
เวียนเทียนอย่าสักแต่ว่า...เวียน
พิธีเวียนเทียน ตามพุทธศาสนสถานทั่วไป มักจะเวียนรอบๆ ปูชนียวัตถุ หรือ บูชนียสถาน เช่น พระอุโบสถ พระเจดีย์ หรือถ้าไม่มีพระอุโบสถพระเจดีย์ก็มักจะเวียนรอบ พระประธานประจำศาสนสถานนั้นๆ (เช่น พระพุทธรูปในศาลาการเปรียญ หรือลานรอบพระประธานที่พุทธมณฑลร่วมบูชา เวีย
หากบางวัดมีลานกว้างขวางเหมาะสม ก็อาจเวียนรอบทั้งพระอุโบสถและพระเจดีย์ในคราวเดียว
แต่เดิมกำหนดไว้ ๓ วัน คือ วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันมาฆบูชา ต่อมาได้เพิ่มวันอาสาฬบูชา เข้ามาอีกวันหนึ่ง รวมเป็น ๔ วัน
พิธีกรรมก่อนจะเวียนเทียน แต่ละแห่งก็แตกต่างกันไป ถ้าจัดเป็นหมู่คณะ ก็อาจมีการกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัยก่อน ตอนกำลังเวียนไป ก็อาจมีการสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หรือบทอื่นๆ
ในบางที่ก็อาจไม่มีการสวด โดยเวียนรอบๆ โดยอาการสงบ บางแห่งก็อาจตามสะดวก กล่าวคือ ใครมาเมื่อไหร่ก็เวียนเมื่อนั้น มาคนเดียวก็เวียนคนเดียว หนุ่มสาวมาด้วยกันก็ชวนกันไปเวียนคู่กัน ที่มาทั้งครอบครัวก็จับกลุ่มเวียนกันไป
หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว ถ้าเป็นหมู่คณะ บางครั้งก็มีการรวมกลุ่ม เพื่อแผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์อีกครั้ง
ประเทศไทยได้รับพิธีการเวียนมาจากอินเดีย พร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่า เวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา ๓ รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้นๆ อย่างสูงสุด ไทยได้รับคตินิยมนี้มาและปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทย โดยนำมาใช้เป็นการแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัย มาตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏเป็น "ฐานประทักษิณ" สำหรับการกระทำพิธีเวียนเทียนในโบราณสถานทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่า มีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการเวียนเทียนจะเวียน ทางขวา หรือ ทางซ้าย นั้น มีทั้งการเวียนขวาซึ่งเรียกว่า ทักษิณาวรรต หรือ ประทักษิณ และการเวียนซ้ายซึ่งเรียกว่า อุตราวรรต
แต่เป็นคติความเชื่อแต่โบราณว่า ขวาเป็นมงคล ซ้ายเป็นอวมงคล ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกันกับเรื่องทิศด้วย โดยสมัยโบราณแบ่งทิศเป็นเพศ และจำแนกเป็นขวาและซ้าย คือ ทิศตะวันออกกับทิศใต้เป็นทิศฝ่ายขวา เป็นเพศชาย ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือ เป็นทิศฝ่ายซ้าย เป็นเพศหญิง คนโบราณจึงนิยมนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ อันเป็นทิศฝ่ายขวา ซึ่งในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย และในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ได้กล่าวถึงหัวนอนไปทางทิศใต้ จึงจำเป็นอยู่เอง ที่คนตายจะต้องหันหัวสู่ทิศเหนือเวลาฝังศพ จึงต้องเอาหัวคนตายไปทางทิศเหนือ
เมื่อทิศใต้เป็นทิศมงคล และเป็นทิศหัวนอนของคนโบราณมีชื่อว่า ทักษิณ ซึ่งแปลว่า ขวา หรือ ความเจริญ ทานอันเป็นผลบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงเรียกว่า ทักษิณานุประทาน
การแสดงความเคารพองค์สถูปเจดีย์ จึงนิยมการเดินเวียนขวารอบองค์เจดีย์ หรือการเวียนเทียนสมโภชก็เวียนขวา เรียกว่า ทักษิณาวรรต
พระระเบียงที่มีอยู่รอบพระสถูปเจดีย์ หรือพระอุโบสถ พระวิหาร จึงมีไว้เพื่อพุทธศาสนิกชนเดินทักษิณาวรรตบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ
