ไลฟ์สไตล์

ฟื้นตลาดน้ำวัดตะเคียน
อีกความพยายามหนึ่งของพระที่ทำเพื่อชุมชน

ฟื้นตลาดน้ำวัดตะเคียน อีกความพยายามหนึ่งของพระที่ทำเพื่อชุมชน

30 เม.ย. 2552

การพัฒนาวัดตะเคียน ถนนนครอินทร์ (พระราม ๕) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี หลังจาก พระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือ หลวงพี่สงบ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการ หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดตะเคียน ได้มีอย่างต่อเนื่อง

 โดยเริ่มจาก พ.ศ.๒๕๕๐ มีการสร้างเขื่อนหน้าวัด ปรับปรุงโบสถ์ และถมดินทั้งวัดให้สูงขึ้น พ.ศ.๒๕๕๑ ยกศาลหลังใหญ่ ยกศาลาท่าน้ำ ๔ หลัง ย้ายหอระฆัง ย้ายกุฏิหลังเก่า รวมทั้งยกกุฏิไม้ให้เป็น ๒ ชั้น ส่วน พ.ศ.๒๕๕๒ นั้น ได้ปรับปรุงลานวัดทั้งหมดให้เป็นปูน ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น สร้างห้องน้ำ

 และโครงการล่าสุด ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ   ฟื้นฟูตลาดน้ำบริเวณหน้าวัดตะเคียน

 "หลวงปู่บอกว่า เมื่อวัดบอกบุญอะไร ญาติโยมก็ช่วยทำบุญมาตลอด ทั้งพระและวัดตะเคียน เอาของญาติโยมมาสร้างวัด มากิน มาใช้ ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดไม่ผิดนัก ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ ศาลา โบสถ์ ห้องน้ำ แม้กระทั่งข้าวที่ฉัน วันละ ๒ มื้อ ก็เป็นของญาติโยมทั้งนั้น ตอนนี้วัดก็พัฒนาในด้านต่างๆ เกือบจะสมบูรณ์ ๑๐๐% แล้ว วันนี้ถึงเวลาแล้ว ที่วัดต้องให้กลับคืนสู่ชาวบ้านบ้าง จึงคิดพลิกฟื้นตลาดน้ำหน้าวัดตะเคียน โดยเปิดให้ชาวสวน ชาวบ้าน รวมทั้งผู้ตกงาน  มาเปิดร้านขายสินค้าฟรี ทั้งบนบกและในน้ำ โดยวัดจะอำนวยความสะดวกทุกๆ ด้าน"  นี่คือความตั้งใจของ หลวงปู่แย้ม จากคำบอกเล่าของหลวงพี่สงบ

 สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก ที่วัดตะเคียนจัดเตรียมให้นั้น หลวงพี่สงบบอกว่า ได้จัดสร้างที่จอดรถ ห้องน้ำ สร้างที่กันแดดสำหรับตั้งร้านค้า ปรับปรุงท่าน้ำ ซื้อเรือถีบ รวมทั้งจัดหาโต๊ะ เก้าอี้ ตั้งตลอดแนวริมน้ำ ซึ่งใช้ปัจจัยไปกว่า ๑ ล้านบาท
 
 นอกจากนี้แล้ว วัดยังขอความร่วมมือไม่ให้ขึ้นราคาอาหาร โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ขายตามลำคลองอยู่เป็นปกติแล้ว ต้องคงราคาไว้ที่ ๒๐ บาท ในขณะที่บางรายขายเพียง ๑๕ บาท และข้าวต้มปลา ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของชาวบางกรวย ที่ใส่ข่าคั่ว ขายไม่เกินชามละ ๒๐ บาท

 ส่วนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้มาท่องเที่ยวในลำคลองนั้น  ทางวัดได้จัดหาเรือเพื่อให้ญาติโยมที่มาไหว้ขอพรหลวงปู่แย้ม ได้สัมผัสชีวิตสองฝั่งคลองบางคูเวียง โดยเปิดให้ลงฟรีเป็นเวลา ๒๐ วัน  ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาก เช่น ตลาดปากคลองบางคูเวียง วัดโพธิ์เอน วัดจาก ซึ่งมีอุโบสถเก่าที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดส้มเกลี้ยง วัดละมุด วัดหูช้าง วัดศรีเรืองบุญ วัดแพรก และวัดสิงห์ 

 ทั้งนี้ หลวงพี่สงบพูดไว้อย่างน่าคิดว่า "ปัจจัย หรือ เงิน ที่นำมาจัดทำโครงการตลาดน้ำหน้าวัดนั้น ล้วนเป็นปัจจัยที่มาจากศรัทธาของลูกศิษย์ ที่มีต่อหลวงปู่แย้มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมาจากการสะเดาะเคราะห์นอนโลง รวมทั้งให้บูชาวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ ขณะนี้โครงการก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดเกือบจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ จึงนำปัจจัยคืนสู่ชุมชนชาวสวนรอบๆ วัด รวมทั้งผู้ที่มาทำบุญด้วย ชาวสวนสามารถขายผลิตผลโดยตรง สู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นคนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาทำบุญยังได้สัมผัสวิถีของชาวสวนสองฝั่งคลอง รวมทั้งซื้อผลิตผลจากชาวสวนโดยตรง"  

