ไลฟ์สไตล์

ชวน "พ่อแม่"  เล่านิทาน อ่านและเล่นกับ "ลูก”
ให้ "เด็กไทย" เติบโตเป็น "อัจฉริยะ"

ชวน "พ่อแม่" เล่านิทาน อ่านและเล่นกับ "ลูก” ให้ "เด็กไทย" เติบโตเป็น "อัจฉริยะ"

29 เม.ย. 2552

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ทรงเจริญพระชันษาครบ 4 ปี ในวันที่ 29 เมษายนนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดมหกรรม “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ขึ้น เพื่อถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน ในวันพุธที่ 29

   งานนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโลกจินตนาการให้แก่เด็กบนพื้นฐานความรักภายในครอบครัว ซึ่งการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูกเป็นสิ่งสำคัญ ที่เสริมสร้างและพัฒนาสมองให้เด็กได้เติบโตเป็นอัจฉริยะในอนาคต  โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึง 6 ขวบ ถ้าช้ากว่านี้ อาจจะสายเกินไป

 สำหรับ ไฮไลท์ในงานจะได้พบกับนิทรรศการสายใยรักแม่ลูกผ่านภาพและเสียง ระหว่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งพระสุรเสียงที่ทรงเล่านิทานและพระฉายาลักษณ์หาดูยากนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยเห็นมาก่อน

 นอกจากไฮไลท์สำคัญของงานแล้ว ทุกครอบครัวยังจะได้ร่วมกิจกรรมแห่งความสุขอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะการเล่านิทานจากชุมนุมนักเล่านิทานทั่วประเทศ  การร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี โดยคุณแม่มืออาชีพ สารพัดการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว พร้อมกับเลือกซื้อสินค้าคุณภาพสำหรับเด็กจากร้านค้าดังที่พร้อมใจกันลดกระหน่ำ รวมทั้งได้กระทบไหล่ดารานักแสดงมากมาย นอกจากนี้เด็กๆ ยังจะได้ร่วมแต่งนิทานไม่รู้จบไปกับงานในครั้งนี้ด้วย 

 ในเรื่องการให้ความสำคัญของ การเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูกนั้น นพ.อุดม เพชรสังหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสมองของเด็ก ให้ความรู้ว่า

 “การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 0-6 ขวบ เพราะการเล่านิทานจะทำให้เด็กเกิดจินตนาการตามสิ่งที่พ่อแม่เล่า สมองมนุษย์คือสิ่งที่จะตอบศักยภาพทั้งหมด ว่าเราจะเติบโตเป็นคนแบบไหน ขึ้นอยู่กับการทำงานของสมอง ถ้าสมองทำงานไม่ดีทุกอย่างก็จบ ซึ่งสมองช่วงที่เตรียมความพร้อมได้ดีก็คือช่วง 0-6 ขวบนี่เอง ถ้าเกินนี้ไปการพัฒนาสมองจะพัฒนาได้ดีไม่เต็มที่ พยายามยังไงก็ไม่ดีถึงสุดยอด"

 คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กอยู่ในครรภ์มารดา เสียงจะกระตุ้นให้เด็กเริ่มจำเสียงแม่ได้ ประสาทหูเริ่มทำงานตั้งแต่ 3-4 เดือน การได้ยินจึงเป็นตัวกลางสำคัญในการพัฒนาภาษา เพราะเด็กจะได้ยินเสียงและเลียนเสียงได้ถูกต้องอาจจะเป็นการร้องเพลงกล่อม การเล่านิทาน หรือพูดคำว่า แม่รักลูกนะ แม่รักหนูจังเลย อย่าดิ้นสิลูก แม้เด็กอาจจะแปลไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร แต่เขาจะรับรู้ถึงน้ำเสียงอยู่ในนั้น

 "เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ เสียงจะกระตุ้นให้เซลล์ประสาทเกิดการพัฒนา พอคลอดออกมาโตพอขึ้นนั่งตักได้ เราก็ควรเล่านิทานให้เขาฟัง หรือหยิบหนังสือนิทานแล้วชี้ให้เขาดูรูปภาพอย่างต่อเนื่อง มนุษย์เราในอนาคตมีอยู่ 3 เรื่องที่จำเป็นครับ...

 คือ 1.จินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทุกคนจำเป็นต้องมี ต่อให้ลูกคุณเรียนเก่งได้เกียรตินิยมยังไง แต่ถ้าไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทุกอย่างก็จบ 2.การรักที่จะเรียนรู้ และแสวงหาความรู้ และ 3.ต้องมีเพื่อน สิ่งจำเป็นพื้นฐานทั้ง 3 ข้อนี้ จะปลูกฝังได้ดีก็ช่วง 0-6 ขวบนี่ละครับ...

 ดูอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลได้ ก็เพราะพ่อได้ให้เข็มทิศเป็นของขวัญตั้งแต่เด็ก การได้เล่นเข็มทิศคือการจุดชนวนให้เขากลายเป็นคนที่คอยตั้งคำถาม และหาคำตอบให้แก่ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกจักรวาลอยู่ตลอดเวลา  จนกระทั่งเขาสามารถไขปริศนาบางอย่างของจักรวาลได้  

 หรืออย่าง วอลท์ ดิสนีย์ บิดาแห่งการ์ตูนและสวนสนุกของโลก ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะแม่เขาเป็นนักเล่านิทานตัวยง ทุกวันแม่ของเขาจะหยิบเอาสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในฟาร์มมาผูกเป็นตัวละครของเรื่อง ทำให้หนูน้อย วอลท์ ดิสนีย์ เกิดแรงบันดาลใจสร้างการ์ตูน มิกกี้ เม้าส์ จนโด่งดังมาจนบัดนี้   
 
 ซึ่งการเล่านิทานให้ลูกฟัง กลางคืนเป็นเวลาที่ดีที่สุดก่อนที่ทุกคนจะเข้านอน เพราะไม่ต้องเร่งรีบ จะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ อ่านแล้วเคลิบเคลิ้มก็หลับไปทั้งพ่อแม่และลูก เวลานี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดครับ”   

 ได้ฟังคุณหมออุดมแล้ว ใครที่เห็นถึงความสำคัญของการเล่านิทาน จึงไม่ควรพลาดกับมหกรรม “เล่านิทาน  อ่าน และเล่นกับลูก” ครั้งสำคัญครั้งแรกในประเทศไทย