ส่วนบนฐาน ชั้นล่างขององค์พระเจดีย์ หรือพระปรางค์ที่มีทางเดินโดยรอบเรียกว่า ฐานประทักษิณ คือฐานที่มีไว้สำหรับผู้ไปบูชาเดินเวียนขวาโดยรอบ
การเวียนซ้าย หรืออุตราวรรต นิยมใช้ในงานอวมงคล เช่น การนำโลงศพเวียนซ้ายรอบจิตการธาน อันเป็นการลาลับโลกนี้ไป
หรือใช้ในพิธีถอนทางวิชาไสยศาสตร์ เช่น การถอนฝี ผู้ทำการรักษาจะเอานิ้วมือชี้ลากวนซ้ายไปรอบๆ ฝี จึงจะหาย
สำหรับอานิสงส์ของการเวียนเทียนนั้น หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี บอกว่า มีเยอะ สมัยพระพุทธเจ้า เขาไม่ได้เวียนแบบเราทุกวันนี้ เขาเวียนแบบรอบเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าทรงนิพพาน เวียนรอบเจดีย์พระอรหันต์ มีอานิสงส์มาก บางคนก็เวียนทั้งคืน สมัยนี้ไม่มีแล้ว จะไปทำอย่างนั้นก็ใจไม่ถึง คือ เขาทำอะไรเขาทำให้เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้เป็นโทษแก่คนอื่น การเวียนเทียน จึงถือว่า เป็นการแสดงความเคารพ ใจจะเป็นสมาธิ ใจนั้นจะตื่น จะมีปีติ ก็เหมือนเดินจงกรมไปในตัว
เวลานั่งสมาธิ ก็จะไม่ง่วงเหงาหาวนอน และการเคลื่อนไหวก็จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ทำให้เราได้ต่อสู้กับเวทนา ธรรมดาคนเราจะอยู่ยันสว่างไม่ได้ ต้องอาศัยนั่งไปฟังธรรมไป แล้วก็เวียนเทียน ก็จะช่วยให้กำลังใจเราได้ แล้วนิวรณ์ก็จะดับ
๙ สัจจะอธิษฐาน
พระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ "เจ้าคุณพิพิธฯ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสุทัศนเทพวราราม บอกว่า บางวัดจะมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการประกอบพิธี มีการให้โอวาท สวดมนต์ และนำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าว สุดแต่เห็นสมควร
ในการเดินเวียนเทียน จะกระทำ ๓ รอบ รอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
รอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ และ รอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
นอกจากนี้ ยังมีคาถาอีก ๓ บท คือ คาถาพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ที่ว่า อาสะภิวาจา ฯลฯ คาถาพุทธอุทาน ที่ว่าอานกะชาติ สังสารัง ฯลฯ และจบด้วย คาถาปัจฉิมโอวาท หรือพระโอวาท ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานเหล่าภิกษุก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน นั้นเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงเตือนเหล่าภิกษุรวมคฤหัสถ์ไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท แต่ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ที่ว่า ภาสิตา โข เตนะ ภะคะวะตา ฯลฯ สำหรับผู้ที่สวด ๓ บทหลังไม่ได้ ให้สวดให้สวด ๓ บทแรก ไปเรื่อยจนกว่าจะเวียนเทียนรบ ๓ รอบ
ระหว่างการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
ไม่ควรส่งเสียงพูดคุย หรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนด โดยให้ตั้งจิตอธิษฐาน สำนึกชาวพุทธ ๙ อย่าง คือ
๑.สำนึกว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติบรรพชน ๒.สำนึกว่าตนเป็นคนมีบุญ ๓.สำนึกว่า ๔.สำนึกว่าตนเป็นหนึ่งหุ้นของพุทธบริษัท ๕.สำนึกว่าต้องสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ชนรุ่นหลัง ๖.สำนึกว่าต้องไม่ระวังมิให้ใครมาทำลาย ๗.สำนึกว่าต้องเผยแผ่ให้ขยายต่อสังคมโลก ๘.สำนึกว่า ต้องพาตนให้พ้นโอฆงสาร (สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร) และ ๙.สำนึกว่าต้องทำให้พระนิพพานให้แจ้ง
หลังจากเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่นๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้น
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ศูนย์ภาพเนชั่น"