 อย่างไรก็ตาม ในวันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ หลวงปู่แย้มจะทำพิธีเปิดตลาดน้ำหน้าวัดตะเคียนอย่างเป็นทางการ  ส่วนวันเสาร์ที่ ๙ และวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ทางวัดได้จัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่ เนื่องในวาระที่มีอายุวัฒนะครบ ๙๔ ปี โดยในวันเสาร์ จัดให้มีพิธีปิดทองรูปเหมือนของท่าน ส่วนวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐ น. ทางวัดจะประกอบพิธียกรูปเหมือนหลวงปู่แย้ม เพื่อประดิษฐานบนหลังเสือ

 สำหรับผู้ตกงานท่านใด ประสงค์จะไปตั้งแผงค้าขาย (ฟรี) ร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวสวนในคลองบางคูเวียง รวมทั้งร่วมสานต่อโครงการของหลวงปู่แย้ม ติดต่อได้โดยตรงที่ โทร.๐-๒๕๙๕-๑๘๕๑, ๐๘-๑๙๒๑-๐๙๔๖

กาแฟกึ่งศตวรรษ
 ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๕ เมษายน-๑๒ พฤษภาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชาวสวนในคลองบางคูเวียง หลวงพี่สงบได้จัดเรือไว้จำนวน ๓ ลำ  สำหรับบริการนักท่องเที่ยวฟรี โดยใช้เวลาแล่นในคลองประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที หลังจากนั้นจะเก็บค่าบริการท่านละ ๔๐ บาท เพื่อเป็นค่าน้ำมันเครื่อง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยรายได้ทั้งหมด จะนำมาพัฒนาตลาดน้ำหน้าวัดตะเคียน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

 มนต์เสน่ห์ของการล่องเรือ ชมวิถีชีวิตสองฝั่งลำคลองบางคูเวียงนั้น แม้ว่าชาวบ้านบางคูเวียงที่อาศัยอยู่จะถูกล้อมด้วยบ้านจัดสรร หลากสไตล์ หลายร้อยโครงการ  แต่วิถีชีวิตของคนริมคลอง ยังพอที่จะหลงเหลือให้เห็นความงดงามริมสายน้ำตลอดสองฝั่งคลอง

 บ้านบางหลังยืนหยัดสู้แดดสู้ฝนมาเกือบร้อยปี เรือขายของที่มีสินค้ากว่า ๑,๐๐๐ ชนิด หรือโชห่วยเรือเคลื่อน ที่มีลำเดียว ที่ขายตั้งแต่ซิมการ์ด บัตรเติมเงิน ไปจนถึงแก๊ส ยังมีให้เห็นอยู่

 ร้านขายของริมคลอง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ สำหรับชาวเรือก็ยังคงเหลืออยู่ให้เห็น และวิถีชีวิตหนึ่ง ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง และถูกกลืนกินตามกาลเวลาที่เป็นไป คือ “ตาเต็ง" ผู้ยึดอาชีพขายกาแฟด้วยเรือ ในคลองบางคูเวียงมากว่ากึ่งศตวรรษ

 ตาเต็ง เล่าให้ฟังว่า เริ่มขายกาแฟมาก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ประมาณ พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕ ขายมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีถุงพลาสติกใส่อย่างทุกวันนี้ เมื่อรวมแล้วก็กว่า ๕๐ ปี เปลี่ยนเรือไปแล้ว ๘ ลำ

 ในสมัยแรกๆ นั้น ใครจะกินน้ำหวาน โอเลี้ยง ต้องเตรียมกระติก ต้องเตรียมขันมาใส่ บางบ้านก็ใช้ปิ่นโต โดยขายเพียงบาทเดียวเท่านั้น

 พอมีถุงพลาสติก ก็ขายถุงละบาท จากนั้นราคาก็ขึ้นเป็น ๒ บาท ๓ บาท ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ขึ้นได้แค่ ๗ บาทเท่านั้นก็ไม่เคยขึ้นราคาอีกเลย แม้ว่ากาแฟที่ขายบนบก ซึ่งบอกว่าเป็นกาแฟโบราณจะขายถุงละ ๑๒-๑๕ บาทก็ตาม

 ทั้งนี้แต่ละวันจะใช้น้ำแข็งประมาณ ๒๐ กระสอบ น้ำตาลทราย ๑ กระสอบ ขายตั้งแต่เช้าจนเย็น หรือจนกว่าน้ำแข็งหมดนั่นแหละถึงจะกลับบ้าน 

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"