ไลฟ์สไตล์

ศิลปะฉุกเฉินเมืองโอ่ง...เพื่อผู้ลี้ภัยน้ำ

ศิลปะฉุกเฉินเมืองโอ่ง...เพื่อผู้ลี้ภัยน้ำ

17 พ.ย. 2554

ศิลปะฉุกเฉินเมืองโอ่ง...เพื่อผู้ลี้ภัยน้ำ

          ราชบุรีเป็นอีกจังหวัดให้คนกรุงเลือกเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับใช้พักพิงจากปัญหาอุทกภัย ด้วยว่าเป็นพื้นที่พร้อมสรรพไปด้วยคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและระยะทาง อากาศ และสถานที่ท่องเที่ยวเหมาะแก่การพักผ่อนคลายเครียด โรงงานเซรามิก เถ้าฮงไถ่ ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงงานทำโอ่งมังกรและงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกใน จ.ราชบุรี ทั้งยังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่คนอพยพสู่เมืองโอ่งอย่างหนาตา ดังนั้นในฐานะเจ้าบ้านจึงรวมตัวกันเฉพาะกิจจัดโครงการ Clay-Pop เวิร์กช็อปสอนปั้นดิน ไว้คอยบริการพี่น้องครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมมาร่วมผ่อนคลาย และปลดปล่อยจินตนาการไปกับศิลปะท้องถิ่น ที่สำคัญ เรียนและเล่นฟรี แต่สามารถร่วมบริจาค โดยจะนำเงินทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายร่วมสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

          "อาจารย์ติ้ว" วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 โรงงานเถ้าฮงไถ่ บอกว่า "จังหวัดเราอาจจะโชคดีกว่าหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มากนัก แต่เราก็อยู่ในสภาวะที่เข้าใจความรู้สึกของผู้ได้รับความเสียหายเป็นอย่างดี และพวกเราได้รับเกียรติให้ได้ต้อนรับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เลือกบ้านของพวกเรามาพักอยู่ชั่วคราว ทำให้ในเวลานี้ราชบุรีเมืองเล็กๆ ที่เงียบๆ คึกคักไปด้วยผู้คน จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรามานั่งคิดว่า จะดูแลเพื่อนๆ ที่เชื่อว่าทุกคนเครียด เป็นห่วง และมีเรื่องที่ต้องกังวลมากมาย ให้มีความสุขและสนุกได้อย่างไร จึงได้มีการร่วมกันเฉพาะกิจ "ประกาศสภาวะศิลปะฉุกเฉิน” คำพูดที่ดูเหมือนล้อเลียน แต่ออกมาจากความตั้งใจที่ดี และเต็มใจของน้องคนหนึ่งในกลุ่มเยาวชนทีมติดศิลป์บนราชบุรี งานศิลปะเล็กๆ ที่เป็นสตรีทอาร์ตครั้งแรกของ จ.ราชบุรี เมื่อกลางปีที่ผ่านมา"

          อาจารย์ติ้วบอกว่า ดินเป็นสื่อหนึ่งที่คนจะนึกถึงเมื่อได้ยินชื่อจังหวัดราชบุรี ไม่ว่าโอ่ง อ่าง กระถาง ไห งานประติมากรรมดินเผาสวยๆ ที่มีสีสันสดใส วันนี้พวกเราเลยอยากให้ทุกคนไม่ได้แค่รู้ว่าเรามีงานดินเผาสวยๆ แค่นี้ แต่จะให้มาเล่นและรู้จักกับดินให้มากขึ้นผ่านโครงการสร้างสรรค์ Clay-Pop เวิร์กช็อปสอนปั้นดินชื่อ Clay-Pop ฟังดูคล้ายกระแสนิยมเกาหลี K-Pop ที่เราแห่ตามกันมาระยะหนึ่งแล้ว

          "เป็นโครงการที่พวกเราใช้พื้นที่ในโรงงานเถ้าฮงไถ่สอนเทคนิคการทำเซรามิกแบบง่ายๆ โดยน้องๆ กลุ่มติดศิลป์บนราชบุรีมาเป็นผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นการปั้นดิน หรือเพ้นท์สีบนภาชนะต่างๆ ในตอนแรกเราไม่รู้เลยว่าจะมีคนได้รับรู้ถึงข่าวสารในครั้งนี้แค่ไหน เพราะช่วงเวลาที่เราได้ทราบข่าวถึงการมาของเพื่อนๆ และการเตรียมการต่างๆ ค่อนข้างกระชั้นมากๆ เราทุกคนได้ทำการประชาสัมพันธ์โดยอาศัยสื่อในโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเฟซบุ๊ก รวมถึงนำโปสเตอร์และใบปลิวไปติดและวางตามเคาน์เตอร์โรงแรมและสถานที่สำคัญต่างๆ ในตัว จ.ราชบุรี แต่เหลือเชื่อ ในเวลาอันจำกัด และการบอกต่อๆ กัน ทำให้บรรยากาศ Clay-pop คึกคักและมีความสุข" ทายาทผู้สืบทอดศิลปะท้องถิ่นสู่ศิลปะร่วมสมัยบอกเล่า

          บรรยากาศของการเรียนการเล่นนั้น เป็นภาพของพ่อ แม่ ลูก ที่มานั่งปั้นดินหรือระบายสีด้วยกัน เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความตั้งใจ และความสุข หลายครอบครัวมาเวิร์กช็อปแล้วก็กลับมาในวันต่อๆ ไป พร้อมขนม เครื่องดื่มต่างๆ ที่ติดไม้ติดมือมาสำหรับแจกเพื่อนๆ ที่มาร่วมปั้นและทีมงานศิลปะชาวราชบุรี บางคนนำเอาผลงานของตัวเอง เช่น ผ้ากันเปื้อนลายน่ารักติดมือมาบอกทางทีมงานให้เอาไปจำหน่าย โดยจะมอบรายได้ทั้งหมดสมทบทุนกับโครงการช่วยคนเดือดร้อนจากมหาอุทกภัย

          โครงการศิลปะดีๆ ในยามที่สังคมไทยต้องการน้ำใจครั้งนี้ ต้องปรบมือให้เหล่าจิตอาสา กลุ่มติดศิลป์บนราชบุรี "อาจารย์ติ้ว" วศินบุรี และโรงงานเซรามิก เถ้าฮงไถ่ ที่อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ อุปกรณ์การปั้นดิน ทำให้ทุกคนมาร่วมเรียนรู้อยู่ที่นี่อย่างเพลิดเพลินได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่กล่าวข้างต้น ใครมีความประสงค์ที่จะบริจาคเงิน เงินรายได้ทั้งหมดจะนำไปมอบให้มูลนิธิสายใจไทยเพื่อช่วยผู้ประสบภัยต่อไป

          "คนไทยรักกันเสมอ ช่วยกันเสมอ และมีน้ำใจให้กันเสมอ คือสิ่งที่เราเป็น และต้องไม่ให้มันจางและจมหายไปกับสายน้ำ" อาจารย์ติ้วเตือนสติผู้คนในสังคมไทยทิ้งท้าย

          วันนี้แม้ โครงการ Clay-Pop ที่เปิดคอร์สสอนปั้นและเพ้นท์ลายเซรามิก จะจบลงไปแล้ว ทว่าโรงโอ่งเถ้าฮงไถ่ ยังคงเปิดให้บริการสำหรับผู้สนใจแวะไปเที่ยวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-3233-7574 หรือ 08-1880-3600