กุยช่ายเป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในตระกูลเดียวกับต้นหอมและกระเทียม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นานประมาณ 3 ปี เมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีคุณสมบัติทางยา เนื่องจากมีสารแคโรทีนและวิตามินซีสูง ดอกและใบนิยมใส่แกงเลียง มีสรรพคุณเป็นยาประสานน้ำนม เมล็ดใช้ทำยาขับพยาธิเส้นด้าย ใบนำไปทำเป็นขนมกุ่ยช่าย ใส่ก๋วยเตี๋ยว ใส่ผัดไท ดอกนำไปผัด มีคุณสมบัติเฉพาะตัวประกรอบ ทำให้เป็นที่นิยมใช้ประกอบอาหารรับประทานตามห้าง และร้านอาหาร ภัตาคารต่างๆ
พ.อ.อัครภณ ทองสุทธิ์ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นพค.56 สนภ.5 นทพ.) บอกว่าด้วยเหตุผลที่กล่าว หน่วยได้เล็งเห็นประโยชน์ของกุยช่าย จึงได้หาวิธีการส่งเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ได้เล็งเห็นประโยชน์และหันมาปลูก เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจในการส่งให้ร้านอาหารในพื้นที่และต่างจังหวัด โดยหน่วยทดลองการปลูกที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้กับราษฎรที่มาศึกษาดูงาน และได้นำกับไปปลูกเพื่อเป็นพืชด้านเศรษฐกิจต่อไป
"กุยช่าย เป็นพืชที่มีแมลงหรือโรคเข้าทำลายน้อยกว่าพืชผักชนิดอื่นๆ หากมีการดูแลรักษาที่ดี โดยการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชที่ดีแล้ว จะทำให้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถตัดใบออกจำหน่ายได้ภายใน 3-5 เดือน"
พ.อ.อัครภณ กล่าวต่อว่า การดูแลรักษาต้นกุยช่ายให้มีคุณภาพ เกษตรกรควรหมั่นรดน้ำทุกๆ วัน เช้า-เย็น ใช้บัวรดน้ำที่มีรูเล็ก ไม่ควรรดน้ำด้วยสายยาง และควรปรับปรุงดินโดยนำขี้อ้อย ปุ๋ยขี้ไก่ มาผสมใส่ลงในแปลงเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้กุยช่ายเติบโตเร็ว สมบูรณ์ หลังจากเก็บกุยช่ายแล้ว ควรนำมาล้างน้ำให้สะอาด และบรรจุใส่ถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป ควรมุงด้วยตาข่ายพรางแสง 50-80% เพื่อลดแสงแดดและลดอุณหภูมิความร้อน ซึ่งจะทำให้กุยช่ายโตเร็ว รูปทรงใบสวย ไม่ควรทำกุยช่ายขาวรุ่นต่อรุ่น เพราะจะเป็นเหตุทำให้ต้นโทรมและอาจตายได้ แต่ควรทำกุยช่ายเขียว 2 รุ่น แล้วสลับทำกุยช่ายขาว 1 รุ่น เพื่อให้กุยช่ายมีอาหารกินตลอด 24 ชั่วโมง ผลที่ได้อีกประการคือจะทำให้ดินไม่โทรมและผลผลิตดีตลอดไป
"วิธีการขยายพันธุ์ กุยช่ายสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือ การแยกหน่อ แต่ละหน่อสามารถนำไปปักชำให้เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นกอใหม่ได้ ใช้เวลาเพียง 3-5 เดือน โดยการแยกหน่อตัดรากให้สั้นลงก่อนนำลงแปลงปลูก การชำอาจชำในถุงหรือตะกร้าพลาสติกก็ได้ วัสดุในการเพาะชำใช้ดินผสมขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน ดิน 1 ส่วนต่อขี้เถ้าแกลบ 3 ส่วน ใช้เวลา 1 เดือน จึงสามารถนำลงปลูกได้โดยระวังอย่าให้ต้นกุยช่ายกระทบกระเทือน"
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักรบสีน้ำเงิน นามหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนและท้องถิ่นตามแผนงานหลักและภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ และนโยบายของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เพื่อร่วมกันพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนรวมถึงสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ชุมชนที่อาศัย หากราษฎรหรือหน่วยงานใดมีความสนใจที่จะศึกษาดูงานติดต่อโทร.0-45866-659 หรือ 45 หมู่ 2 บ้านบก ต.กลาง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี พร้อมให้บริการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดวันเวลาราชการ
----------
(หมายเหตุ : 'กุยช่าย' พืชสวนครัวไม่ธรรมดา - ลงทุนน้อย-ปลูกง่าย-รายได้ดี)
----------
ข่าวที่เกี่ยวข้อง