
ชาช่าติดสถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯเด็กเตรียมเจ๋ง
สกอ.ยันประกาศผลแอดมิชชั่นส์แล้ว เด็กเตรียมอุดมศึกษาทำคะแนนสูงสุด ติดนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขณะที่ พระเกี้ยว กวาดเด็กคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกเข้าเรียนหมด ผู้พิการทางสายตาติด สวนดุสิต ภาษาไทย ส่วนคณะสังคมฯ เอกประวัติศาสตร์ มศว มีผู้แห่สมัครสูงสุด
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาธิการ (กกอ.) แถลงผลการคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2552 โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า สกอ.ประกาศผลการคัดเลือกแอดมิชชั่นส์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.cuas.or.th และเครือข่ายพันธมิตร รวม 17 แห่ง พร้อมทั้งหมายเลขสายด่วนที่นักเรียนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้อีก 7 เลขหมาย โดยนักเรียนสามารถเข้าไปตรวจสอบผลคะแนนได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 7 พฤษภาคม และเชื่อว่าเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การประกาศผลคัดเลือกเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาเว็บไซต์ล่มเหมือนที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 119,446 คน ยื่นสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ สกอ.ดำเนินการคัดเลือกรวม 95 สถาบัน เพื่อเข้าศึกษาใน 3,782 รหัสคณะ/สาขาวิชา โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกมีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายจำนวน 82,576 คน โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลวัน เวลาในการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย พร้อมทั้งหลักฐานที่นักเรียนจะต้องนำติดตัวไปได้ ผ่านทางเว็บไซต์ของ สกอ.เช่นเดียวกัน
เด็ก ตอ.คะแนนสูงสุด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดในระบบแอดมิชชั่นส์ ได้แก่ นายรวินท์ เหราบัตย์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 89.24 สูงสุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ได้คะแนนร้อยละ 88.41 สูงสุดในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.71 สูงสุดในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.บุญญาดา ปลั่งศิริ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนน 87.54 สูงสุดในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.ศศิลดา ศิริรุ่งเรือง จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.07 สูงสุดในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ได้คะแนนร้อยละ 83.07 สูงสุดในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นายกรกวิน พิชญโยธิน จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้คะแนนร้อยละ 82.21 สูงสุดในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นายธีรวีร์ กุระเดชภพ จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้คะแนนร้อยละ 82.12 สูงสุดในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายศศิพงศ์ ลียวัฒนานุพงศ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อย 81.97 สูงสุดในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ส.พูนทรัพย์ อารีกิจ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ได้คะแนนร้อยละ 81.55 สูงสุดในคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
สมัครประวัติศาสตร์ มศว มากสุด
นอกจากนี้ยังมีนักเรียนพิการทางสายตาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ได้ 1 คน คือ นายสุวิช อินทรนุกูลกิจ สอบได้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ส่วนคณะ/สาขาวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จำนวน 4,285 คน คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มศว จำนวน 3,030 คน และคณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 2,598 คน
“นักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยังมีโอกาสที่จะสมัครเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนอื่นๆ ที่ยังเปิดรับเพิ่มเติม อาทิ คณะสังคมศาสตร์ โครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ โครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับคณะบริหารธุรกิจ, วิศวกรรมศาสตร์, นิติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ โดยสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ สกอ. อย่างไรก็ตาม การที่เด็กเลือกคณะหรือสาขาไหนสูงสุด ไม่ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสาขาวิชาเหล่านั้นมีสัดส่วนการแข่งขันสูงสุด หรือได้รับความนิยมมาก เนื่องจากเด็กจะทราบผลคะแนนของตนเองก่อนเลือกสมัคร ดังนั้นเด็กจะเลือกคณะหรือสาขาวิชาที่ตนทำคะแนนอยู่ในช่วงที่มีโอกาสสอบติดสูง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเด็กขาดทุนทรัพย์
