
ผลิตภัณฑ์กระจูดพนางตุง
'ผลิตภัณฑ์กระจูดพนางตุง' - จากภูมิปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ : โดย ... สุพิชฌาย์ รัตนะ
ปัจจุบันมีวัชพืชมากมายที่ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสิ่งของที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่นและชุมชนหลายต่อหลายแห่ง อย่างกระจูดพืชที่ขึ้นตามพรุที่ชาวภาคใต้ใช้ภูมิปัญญามาสานทำเป็นเสื่อ หรือกระสอบ มาใช้เอง ปัจจุบันกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นเป็นอย่างดี อย่าง “ผลิตภัณฑ์จากกระจูด” ของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดบ้านท่าช้าง" ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของ จ.พัทลุง ที่ใครต่อใครต่างยกนิ้วให้ในความงดงามที่ควบคู่กับคุณภาพสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี
“ผลิตภัณฑ์จากกระจูด” ของชุมชนบ้านท่าช้าง ถือเป็นมรดกทางปัญญาของบรรพบุรุษได้ถูกถ่ายทอดสู่ทายาทในยุคหลังจนเกิดการสานและถักทอกระจูดจนไปสู่สินค้าที่ผลิตออกจำหน่ายผู้คนอย่างเป็นลำเป็นสัน หลังจากที่คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านรวมตัวเพื่อช่วยกันรังสรรค์ผลิตภัณฑ์กระจูดอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมสืบทอดกันมาหลายชั่วคนจนวันนี้ผู้คนในชุมชนแห่งนี้เกือบ 100% หันมายึดอาชีพทำผลิตภัณฑ์กระจูดออกสู่ตลาดจนกลายเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว
"ใน จ.พัทลุง มีกระจูดขึ้นเพียงแห่งเดียว คือในพื้นที่ทะเลน้อย ต.พนางตุง และ ต.ทะเลน้อย ใน อ.ควนขนุน เนื่องจากพื้นที่ดินมีลักษณะเป็นที่ลุ่มอยู่ริมทะเลสาบ มีน้ำขังตลอดทั้งปี ซึ่งในอดีตกระจูดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันความสำเร็จของการนำผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ที่แปรรูป ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกระจูดรายละ 3-10 ไร่ รวมพื้นที่แล้วกว่า 1,000 ไร่เศษ และชาวบ้านละแวกนี้ได้หันมาประกอบอาชีพหลักในการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดด้วย" สุจินต์ สุขวิน แกนนำกลุ่มหัตถกรรมกระจูดบ้านท่าช้าง กล่าว
ความสำเร็จในผลิตสินค้ากระจูดจนขึ้นชื่อของชาวชุมชนท่าช้าง ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาฝีมือและคุณภาพจนได้รับการยอมรับของลูกค้า และกลุ่มชุมชนบ้านท่าช้างได้ยกฐานะเป็น "วิสาหกิจชุมชนชมรมสื่อแห่งปัญญาพัฒนาเกษตรยั่งยืน" ที่พร้อมเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สาธิตและเพิ่มพูนทักษะต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปอีกด้วย
สุจินต์บอกอีกว่า สำความสำเร็จในการผลิตสินค้าของกลุ่มหัตถกรรมกระจูดบ้านท่าช้างในวันนี้ ไม่เพียงนำความรู้จากบรรพบุรุษที่ได้รับการถ่ายทอดกันมา หากแต่อีกส่วนหนึ่งเกิดมาจากการส่งเสริมของหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะ “วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน” ที่กำกับและดูแลโดย “มหาวิทยาลัยทักษิณ” ที่ช่วยสร้างกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อช่วยพัฒนาแนวทางในการดำรงชีพด้วยการประยุกต์ใช้จากวิถีเดิมๆ มาสู่การพัฒนารูปแบบเผยแพร่ด้านวิชาการ องค์ความรู้ภูมิปัญญาสู่สาธารณะพร้อมทั้งจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาหัตถกรรมกระจูดของชุมชนและท้องถิ่นให้แก่เด็กเยาวชน
นอกจากนี้ยังได้รับการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการออกแบบ อาทิ การนำกระจูดมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ข้าวซ้อมมือ หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่เป็นของฝากของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ นอกเหนือจากรูปแบบเดิมที่นำออกขาย และที่สำคัญยังได้รับการส่งเสริมการด้านการตลาดโดยการออกบูธในงานแสดงสินค้าในโอกาสต่างๆ ควบคู่ไปกับการแสวงหาและขยายตลาดใหม่ๆ ด้วย จนวันนี้สินค้าจากกลุ่มหัตถกรรมกระจูดบ้านท่าช้าง ก็ยังคงรักษาเพดานในการจำหน่ายสินค้าเพียงใบละ25 บาทเหมือน
สนใจติดต่อขอเรียนรู้สามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน 0-7460-8019 หรือแต่หากสนใจติดต่อได้ที่ สุจินต์ สุขวิน หมายเลข 08-6958-5650
----------
(หมายเหตุ : 'ผลิตภัณฑ์กระจูดพนางตุง' - จากภูมิปัญญาสู่เชิงพาณิชย์ : โดย ... สุพิชฌาย์ รัตนะ)
----------