ไลฟ์สไตล์

สืบศิลป์สานตำนาน'หนังใหญ่'

สืบศิลป์สานตำนาน'หนังใหญ่'

05 เม.ย. 2555

ศิลปวัฒนธรรม : สืบศิลป์ สานตำนาน 'หนังใหญ่'

                    "หนังใหญ่" มหรสพเก่าแก่ที่ถือว่าเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และเป็นต้นแบบของการเล่นโขนในปัจจุบัน ตามประวัติแล้วสืบทอดมาจากประเทศอินเดีย และเผยแพร่สู่ราชสำนักของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของคนชั้นสูง โดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัติย์ ก่อนจะถูกนำมาเป็นการละเล่นในหมู่ชาวบ้าน ส่วนยุครัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานการแสดงหนังใหญ่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง คือ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

                    สำหรับตัวหนังใหญ่ทำจากหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในและมีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวหนังตั้งตรงไม่งอ และทำให้มีคันยื่นลงมาใต้ตัวหนังเป็นสองข้างสำหรับจับถือและยกได้ถนัด สถานที่เล่นจะปลูกโรงผ้าใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ส่วนด้านหลังจอจะจุดไต้และก่อไฟไว้ เพื่อให้แสงทำให้เห็นเงาตัวหนังซึ่งมีลวดลายวิจิตรมาติดอยู่ที่จอผ้าขาว และการเชิดนั้นคนเชิดต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรีและบทพากย์บทเจรจาด้วย

                    หนังใหญ่แบ่งตามลักษณะท่าทาง บทบาท การกระทำ ธรรมชาติ ฯลฯ เป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ หนังเจ้า หรือ หนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครู มี 3 ตัวคือ พระฤาษี พระอิศวร หรือพระนารายณ์ เรียกว่า "พระแผลง" เพราะเป็นภาพในท่าแผลงศร, หนังเฝ้า หรือ หนังไหว้ เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว พนมมือ ใช้แสดงตอนเข้าเฝ้า, หนังคเนจร หรือ หนังเดิน เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าเดิน, หนังง่า เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าต่อสู้เหาะแผลงศร, หนังเมือง เป็นภาพหนังเดี่ยวหรือหลายภาพอยู่ในหนังผืนเดียวกัน โดยมีปราสาท ราชวัง วิมาน พลับพลา ศาลา ตามเนื้อเรื่องอยู่ในหนังผืนนั้น เรียกว่าหนังพลับพลา หนังปราสาทพูด หนังปราสาทโลม, หนังจับ หรือ หนังรบ เป็นหนังที่มีภาพตัวละครตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปในหนังผืนเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นภาพตัวละครในการต่อสู้, หนังเบ็ดเตล็ด เป็นลักษณะหนังอื่นที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวมา แยกเป็น หนังเตียว เป็นภาพหนัง 2 ตัว ตัวหนึ่งพ่ายแพ้การต่อสู้และถูกจับมัด, หนังเขน เป็นหนังที่เป็นไพร่พลของกองทัพ และ หนังเบ็ดเตล็ด อื่นที่มีรูปร่างแปลกออกไป

                    การแสดงหนังใหญ่ประกอบด้วยศิลปะ 5 แขนง คือ หัตถศิลป์ การทำตัวหนังใหญ่, นาฏศิลป์ คือการแสดง การเรียรรู้ทาทางตัวละคร, คีตศิลป์ ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง, วาทศิลป์ คำพากย์ คำเจรจา และวรรณศิลป์ เรื่องราวที่นำมาแสดงซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องรามเกียรติ์

                    พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ผู้สืบสานหนังใหญ่วัดขนอน เผยว่า หนังใหญ่วัดขนอนสร้างขึ้นโดยการริเริ่มของพระครูศรัทธาสุนทร หรือ หลวงปู่กล่อม ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาสร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด จนมีตัวหนังทั้งหมด 313 ตัว นับเป็นสมบัติของวัดที่ร่วมรักษาสืบต่อกันมา แต่การเล่นหนังใหญ่ซบเซาไปตามยุคสมัย เนื่องจากวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

                    "เมื่อปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดง "หนังใหญ่" จึงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยกันอนุรักษ์ โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับสนองพระราชดำริสร้างหนังใหญ่ชุดใหม่แทนและทรงพระราชทานให้คณะเชิดหนังใหญ่วัดขนอนนำไปใช้ในการแสดง แทนชุดเก่าที่ทรงโปรดให้เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางวัดเปิดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้สนใจ ทั้งยังฝึกสอนให้แก่เยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของทางคณะ จนได้รับรางวัลจางองค์การยูเนสโก ยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟู มรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม" ผู้สืบสานหนังใหญ่วัดขนอน เผย

                    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคณะหนังใหญ่วัดขนอนมีสมาชิกทั้งหมดราว 40-50 คน โดยจัดการสอนเยาวชนและสมาชิกใหม่ในช่วงหลังเลิกเรียน ส่วนชุดใหญ่จะฝึกสอนในคืนวันศุกร์และเสาร์ ขณะที่ดนตรีไทยมีการสอนทุกวัน โดยการแสดงหนังใหญ่จะเปิดให้บุคคลทั่วไปชมทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น.

                    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบทอดมรดกอันทรงคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป จังหวัดราชบุรี วัฒนธรรมจังหวัด ททท.สำนักงานเพชรบุรี และวัดขนอนจึงเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมงาน "เทศกาลหนังใหญ่ วัดขนอน ครั้งที่ 7" ระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น.บริเวณลานกลางแจ้งวัดขนอน ท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุควิถีชีวิตไทยโบราณ โดยไฮไลท์การเล่นหนังใหญ่แบบโบราณครั้งอยู่ที่การใช้แสงไฟจากการเผากะลา พร้อมกันนี้ยังมีการแสดงวัฒรธรรม 4 ภาค อาทิ โขนล้านนา หุ่นละครเล็ก หุ่นคน หุ่นกระบอก ดิเกร์ฮูลู หนังตะลุง และลิเกย้อนยุค เป็นต้น