นอกจากนี้ สกอ.ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาใหม่ที่ยากจน ปีการศึกษา 2552 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2552 ที่มีปัญหาการประสาน และขาดแคลนด้านการเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้สังกัดและในกำกับของ สกอ. ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ แก้ไขปัญหา ประสานงานและบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินของนักศึกษา ตลอดจนประสานแหล่งทุนและเปิดรับบริจาคจากผู้มีจิตกุศลเพื่อให้การช่วยเหลือ อุปการะนักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 ที่ยากจนในปีการศึกษา 2552
ทั้งนี้ศูนย์เฉพาะกิจฯ จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยเปิดบริการในเวลา 08.30-20.00 น. หรือโทร.0-2610-5416-17 โทรสาร 0-2354-5460, 0-2354-5532 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือใช้บริการผ่าน สกอ. คอนแท็กท์เซ็นเตอร์ โทร.0-2576-5555, 0-2576-5777 หรือ สำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โทร.0-2610-4888 โทรสาร 0-2643-1470 เวลา 08.30-16.30 น. www.studentloan.or.th
สำหรับการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปีการศึกษา 2552 กยศ.ได้จัดสรรวงเงินสำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ ประจำปีการศึกษา 2552 จำนวน 79,741 ราย และผู้กู้ยืมรายใหม่ปี 2551 ที่ตกค้างเพิ่มเติมจำนวน 11,288 ราย รวมทั้งสิ้น 91,029 ราย ทั้งนี้นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในสถาบันอุดมศึกษาเรียบร้อยแล้ว และประสงค์จะกู้ยืมเงิน กยศ.สามารถยื่นกู้ผ่านระบบอี-สติวเดนท์ ใน www.studentloan.or.th โดยใช้เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งผู้กู้ยื่นแบบคำขอและยืนยันการลงทะเบียนผ่านระบบวันสุดท้ายได้ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2552 โดยสถานศึกษาจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์กู้ยืมวันสุดท้ายวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เพื่อให้การดำเนินการกู้ยืมเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว
เรียนในห้องเคล็บลับคนเก่ง
นายสุวิช อินทรนุกูลกิจ หรือน้องอุ้ย กล่าวว่า ดีใจมากที่สอบเข้า มรภ.สวนดุสิต ตามที่ตั้งใจไว้ เพราะใกล้บ้าน เดินทางสะดวก ความสำเร็จครั้งนี้มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง อาจารย์ และเพื่อนๆ ช่วยเหลืออ่านแล้วอัดเทปมาให้เปิดฟังซ้ำๆ ไม่เข้าใจเนื้อหาตรงไหนจะให้อาจารย์หรือเพื่อนๆ ช่วยอธิบาย แต่ก็ต้องใช้ความพยายามในการเรียนมากกว่าเพื่อนๆ วางแผนอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ไปติววันหยุด ตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยมปลาย
"เลือกสาขาภาษาอังกฤษเป็นอันดับแรก แต่ติดอันดับที่ 3 สาขาภาษาไทย ตั้งใจเรียนจบจะเป็นนักแปล ล่าม นักเขียน เพราะชอบพบปะพูดคุย ยิ่งเป็นชาวต่างชาติยิ่งดีเพราะจะได้ภาษา หลังจากนี้ต้องไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพิ่มเติม จะได้เป็นนักแปล ล่ามตามที่ตั้งใจ” นายสุวิช กล่าว
นายรวินท์ เหราบัตย์ หรือน้องต้น นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา สอบติดอันดับหนึ่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นคณะที่ใฝ่ฝัน บอกเคล็ดลับการเรียนว่า ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทบทวนอ่านหนังสือเรียน ควบคู่กับการเรียนกวดวิชา อยากให้น้องๆ ที่ต้องสอบในปีการศึกษาหน้า เตรียมตัวให้ดีและวางแผนการอ่านหนังสือ หากไม่รู้จักตนเอง ไม่มีความพร้อม ก็ยากจะทำความฝันให้เป็นจริง
น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ ภาษาจีน จุฬาฯ กล่าวว่า เคล็ดลับการเรียน ยึดหลักทบทวนสิ่งที่เรียนมาเป็นสิ่งสำคัญ ไม่โหมหรืออัดแน่นในช่วงใกล้สอบ เรียนพิเศษตอนปิดเทอม ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ ที่พลาดหวังก้าวเดินต่อไปชีวิตไม่ได้ขึ้นกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่อยู่ที่การปฏิบัติตัวเป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยใด ก็ประสบความสำเร็จได้
นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์ หรือน้องนัทธ์ นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา สอบติดอันดับหนึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตามความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก กล่าวว่า ก่อนสอบ จะทบทวนตำราเรียน ฝึกทำโจทย์คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เคยเรียนครั้งเดียว ก่อนขึ้น ม.6 จากนั้นฝึกทำโจทย์ทำให้ทำข้อสอบ และเข้าใจเนื้อหาได้ดีมากขึ้น
"อยากให้น้องๆ ค้นหาตัวเองว่าอยากเรียนอะไร เมื่อรู้แล้วก็ตั้งใจเรียนในวิชาเหล่านั้น แต่ไม่ควรเรียนอย่างเดียว ต้องทำกิจกรรมควบคู่ เพราะกิจกรรมจะช่วยเปิดโลกทัศน์ เรียนรู้การเข้าสังคม” นายธัชพล กล่าว
