
'ว่าววงเดือน'เสน่ห์ศิลปะมลายู
'ว่าววงเดือน' เสน่ห์ศิลปะมลายู - 'งานทำมือ' อนุรักษ์การละเล่น : โดย ... สุพิชฌาย์ รัตนะ
ยามหน้าร้อนมาเยือน ภาพการละเล่นอย่างหนึ่งที่มีให้เห็นกันทั่วทุกภูมิภาคนั่นคือ “การเล่นว่าว” ที่แต่ละท้องถิ่นได้ประดิษฐ์แล้วนำออกมาล้อลมในแบบที่ต่างกันไป ทั้งว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวงู ในที่สุดจากกิจกรรมก็พลิกผันสู่การสร้างรายได้ชนิดเป็นกอบเป็นกำ ดัง “มะรอเซะ มะรอปิ” ชายมุสลิมวัย 74 ปี แห่งบ้านเลขที่43 หมู่ 5 ต.ลุโบะบาบะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ที่ใช้เวลาว่างจากการทำสวนยาง ผลิตว่าวมากมาย โดยเฉพาะ "ว่าววงเดือน” งานศิลปะที่รับอารยธรรมมลายู และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
ลุงมะรอเซะ ขณะนั่งเหลาไม้ไผ่เตรียมทำโครงว่าววงเดือนไว้สำหรับรับหน้าร้อนปีนี้ เล่าให้ฟังว่า การเล่นว่าวของคนภาคใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดน จะไม่ค่อยเหมือนที่อื่น เพราะที่นี่นอกจากจะประชันว่าว่าวใครลอยได้สูงสุดบนน่านฟ้าแล้ว ยังจะต้องมีการตัดและตกแต่งลวดลายในการประดับบนตัวว่าวให้มีความวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะลวดลายประจำถิ่น และที่สำคัญตัวว่าวต้องมีขนาดใหญ่พร้อมทั้งต้องใส่ 'แอกว่าว' ซึ่งมีลักษณะคล้ายคันธนู เพื่อให้ว่าวมีเสียงดังกังวาลยามที่ถูกปล่อยให้ลอยบนท้องฟ้า
สำหรับเทคนิคความรู้เกี่ยวกับการทำว่าว ลุงมะรอเซะบอกว่า ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งในพื้นที่มีหลายคนที่เปี่ยมล้นด้วยความสามารถในการรังสรรค์ว่าวได้ตามแบบฉบับชาวมลายูเดิม ซึ่งถือเป็นสิ่งดี เพราะนี่คือหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนตามแบบฉบับของวิถีคนท้องถิ่นแห่งนี้ โดยเฉพาะ "ว่าววงเดือน"
ทั้งนี้ ตามตำนานในสมัยก่อนเล่าสืบต่อกันมาว่า “ว่าววงเดือน” เป็นของเล่นเทวดา (แดวอมูดอ) โดยผู้ที่ให้ว่าวแก่แดวอมูดอคือพระบิดาของพระราม (รายอสรามอ) ชื่อซีระห์มะห์รายอ จึงทำให้ว่าววงเดือนมีรูปเทวดา ทั้งนี้ ว่าววงเดือนมีหลายชนิดมีหลายรูปแบบ และมีการเล่นกันแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดจะมีการเน้นความสวยงาม รวมทั้งประเภทเสียงดัง ประเภทขึ้นสูง ที่สำคัญปัจจุบันมีการจัดทำเพื่อจำหน่ายในรูปแบบของที่ระลึกอีกด้วย
“ว่าวที่ทำส่วนใหญ่จะนำออกขายในงานเทศกาลต่างๆ ที่ จ.นราธิวาสจัดขึ้นโดยในช่วงหน้าร้อนแต่ละปีจะมีรายได้หลายพันบาท ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ช่วยให้ชาวบ้านมีเงินเข้ามาจุนเจือครอบครัวหลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวในพื้นที่” ลุงมะรอเซะกล่าว
สำหรับขั้นตอนการทำว่าววงเดือนแบบง่ายๆ ลุงมะรอเซะบอกให้ฟังว่า อุปกรณ์ต่างๆ ในการทำหาได้ทั่วไป และทำได้ไม่ยาก แต่ที่ยากและสำคัญอยู่ที่ขั้นตอนการทำที่ต้องอาศัยใจรักและความประณีตในการทำโครงสร้างแต่ละชิ้นที่ต้องใส่ใจ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ทำบ่อยๆ จึงจะได้ผลดังที่ต้องการ แต่หากใครสนใจจะทดสอบฝีมือก็สามารถทำได้
โดยเริ่มจากหาวัสดุอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่หาได้ในท้องถิ่นทั้ง ไม้ไผ่ เชือกผูกตัวว่าว มีดเหลา กระดาษว่าว กระดาษสี สายป่าน มีด และ กาว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยนำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้เหลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ก่อนขึ้นโครงว่าววงเดือนด้วยไม้ไผ่แล้วผูกมัดด้วยเชือก นำกระดาษบางมาติดตัวว่าววงเดือน จากนั้นนำกระดาษสีที่แกะเป็นลวดลายต่างๆ ให้สวยงามมาติดทับลงบนกระดาษบางอีกชั้น นำกระดาษบางหลายๆ สีทำเป็นภู่แล้วพันที่คอว่าวแล้วผูกเชือก (ตือราญู) นำออกทดลองปล่อยให้ลอยบนท้องฟ้า
ลุงมะรอเซะยอมรับว่า ศิลปแขนงนี้ ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ลุงอย่างมาก เพราะนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการสืบสานเอกลักษณ์ของคนปลายด้ามขวานให้คงอยู่ผ่านการละเล่นในยามหน้าร้อนซึ่งปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทว่า หากใครสนใจอยากได้ว่าววงเดือนไว้เล่นหน้าร้อนปีนี้ หรือต้องการในรูปแบบของที่ระลึกติดต่อได้ที่ 08-9976-2006 ลุงยินดีให้รายละเอียดแก่ทุกท่าน
----------
(หมายเหตุ : 'ว่าววงเดือน' เสน่ห์ศิลปะมลายู - 'งานทำมือ' อนุรักษ์การละเล่น : โดย ... สุพิชฌาย์ รัตนะ)
----------