานี ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มมีรายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน โดยสนนในราคาจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง หยอดปึกชามขายปลีก 1 กก. 20 บาท หยอดถ้วยเล็กปลีก 1 กก. 25-30 บาท หยอดกระปุกปลีก 1 กก.35 บาท หยอดปึกปลีก 1 กก.10 บาท ส่ง 9 บาท หยอดถ้วยเล็กปลีก 1 กก.15 บาท หยอดกระปุกเล็กปลีก 1 กก.25 บาท
"ตอนนี้เราส่งให้ห้างเดอะมอลล์ และโลตัสที่กรุงเทพฯ แล้วก็จะมีบริษัทมารับแล้วไปติดฉลากเพื่อจำหน่ายเองก็มี แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกแบบไหน แต่การทำน้ำตาลของกลุ่มจะมีทุกวัน ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็จะเปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวตลาดน้ำท่าคาได้มาเยี่ยมชมขั้นตอนการทำด้วย" ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา
ด้าน วันชัย นิลวงศ์ เกษตรอำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวเสริมว่าในพื้นที่ อ.อัมพวาถือเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยผลไม้ มีทั้งส้มโอ ลิ้นจี่และมะพร้าว โดยเฉพาะมะพร้าวนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สำหรับมะพร้าวที่ปลูกกันมากใน อ.อัมพวา มีทั้งมะพร้าวผล มะพร้าวตาล มะพร้าวอ่อน เนื่องจากอยู่ในเขตน้ำจืด น้ำเค็มขึ้นไม่ถึง โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 51,000 ไร่ ซึ่งมะพร้าวจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปีจะให้ผลผลิตน้อยลงในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม
"สำหรับมะพร้าวตาล ในจ.สมุทรสงคราม ถือเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเป็นผลจากการปลูกมะพร้าวตาลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.อัมพวา จะมีมากในเขต ต.บางนางลี่ ต.ท่าคา ต.สวนหลวง และ ต.วัดประดู่ รวมพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 4 หมื่นไร่เศษ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรอำเภออัมพวาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการในเรื่องกระบวนการผลิต การทำบรรจุภัณฑ์ตลอดจนการหาช่องทางการตลาดให้" เกษตรอำเภออัมพวากล่าวย้ำ
น้ำตาลมะพร้าว ฝีมือสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา ผลิตภัณฑ์เด่นของ จ.สมุทรสงคราม ไม่เพียงสร้างรายได้ให้ชาวบ้านใน อ.อัมพวาเท่านั้น แต่ยังคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว
สำหรับขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว เริ่มจากการทำความสะอาดงวงตาล (จั่นมะพร้าว) และการนวดงวงตาล โดยการแกะมดหรือแมลงที่เกาะงวงตาลออกและรูดดอกออกไปเพื่อจะทำให้งวงตาลสะอาด ปราศจากแมลงที่จะทำให้น้ำตาลขุ่นเหนียวได้ จากนั้นก็นวดงวงตาล ใช้น้ำตาลใสที่ไหลออกจากงวงหลังปาดมาลูบให้ทั่วงวง เพื่อให้น้ำตาลช่วยรัดงวงให้นิ่ม หรืออาจใช้มือนวดเบาๆ ให้ทั่วจากโคนไปปลายงวง จะทำให้ได้น้ำตาลที่ใสสะอาด จากนั้นก็ให้ล้างทำความสะอาดกระบอกรองน้ำตาลใส เพื่อให้กระบอกสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน
การปาดงวงตาลนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มทำกันตอนบ่ายถึงเย็น โดยการปาดบางๆ แล้วแขวนกระบอก เพื่อรองรับน้ำตาลซึ่งการนำกระบอกไปรองน้ำตาลจะต้องนำเปลือกพยอมประมาณ 4-5 ชิ้นใส่ไว้ด้วยเพื่อป้องกันน้ำตาลบูดและเปรี้ยว จากนั้นก็จะเก็บน้ำตาลใสในวันรุ่งขึ้นประมาณเจ็ดโมงถึงเก้าโมงเช้า จะทำให้ได้น้ำตาลคุณภาพดี เพราะถ้าเก็บช้าน้ำตาลอาจบูดและเปรี้ยวได้
หลังได้น้ำตาลมาแล้วก็จะมาเคี่ยว เริ่มจากนำน้ำตาลใสกรองด้วยผ้าขาวบาง นำมาเคี่ยวในกระทะ ประมาณ 1 ชั่วโมงในกระทะแรก กระทะต่อไปประมาณครึ่งชั่วโมง ต้องค่อยๆ ตักฟองออกทิ้งให้หมดไป ต่อจากนั้นยกลงมาแล้วใช้พายกวน ปัจจุบันใช้เหล็กกระทุ้งหรือเครื่องปั่นที่มีก้านตีด้วยมอเตอร์ใช้เวลากวนประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนยกลงมากวนเพื่อให้ได้น้ำตาลเหนียวและเนื้อเนียนสีเหลืองนวลสวย
จากนั้นให้หยอดน้ำตาลเป็นก้อนเล็กๆ หรือเป็นปึกตามแต่ขนาดหรือรูปแบบที่ต้องการ ขณะที่น้ำตาลยังร้อนๆ เมื่อน้ำตาลเย็นจะได้รูปตามที่หยอด
เมื่อน้ำตาลเย็นและแห้ง เก็บบรรจุลงถุงพลาสติก ซีนและบรรจุกล่องพร้อมจำหน่ายต่อไป สนใจผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวโทร.08-6789-8130, 0-3476-6323 ได้ตลอดเวลา
ติดตามชมขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคาได้ในรายการ "เกษตรทำกิน" กับ คม ชัด ลึก ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง "ระวังภัย" ในวันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2555 เวลา 16.00-17.00 น.หรือดูย้อนหลังได้ที่ www.ระวังภัย.com
............................
(ยกระดับ'น้ำตาลมะพร้าว'แม่กลอง ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาสู่ห้างดัง โดย...สุรัตน์ อัตตะ)