น.ส.ศศิลดา ศิริรุ่งเรือง หรือน้องพาย นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา สอบติดอันดับหนึ่งในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เคยสอบติดคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลแต่ไม่อยากเป็นหมอ จึงไม่ได้ไปรายงานตัว อยากเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมี จึงเลือกเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นส์ ช่วง ม.ปลายต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทำความเข้าใจทุกอย่างที่เรียนและจดจำเนื้อหาบทเรียนให้ได้เรียนกวดวิชาบ้างช่วง ม.6 ในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคม
นายกรกวิน พิชญโยธิน หรือน้องอะตอม ชั้น ม.6 ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สอบติดอันดับหนึ่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า เคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ ตั้งใจเรียนในห้องเรียนตลอด 3 ปี และฝึกทำข้อสอบเอนทรานซ์และแอดมิชชั่นส์เก่าๆ ย้อนหลังไป 10 ปี พร้อมๆ กับเรียนกวดวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษเสริม
น.ส.พูลทรัพย์ อารีกิจ หรือน้องสาม ชั้น ม.6 ร.ร.เบญจมราชูทิศ ราชบุรี สอบติดแอดมิชชั่นส์อันดับหนึ่งคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า อยากทำงานเป็นนักจิตวิทยา จึงเตรียมตัวสอบด้วยการตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้เต็มที่ตั้งแต่ชั้น ม.4 ไปเรียนกวดวิชา วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และสังคม ในช่วงปิดเทอม แต่เชื่อว่าการเรียนในห้องเรียนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สอบติด
น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม ชั้น ม.6 ร.ร.เฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก สอบติดแอดมิชชั่นส์อันดับหนึ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สอบติดโควตาคณะแพทย์ ม.นเรศวร แต่สละสิทธิ์เพราะอยากเรียนทันตแพทย์มากกว่า เพราะช่วยเหลือคนอื่นได้ เนื่องจากถ้าฟันมีปัญหาก็กินอาหารไม่ได้ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงและเป็นบ่อเกิดเชื้อโรคต่างๆ
"เทคนิคการเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นส์ก็ตั้งใจเรียนในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ หมั่นทบทวนความรู้ และนำข้อสอบเอนทรานซ์และแอดมิชชั่นส์เก่าๆ ช่วง 10 ปีนี้มาฝึกทำ และไปเรียนกวดวิชาบ้างในบางวิชา แต่สิ่งสำคัญต้องตั้งใจเรียน" น.ส.นันทิชา กล่าว
นายธีรวีร์ กุระเดชภพ ชั้น ม.6 ร.ร.พิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก สอบติดแอดมิชชั่นส์อันดับหนึ่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สอบติดรับตรงคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สาขาการเมืองและการต่างประเทศ แต่จะสละสิทธิ์ ไปเรียนจุฬาฯ เพราะชอบด้านนี้อยากทำงานกระทรวงการต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ เคล็บลับเตรียมตัวสอบ ตั้งใจเรียนตลอด 3 ปี ฟังครูให้เข้าใจในห้องเรียน ถ้าไม่เข้าใจก็ถามครู และขยันอ่านหนังสือ ช่วง ม.6 อ่านหนังสือทั้งปีค่อยๆ อ่านทีละวิชา ฝึกข้อสอบเอนทรานซ์และแอดมิชชั่นส์เก่าๆ และเรียนพิเศษเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์
ชาช่าติดสถาปัตย์อินเตอร์จุฬาฯ
สำหรับดารานักร้องที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2552 อาทิ นายภาณุ จิระคุณ หรือป็อปปี้ 1 ใน 5 สมาชิกบอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นวงเค-โอติค สังกัดกามิกาเซ่ ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) จบ ม.6 จากโรงเรียนนานาชาติไอซีเอส กรุงเทพ โดยเลือกวิธีสอบตรงและสามารถสอบผ่านเข้าไปศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย (ภาคอินเตอร์)
น.ส.ริต์ตา รามณรงค์ หรือ ชาช่า นักร้องวัยรุ่นน้องใหม่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จบการศึกษาชั้น ม.6 จากโรงเรียนนานาชาติเอกมัย สามารถสอบผ่านเข้าไปศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขากราฟฟิกดีไซน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาคอินเตอร์) ก่อนหน้านี้ชาช่าเป็นอดีตนักร้องเกิร์ลกรุ๊ปวงซิกแซก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือน้ำตาล หนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายรายการเดอะสตาร์ 5 จบเตรียมอุดมดนตรี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลือกศึกษาต่อโดยใช้วิธีสอบตรงในระดับอุดมศึกษาทางด้านธุรกิจดนตรี สถาบันเดียวกัน
กรมสุขภาพจิตเปิดฮอตไลน์ 24 ชม.
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายคนไม่ใช่คนเรียนเก่งหรือจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง บางคนเรียนไม่จบ กลับประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่จบการศึกษา ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้เปิดฮอตไลน์คลายเครียด หรือสายด่วนรับปรึกษาและให้คำแนะนำที่หมายเลขโทร.1323 มีถึง 26 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง