ไลฟ์สไตล์

ขยายพันธุ์ชะมดเช็ดสู่การค้า

ขยายพันธุ์ชะมดเช็ดสู่การค้า

17 ม.ค. 2555

ขยายพันธุ์ชะมดเช็ดสู่การค้า สัตว์เศรษฐกิจแห่งอนาคต : โดย...ดลมนัส กาเจ

                หลังจากกระแสราคาไขมันชะมดเม็ดสูง กก.ละ 2-4 แสนบาท และกาแฟขี้ชะมดราคาแก้วละ 500-900 บาท จึงมีเกษตรกรบางกลุ่มมีการล่าชะมดเช็ดในแหล่งธรรมชาติเพื่อนำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ประชากรชะมดเช็ดในป่ามีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้ "นสพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทุ่มเทเวลานานเกือบ 5 ปี ในการศึการวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ชะมดเล็ดจนประสบผลสำเร็จ และเตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ในอนาคต

                 นสพ.ดร.บริพัตร บอกว่า การพยายามศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ชะมดเช็ดเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ช่วยกันดูแลรักษาและเพาะพันธุ์ไว้ จึงไปหาชะมดเช็ดจาก อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรีมี 8 คู่เมื่อปี 2551 และได้ไปขอความอนุเคราะห์สถานที่โครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านดงเย็น ซึ่งโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ไปทำการศึกษาพฤติกรรมจนผ่านไป 1 ปี แต่ไม่สำเร็จ

                "ผมเป็นหมอสูติ ทำผสมเทียมมานานพอสมควร ทั้งเกี่ยวกับแพนด้า และละมั่ง โดยใช้เทคนิคการเก็บน้ำเชื้อแช่แข็ง แต่พอมาศึกษาวิจัยกับสัตว์กินเนื้อบางอย่าง เช่น เสือลายเมฆ รวมถึงชะมดเช็ด พบว่าขยายพันธุ์ยากมาก จึงมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ปิดจุดอ่อนต่างๆ ผลปรากฏว่า ในปี 2552 ก็ได้ลูกมาจำนวนหนึ่ง แต่พอปี 2554 สามารถขยายพันธุ์ได้เพิ่มมา 20-30 ตัว ตอนนี้ลูกชะมดเช็ดบางส่วนก็เป็นพ่อพันธุ์และให้ลูกบ้างแล้ว  หากรวมทั้งหมดตอนนี้เรามีชะมดเช็ดกว่า 50 ตัว ถือว่าประสบผลสำเร็จรายแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่จัดเป็นระบบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เป็นการผสมพันธุ์แบบธรรมชาติ ส่วนผสมเทียมนั้นกำลังศึกษาต่อไป เพื่อพัฒนาให้เป็นโปรดักท์ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมคู่กับการส่งเสริมเผยแพร่ รวมถึงการศึกษาในเรื่องของไขมันชะมด เลี้ยงเพื่อผลิตกาแฟขี้ชะมด เพราะผมเองเคยดื่มกาแฟขี้ชะมดมาแล้วแก้วละ 900 บาท" นสพ.ดร.บริพัตร กล่าว

                ด้านนายพิทยา แสงสุริยัน หัวหน้าโครงการฟาร์มตัวอย่างบ้านดงเย็น บอกว่า ช่วงแรกที่การขยายพันธุ์ชะมดเช็ดที่ไม่ประสบผสสำเร็จ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ตื่นกลัวคนมาก ต่อมาจึงมีการทำกรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด สร้างกรงใกล้ป่าไผ่ กว้าง 3x6 เมตร ภายในกรงประกอบด้วยบ่อน้ำ 1 บ่อ มีถ้ำ 2 ถ้ำให้หลบนอน หลบตั้งท้องและออกลูก มีพืชธรรมชาติขึ้นบ้าง ส่วนอาหารจะใช้ซี่โครงไก่ เนื้อไก่ติดกระดูกวันละ 1 ครั้ง ชะมด 1 ตัวจะกินอาหารราว 300-400 กรัม สลับกับอาหารเสริมจำพวกอาหารแมว ไข่ นม ผลไม้ป่าตามฤดูกาล จัดให้อยู่เป็นสัดส่วน จากการสังเกตในจอวิดีโอวงจรปิด เมื่อชะมดอยู่ในสภาพที่เงียบก็เริ่มมีพฤติกรรมการเป็นสัด ก้าวร้าว ดุร้าย มีการจับคู่ มีการผสมพันธุ์จนสามารถออกลูกตัวละราว 3-4 ตัว ลูกชะมดจะกินนมแม่ประมาณ 85-90 วัน จากนั้นเราจึงแยกว่าตัวไหนจะเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ อีกส่วนหนึ่งเลี้ยงในกรงเล็กเพื่อให้ชะมด เช็ดไขมัน ซึ่งปัจจุบันได้ไขมันชะมดมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ส่งไปขาย ทราบว่าตอนนี้ราคากิโลกรัมอยู่ในหลักแสนบาท

                ชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกฎกระทรวงออกมาว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2537) เนื่องจากเห็นว่าความต้องการเช็ดชะมด หรือไขมันชะมดของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ เพื่อนำไปผลิตเป็นยาไทยแผนโบราณ ทางด้าน น้ำอบไทย และน้ำมันระเหย ที่ใช้สำหรับสปา และสุคนธบำบัด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณใช้แก้ลมวิงเวียนศีรษะ โลหิตพิการ หืด ไอ เสมหะแห้ง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น เป็นส่วนผสมสำคัญในการทำยาหอม มีรสหอมเย็น มีกลิ่นคาวเล็กน้อย เป็นต้น

...............................
(ขยายพันธุ์ชะมดเช็ดสู่การค้า สัตว์เศรษฐกิจแห่งอนาคต : โดย...ดลมนัส  กาเจ)