ไลฟ์สไตล์

'กระเป๋าใบเตยหนาม'ผลิตภัณฑ์วัชพืช

'กระเป๋าใบเตยหนาม'ผลิตภัณฑ์วัชพืช

03 พ.ย. 2554

ต้นเตยหนามเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามท้องไร่นาและที่สำคัญสามารถขยายพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่แปลกใจที่หลายๆพื้นที่มักเลือกให้ต้นเตยหนามไปอยู่ในหมวดของวัชพืชที่ต้องกำจัดตัดทิ้ง แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่บ้านบาโง ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิ

          "กาย๊ะ สีสตางค์" หรือ "ก๊ะย๊ะ" ประธานกลุ่มจักสานใบเตยหนามบ้านบาโง ที่เป็นหัวเรี้ยวหัวแรงสำคัญในการชักชวนกลุ่มสตรีในพื้นที่มารวมตัวหารายได้เสริม จากการแปรรูปใบเตยหนามผลิตเป็นกระเป๋าหลากหลายรูปแบบ ที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดที่ว่าครั้งใดที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือโอทอป ไม่ว่าจะพื้นที่ใดก็ตามมักจะมีชื่อของกลุ่มจักสานใบเตยหนามบ้านบาโง ติดในทำเนียบผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอยู่เสมอ ๆ

          ก๊ะย๊ะ เล่าว่า กว่าจะมารวมตัวเป็นกลุ่มสมาชิก ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คนได้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สำหรับกลุ่มสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน จากผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงตามที่ปรากฎอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับ ด้วยวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวนยางพาราเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่มีเวลามากนักที่จะนัดพบรวมตัวทำกิจกรรม

          กระทั่งเกิดแนวคิด นำใบเตยหนาม มาแปรสภาพจากเครื่องจักสานที่ส่วนใหญ่นำมาสานทำเสื่อ และของใช้ภายในบ้าน ซึ่งเป็นชิ้นงานที่เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นงานที่มีมูลค่า สร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยไม่ต้องลงทุนมากมาย จนในที่สุดตัดสินใจทดลองนำมาผลิตเป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ, กระเป๋า, หมวก, กล่องใส่ทิชชู่ และของที่ระลึกต่าง ๆ ฯลฯ จนท้ายที่สุด ได้ค้นพบว่า ใบเตยหนาม มีคุณสมบัติของเส้นใยเหนียวนุ่ม เหมาะแก่การนำมาถักสานเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในรูปแบบของกระเป๋า สามารถทำออกมาได้ดีที่สุด              

          "ทุกชิ้นงานที่ผลิตออกมา ล้วนเป็นงานแฮนเมด 100% ปัจจุบันเราผลิตกระเป๋าเพียงอย่างเดียว เฉลี่ยประมาณ 30-50 ชิ้นต่อเดือน โดยมีราคาตั้งแต่ 400-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของรูปแบบ และลวดลายของกระเป๋า ซึ่งมีให้เลือก 4 แบบหลัก คือ กระเป๋าทรงกลม, ยาว, เหลี่ยม และทรงรี โดยเฉพาะ กระเป๋าทรงรี ที่กำลังได้รับความนิยม จากกลุ่มสตรีวัยทำงานทั่วไป" ก๊ะย๊ะ กล่าว 

          จากการลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 1 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการผลิต และการจัดระบบการทำงานไปด้วยในตัว ปัจจุบัน "ก๊ะย๊ะ" จึงมีการแบ่งระบบการทำงานออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ แผนกตัดต้นเตย, แผนกจักสาร, แผนกตัดเย็บ และแผนกจัดจำหน่าย ทำให้การทำงานภายใต้สมาชิกเพียง 15 คน สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้เร็ว และมีประสิทธิภาพครบครัน 

          ก๊ะย๊ะ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตกระเป๋านั้น ทุกขั้นตอนล้วนต้องอาศัยการทำงานที่ใช้ฝีมือล้วน ๆ โชคดีที่วัตถุดิบหลักในการผลิตมีอยู่ในท้องถิ่น จึงไม่ต้องลงทุนหาซื้อให้สิ้นเปลืองต้นทุน แต่อาจต้องร่วมกันลงแรงมากหน่อย โดยเฉพาะในขั้นตอนการผลิต ที่กว่าจะนำใบเตยหนามมาแปรรูปได้ ต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุด เริ่มจากการตัดใบเตยหนามมาขูดเอาหนามออก จากนั้นนำมาต้ม ตากแดด แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน ก่อนนำไปตากแดดต่อจนแห้ง นำไปรูดให้แบน ผิวเรียบ และนิ่ม เสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ต้องนำไปย้อมสีตามความต้องการ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการตัดเย็บตามแบบที่ตลาดต้องการ

          "ผลิตภัณฑ์จักสานจากใบเตยหนาม เป็นงานที่ต้องทำด้วยใจรัก เพราะทุกขั้นตอนต้องอาศัยฝีมือการจักสานที่ประณีต เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม และที่สำคัญสีสันต้องเป็นธรรมชาติสมราคางานฝีมือแบบ 100%" ประธานกลุ่มฯ กล่าว

          ทั้งนี้หากใครสนใจอยากร่วมอุดหนุน และเป็นเจ้าของกระเป๋าผลิตภัณฑ์จากใบเตยหนาม ไอเดีย และฝีมือของกลุ่มจักสานใบเตยหนามบ้านบาโง สามารถมองหาได้ตามงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ของดีจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน นำผู้ประกอบการออกบูธ และร้านตระเวนเดินสายทั่วประเทศ โดยมี "กาย๊ะ สีสตางค์" รับหน้าที่ประจำหน้าร้านสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ให้ดูกันชัด ๆ เพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมาย และหาตลาดใหม่ให้มาอุดหนุนสินค้าอยู่เป็นประจำ หรือสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 081-9694216  "ก๊ะย๊ะ " ยินดีให้บริการ