
รวมกลุ่มจักสาน 'เข่ง' ส่งต่างแดน
รวมกลุ่มจักสาน 'เข่ง' ส่งต่างแดน อาชีพเสริมหลังนาชุมชน 'บ้านบัว' โดย...สุรัตน์ อัตตะ
ผลสำเร็จจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ทำให้วันนี้บ้านดอกบัว (บ้านบัว) ในตำบลบ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา กลายเป็นชุมชนดีเด่นระดับประเทศ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของบุคคล ชุมชน และองค์กรภาครัฐและธุรกิจ ที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ในการดำเนินชีวิต การพัฒนาชุมชน และการบริหารจัดการองค์กร จนประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดีที่สังคมและยังได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เมื่อครั้งที่ผ่านมาอีกด้วย
บาล บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านดอกบัว เปิดเผยว่า หลังชุมชนบ้านดอกบัวได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในชุมชน โดยมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในชุมชนบ้านบัวมีอาชีพหลัก คือ ทำนา นอกฤดูทำนา นำไม้ไผ่ที่มีเป็นจำนวนมากในชุมชนมาจักสานเป็นภาชนะเพื่อใช้ประโยชน์ อาทิ สุ่มไก่ เข่ง และนำออกจำหน่ายในลักษณะการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มจักสานเข่ง ซึ่งช่วยสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านบัวเป็นอย่างดี เพราะมีตลาดรองรับที่แน่นอน ปัจจุบันส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ชาวชุมชนยังมีการเลี้ยงโคพร้อมปลูกหญ้าแพงโกล่าสำหรับเลี้ยงโคภายในชุมชน ที่เหลือก็ออกจำหน่าย ทำให้มีรายได้เข้าชุมชนอีกทางหนึ่ง
"ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นแหล่งศึกษาดูงานของทุกคนและบุคคลทั่วไป ได้แก่ การทำจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย การผลิตและใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยในการรักษาคุณภาพดิน ทำให้ลดรายจ่ายจากการซื้อปุ๋ยเคมีได้ปีละไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อราย นอกจากนี้ราษฎรในชุมชนยังมีการประยุกต์ใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่พื้นบ้าน และนำมูลโคมาทำแก๊สเพื่อใช้หุงต้มภายในครัวเรือน" บาลเผย
ขณะเดียวกันทุกครอบครัวภายในชุมชนจะมีการปลูกพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงปลาไว้กิน เหลือจากการบริโภคก็แบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่ายบ้าง ชุมชนมีครูภูมิปัญญาชาวบ้านหลายด้านที่ถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ แนวทางการทำงาน ประสบการณ์ และกระบวนการเรียนรู้ด้านต่างๆ ออกสู่ชุมชน เช่น มีศูนย์การเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนา และศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ชุมชนจะมีการปลูกไผ่ทดแทนไม้ไผ่ที่นำมาจักสานเข่งและสุ่มอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คนในชุมชนยังมีการดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการนำเงินปันผลจากกลุ่มต่างๆ ให้คนด้อยโอกาสและผู้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิต โดยการจัดสวัสดิการจากกองทุนต่างๆ ให้โดยการนำเงินปันผลจากกลุ่มต่างๆ มาเป็นสวัสดิการ
"วันนี้ชาวบ้านดอกบัวทุกหลังคาเรือนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ผลงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่หน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยการมาศึกษาดูงานเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนตามจุดเรียนรู้ต่างๆ" ผู้นำหมู่บ้านกล่าวทิ้งท้าย
จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ชุมชนแห่งนี้ได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานราชการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หมู่บ้านชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง "อยู่เย็น เป็นสุข" รางวัลชนะเลิศหมู่บ้านพึ่งตนเอง ระดับจังหวัดพะเยา รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทกลุ่มอาชีพดีเด่นตามโครงการเชิดชูเกียรติของกลุ่มจักสานเข่ง และผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น
--------------------------------
(รวมกลุ่มจักสาน 'เข่ง' ส่งต่างแดน อาชีพเสริมหลังนาชุมชน 'บ้านบัว' โดย...สุรัตน์ อัตตะ)