ไลฟ์สไตล์

เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้

เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้

23 ต.ค. 2554

เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้ : โดย...ชลธิชา ศรีอุบล ประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

      "เรายังมีลมหายใจติดตัวก็ต้องสู้ ไม่มีใครคาดคิดได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง ดังนั้นควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ เดี๋ยวแดดก็ออก อย่ามั่วทุกข์ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ความทุกข์ดับลงด้วยใจของเรา ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องสู้กับปัญหา” นายสำริด-นางหนูจัน รัตนโรจน์ สามีภรรยาชาวบ้านนวนครผู้พักพิงในศูนย์ผู้พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าว

      เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดศูนย์เพื่อรองรับผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ณ หอประชุมใหญ่ มทร.ธัญบุรีขึ้น เพื่อรองรับและดูแลผู้ประสบภัยในพื้นที่บริเวณรอบพื้นที่มหาวิทาลัย และผู้อพยพที่ทางจังหวัดได้ส่งตัวมา ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าพักทั้งหมด 628 คน รองรับได้ไม่เกิน 1,500  คน มีอาสาสมัครนักศึกษา 300 คน หน่วยแพทย์จากสำนักสาธารณสุข จ.ยโสธร 18 คน ดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยรอบบริเวณมหาวิทยาลัยกั้นกระสอบทรายจำนวน 2 หมื่นกระสอบ และได้รเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรกรณีฉุกเฉิน 300 คน

      สองสามีภรรยาจากนวนครคือหนึ่งในผู้พักพิงเล่าด้วยน้ำตาว่า เกิดมาในชีวิตเพิ่งเคยได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมครั้งแรก เสียใจมาก ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวมาได้เลย  นอกจากเสื้อผ้าที่ใส่ติดตัวมา เพราะน้ำมาเร็วมาก เพราะฟังข่าวว่าสามารถต้านน้ำได้ แต่ก็ไม่โทษใคร เป็นเรื่องภัยธรรมชาติ

      เช่นเดียวกัน นางบับภา  แจ้งกระจ่าง อายุ 57 ปี ชาวบ้านประตูน้ำพระอินทร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ย้ายมาจากศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลลงกรณ์ พร้อมกับลูกสาว 1 คน  หลาน 3 คน โดยมีลูกเขยเฝ้าบ้าน บอกว่า “น้ำท่วมครั้งนี้ใหญ่กว่าทุกครั้ง เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” อยากให้กำลังใจผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านได้รับความเดือดร้อน ถึงแม้นว่าจะไม่เหลืออะไร แต่ยังมีลมหายใจ ขอให้ทุกคนสู้ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป ส่วน คุณตาสำริด รัตนโรจน์ อายุ 62 ปี พูดด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า “เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้” อย่ายอมแพ้โชคชะตา น้ำท่วมได้ก็ลดได้ เพียงแต่ว่าเราต้องอดทนให้ก้าวข้ามเหตุการณ์ที่เลวร้ายไปให้ได้ และลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องสู้ต่อไป

      นพ.พงษ์สวัสดิ์ รัตนแสง นายแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เล่าว่า มีผู้ประสบภัยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ โรคเครียด และโรคผิวหนัง แพทย์ที่มาให้การดูแลรักษาในครั้งนี้มีทั้งหมด 18 คน ได้แก่ นายแพทย์ 3 คน นักจิตวิทยา 1 คน เภสัช 2 คน แพทย์แผนไทย 1 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 5 คน  พยาบาล 6 คน โดยผู้ประสบภัยทุกคนจะมีความวิตกกังวล บ้างก็ห่วงบ้าน จึงทำให้เกิดอาการเครียด สภาพจิตใจหดหู่ สภาพจิตใจของผู้ประสบภัยทุกคนจึงเป็นเรื่องต้องได้รับการเยียวยา “หน่วยแพทย์ของเรามีหน้าที่ในการดูแลรักษา ถ้าพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนก็ต้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน”

      “บิ๊ก” ณัฐพล ดีอุต นักศึกษาปี 4 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม นายกองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี เล่าว่า นักศึกษาแบ่งทีมกันทำงานในศูนย์สโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ดูแลสต็อกของที่มีผู้มาบริจาค คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ดูแลโรงครัว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ดูแลเวรยาม เพราะผู้ประสบภัยแต่ละคนก็เหมือนกับคนในครอบครัว ต้องดูแลเป็นอย่างดี

      “เคน” จีรพันธ์ สังข์เงิน นักศึกษาปี 4 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ประธานสวัสดิการ และดูแลในเรื่องโรงครัว เล่าว่า อาหารเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่จะปรุงอาหารในแต่ละมื้อ  ต้องมีข้อมูลว่าในแต่ละวันมีผู้เข้ามาพักพิงจำนวนเท่าไร เพศไหน วัยไหน ผู้พักพิงแพ้อาหารชนิดไหน การปรุงอาหาร ต้องระวังโรคทางเดินอาหาร จึงต้องปรึกษาอาจารย์ก่อนทุกครั้ง

      ขณะนี้ศูนย์พักพิงต้องการชุดชั้นในชาย-หญิง กาแฟ โอวัลติน หน้ากากอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก แปรงสีฟันเด็ก-ผู้ใหญ่ นมผงเด็ก และสิ่งของที่จำเป็น บริจาคได้ที่หอประชุมใหญ่ มทร.ธัญบุรี หรือชื่อบัญชีออมทรัพย์ ”บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ธ.กรุงศรีอยุธยา เลขที่ 453-1-36769-4 สอบถามโทร.0-2549-3070, 0-2549-3339 ตลอด 24 ชั่วโมง

--------------------------------

(เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้ : โดย...ชลธิชา  ศรีอุบล  ประชาสัมพันธ์  มทร.ธัญบุรี)