
โคราชค้นพบ'ไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลก'
สุดยอดวงการฟอสซิลไทย ค้นพบไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช ตั้งชื่อตามถิ่นค้นพบ 'ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ' เตรียมนำเข้าร่วมจัดแสดงในงาน 'มหกรรมฟอสซิล' หรือฟอสซิลเฟสติวัล วันที่ 29 พ.ย. - 5 ธ.ค.54
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย.54 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้แถลงข่าวการค้นพบซากไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์ใหม่ของโลก ในพื้นที่ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา และได้มีการตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งที่พบว่า 'ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ' โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และทีมวิจัยที่ร่วมกันค้นพบ ประกอบด้วย ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น , นายมาซาเทรุ ชิบาตะ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมให้รายละเอียด
นายสุวัจน์ กล่าวว่า ผลการวิจัยเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีการนำเสนอในที่ประชุมของนักวิชาการบรรพชีวินวิทยาในสัปดาห์หน้า และได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารด้านธรณีวิทยาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร.โยอิชิ , นายมาซาเทรุ , ผศ.ดร.ประเทือง และคณะนักวิจัยฯ ที่ได้ทำงานสำรวจร่วมกันในพื้นที่ ตำบลสุรนารี ซึ่งเป็นเสมือนบริเวณชานเมืองนครราชสีมา
พบว่าไดโนเสาร์ดังกล่าว มีอยู่ชนิดหนึ่งที่เป็นชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งที่พบ กับชื่อชนิด เพื่อเป็นเกียรติแก่วีรสตรีผู้นำที่กล้าหาญของชาวเมืองโคราช คือ ท่านท้าวสุรนารี รวมเป็นชื่อสกุลและชนิดใหม่ของโลกว่า 'ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ' ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ขอมอบให้เป็นสมบัติของชาวนครราชสีมาทุกคน และเป็นข่าวดีในโอกาสเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดร.ประเทือง เปิดเผยว่า ไดโนเสาร์ 'ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ' ที่ค้นพบในครั้งนี้ เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวก 'อิกัวโนดอนต์' ซึ่งตามรูปศัพท์หมายถึงฟันแบบอิกัวนา ในทางไดโนเสาร์วิทยา จัดอยู่ในประเภทไดโนเสาร์ที่มีกระดูกสะโพกแบบนก พบซากในบริเวณขุดสระน้ำของหมู่บ้านโป่งแมลงวัน ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ.2550
เนื่องจากเป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่คณะผู้วิจัยจากสถาบันและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ได้ทำการวิจัย และพบว่าเป็นพันธุ์ใหม่ของโลก ได้รับการยอมรับตีพิมพ์ในวารสารด้านธรณีวิทยาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางทีมผู้วิจัยจึงได้ให้ใช้ชื่อสกุลว่า 'ราชสีมาซอรัส' เพราะเป็นไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดนครราชสีมา การไม่ใช้ชื่อโคราโตซอรัส เพราะชื่อดังกล่าวมีปรากฎอยู่ก่อนแล้วในสื่อสาธารณะหรือเอกสารที่มีการเผยแพร่ แม้จะยังเป็นชื่อที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการขณะนี้
ส่วนชื่อชนิด 'สุรนารีเอ' ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่วีรสตรีผู้นำในอดีตที่กล้าหาญของจังหวัดนครราชสีมาหรือท่านท้าวสุรนารี สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ เป็นสถาบันวิจัยทางด้านทรัพยากรซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล ซึ่งวิชาการทางด้านนี้ เรียกว่า บรรพชีวินวิทยา ปัจจุบันสถาบันวิจัยได้ให้บริการทางวิชาการและการท่องเที่ยวหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีนิทรรศการแสดง รูปแบบอุทยานที่เกี่ยวกับฟอสซิลหินและพืชพรรณ รูปแบบกิจกรรมค่ายทางวิชาการ เช่น อบรมมัคคุเทศก์น้อย อบรมครูธรณีวิทยา รูปแบบการจัดประชุมวิชาการ ซึ่งเคยจัดประชุมทั้งในระดับอาเซียนร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อปีที่ผ่านมา และระดับโลกที่กำลังจะจัดในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 นี้ รวมทั้งในรูปแบบการจัดงานนิทรรศการเคลื่อนที่ไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่สุด อย่างที่เรียกว่ามหกรรมฟอสซิล หรือฟอสซิลเฟสติวัล ที่จะจัดงาน 7 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ในช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งขณะนี้มียอดจองเข้าชมแล้วมากกว่า 25,000 คน
พันธกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งของสถาบัน คือ การวิจัยทางด้านฟอสซิล โดยเฉพาะในท้องถิ่นโคราชและภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้เน้นฟอสซิลที่พบมากหรือที่มีความโดดเด่น เป็นที่สนใจของผู้คนหรือนักวิชาการ เช่น ฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์ แม้โคราชจะมีฟอสซิลมากมายหลายชนิดก็ตาม ทั้งนี้ เป็นเพราะเรามีข้อจำกัดด้านงบประมาณ บุคลากรวิจัย และอุปกรณ์เครื่องมือในการวิจัยอย่างไรก็ตาม สถาบันได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ เช่น กับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ และผู้บริหารทางการศึกษาของจังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น จนได้รับการสนับสนุนทั้งบุคลากรวิจัย การใช้ห้องปฏิบัติการและงบประมาณ 7 ล้านบาท
สำหรับการสำรวจขุดค้นและวิจัยไดโนเสาร์ในพื้นที่ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา และพบว่ามีไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคไดโนเสาร์หลากหลายชนิดในบริเวณชานเมืองนครราชสีมา ที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง เช่น ไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดยาวถึง 10 เมตร จำพวกอัลโลซอร์ ไดโนเสาร์กินพืชพวกอิกัวโนดอนต์ พวกแฮดโรซอร์หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด พวกซอโรพอดหรือไดโนเสาร์คอยาว หางยาว รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานบินพวกเทอโรซอร์ จระเข้ เต่า ปลา หอย เป็นต้น รวมถึง ไดโนเสาร์ 'ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ' ที่เพิ่งค้นพบ
ผช.ศ.ดร. เศาวนิต กล่าวว่า เมื่อเอ่ยถึงไดโนเสาร์ คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงไดโนเสาร์ในจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว จังหวัดนครราชสีมาก็พบฟอสซิลไดโนเสาร์ในพื้นที่หลายอำเภอ ทั้งเมืองนครราชสีมา ปักธงชัย ด่านขุนทด ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ให้การสนับสนุนนักวิจัยของสถาบัน ทำความร่วมมือกับนักวิชาการด้านไดโนเสาร์กับต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศลาว ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือและห้องปฏิบัติวิจัยในต่างประเทศ การศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ การร่วมจัดนิทรรศการในต่างประเทศ เช่น นิทรรศการไดโนเสาร์เอเชียที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น