Lifestyle

รู้ทันมะเร็ง:กลืนไม่เข้า-น้ำลายไหลออก-สำรอกไม่หยุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ รู้ทันมะเร็ง : กลืนไม่เข้า น้ำลายไหลออก สำรอกไม่หยุด : โดย... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

          เชื่อหรือไม่ครับว่าปกติแล้ววันหนึ่งๆ มนุษย์เราต้องกลืนน้ำลาย กลืนอาหารประเภทต่างๆ เบ็ดเสร็จเฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 2,000-2,400 ครั้ง ทีนี้ลองจินตนาการดูว่าหากวันหนึ่งเราไม่สามารถกลืนได้ตามปกติ ต้องบ้วนน้ำลายทิ้งเป็นระยะๆ และอาเจียนออกมาวันละหลายๆ รอบ มันจะทรมานขนาดไหนกัน

          ความทุกข์ทรมานที่ยกตัวอย่างให้เห็นข้างต้นนั้น เป็นอาการของผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการอุดตันของหลอดอาหารไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม มะเร็งหลอดอาหารในระยะที่เป็นมากแล้วก็มีอาการเช่นเดียวกัน โดยมักมีอาการค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการกลืนอาหารปกติลำบากก่อน ต่อมาเมื่อก้อนเนื้องอกโตมากขึ้นเริ่มเบียดบังรูของหลอดอาหารให้แคบเล็กลง ก็ทำให้กลืนพวกอาหารอ่อน เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มยากขึ้น ท้ายที่สุดก็กินได้แต่อาหารเหลวและมีอาการอาเจียนมากขึ้นโดยลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากหลอดอาหารของคนเรามีลักษณะเป็นท่อตั้งแต่บริเวณลำคอทอดตัวอยู่ด้านหลังในช่องอกผ่านกะบังลมลงสู่กระเพาะอาหารบริเวณใต้ลิ้นปี่ ผู้ป่วยอาจบอกตำแหน่งได้คร่าวๆ ว่ามีความรู้สึกกลืนติดอยู่บริเวณไหน บางรายมีเจ็บในช่องอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เสียงแหบร่วมด้วย แน่นอนครับว่าผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารส่วนใหญ่มีน้ำหนักลด ผอมลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากอาหารไม่สามารถผ่านลงไปให้ลำไส้ได้ดูดซึมสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับมะเร็งของอวัยวะอื่น จึงส่งผลต่อผลการรักษา ลำพังลักษณะทางกายวิภาคของหลอดอาหารเองและการลุกลามไปสู่อวัยวะข้างเคียงที่สำคัญของตัวโรคเองก็ทำให้การรักษายุ่งยากมากพออยู่แล้ว หลายรายต้องมาบำรุงมาขุนให้ภาวะขาดสารอาหารดีขึ้นเสียก่อนแล้วจึงเริ่มให้การรักษา

          ส่วนเรื่องที่ใครๆ ก็อยากรู้ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นโรคนี้ ต้องบอกว่าสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งหลอดอาหารยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของเซลล์หลอดอาหาร การดื่มสุรา ภาวะกรดไหลย้อน การสูบบุหรี่ และการบริโภคสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน การวินิจฉัยโรคนี้หลักๆ ก็หนีไม่พ้นการเอ็กซเรย์กลืนแป้งและการส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร การรักษาถ้ายังเป็นไม่มากก็ผ่าตัดเอาหลอดอาหารทิ้งแล้วเอากระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่หรือลำไส้เล็กมาทำหลอดอาหารใหม่แทน อาจจะใช้การฉายแสงและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ในรายที่เป็นมากระยะลุกลามก็อาจใช้การใส่ท่อขยายหลอดอาหารให้อาหารสามารถผ่านลงไปได้ ช่วยลดความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนจะให้การฉายแสงและยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่นั้นก็แล้วแต่กรณีไป

          ก่อนจากอยากฝากว่าใครที่มีอาการกลืนอาหารผิดปกติหรือกลืนอาหารลำบากนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ ทิ้งไว้เนิ่นนานเดี๋ยวจะตกอยู่ในสภาพที่ตนเองทำอะไรก็ไม่ได้ ติดขัดไปเสียหมดเข้าทำนองกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เป็นถึงขนาดกลืนก็ไม่เข้า น้ำลายก็ไหลออก สำรอกไม่หยุดนะครับ เดี๋ยวรักษาไม่หายไม่รู้ด้วยนะครับ...ขอบอก
...................
(หมายเหตุ : คอลัมน์ รู้ทันมะเร็ง : กลืนไม่เข้า น้ำลายไหลออก สำรอกไม่หยุด : โดย... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