
แก๊งเด็กแสบ'ใต้ดิน'
แก๊งเด็กแสบ'ใต้ดิน' ขอนแก่นโมเดลสู่เด็ก'บนดิน' โดย...ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ
ท่ามกลางความชื่นชมยินดีกับผลรางวัลเด็กเก่งของประเทศไทย ที่สามารถคว้ารางวัลระดับต้นๆ ในเวทีโลก ขณะเดียวกันยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังถูก "เหวี่ยง" ออกนอกระบบก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนถึงเกือบ 3 ล้านคนทั่วประเทศ ทว่าหนทางใดเล่าที่จะสามารถดึงเด็กเหล่านี้ให้กลับคืนสู่ระบบได้อย่างสง่างาม บนสิทธิที่เด็กควรได้รับในสังคม
"คม ชัด ลึก" มีโอกาสไปเยือนแดนอีสาน เมืองหมอแคน สัญลักษณ์แห่งความสนุกสนาน ตรงกันข้ามดินแดนแห่งนี้กำลังเผชิญกับปัญหา "เด็กนอกระบบ" ที่หลุดจากระบบ 4 ชุมชนเทศบาลนครขอนแก่น ได้แก่ ชุมชนบ้านสามเหลี่ยม ชุมชนบ้านศรีฐาน ชุมชนโนนทัน และชุมชนเหล่านาคี กว่า 1,275 คน รวมตัวเป็น "แก๊ง" กว่า 10 แก๊งตระเวนก่อความวุ่นวาย เกิดปัญหามานานัปการ บ้างปัญหาแม่วัยรุ่น บ้างปัญหาก่อคดีอาชญากรรม เพียงเพราะถูกสังคมยึดพื้นที่ที่พวกเขาควรจะยืนและทำหน้าที่ของเยาวชนเฉกเช่นเยาวชนคนอื่นๆ
"เบียร์" เด็กหนุ่นวัย 17 จากชุมชนสามเหลี่ยม หนึ่งในแก๊งมังกรดำ ที่มี "พี่เปี๊ยก" ชายวัย 40 ต้นๆ หัวหน้าแก๊ง มีสมาชิกประมาณ 500 คน เล่าถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตว่า "ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะออกจากโรงเรียน แต่ด้วยสภาพในห้องเรียนไม่สู้ดีนัก หาคนเข้าใจยาก ผมไม่เข้าใจว่า เพียงแค่การใส่เสื้อคลุมไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่ครูต้องเอามาพูดเอามาถามจะเอามาเป็นปัญหา ผมพูดขึ้นแค่ประโยคเดียวว่า "ครูยุ่งอะไรด้วย" ทำให้รู้สึกผิดที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงไม่กลับไปโรงเรียนอีกเลย"
หลังจากออกจากโรงเรียนยิ่งทำให้มีเวลาทำในสิ่งไม่ดีมากขึ้น "ชีวิตวันๆ ไม่ทำอะไร เที่ยวเล่น ตกเย็นก็ออกกินเหล้า ดึกๆ ก็จับกลุ่มกันแว้น หาเรื่องทะเลาะวิวาท" ลองมาหมดทุกอย่างแล้ว เมื่อย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ทำไหมไม่เรียนให้จบ ทำให้คิดได้ว่า ทุกอย่างต้องทำด้วยตัวเราเอง แต่วันนี้อยากกลับไปเรียนอีกครั้ง ก็เลยเข้าไปขอครูเรียนต่อ แต่ได้รับการปฏิเสธ แต่เบียร์ไม่ย่อท้อต่อหนทาง พยายามทำให้ตัวเองได้ศึกษาต่อ โดยการศึกษาต่อ กศน.แทน
เหตุผลที่ทำให้ เบียร์ กลับสู่ระบบอีกครั้ง เพราะมี "ป๋า" เป็นที่พึ่งทางกายและทางใจ สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของเด็กวัยรุ่นได้จริง เขาผู้นั้นคือ ป๋าสมชาติ ชัยอยุทธ์ ประธานชุมชนสามเหลี่ยม 3 ขวัญใจเด็กแก๊งเมืองหมอแคน เล่าว่า เมื่อก่อนตอนที่เด็กกลุ่มนี้เข้าไปในโรงเรียนใกล้ชุมชน ป๋าจะรีบโทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาจับกุม เพราะคิดว่ายังไงเขาต้องเข้ามาก่อความวุ่นวาย แต่หลังจากได้ไปอบรมจิตวิทยาขั้นสูงใน "โครงการพลิกฟื้นหนุ่มสาวสู่ก้าวย่างใหม่วัยสะออนท้องถิ่นนครขอนแก่น" ที่ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลนครขอนแก่น ก็ได้รู้ว่า การเข้ากับเด็กกลุ่มนี้ไม่ยาก เพียงแค่เอาใจแลกใจ คุยเปิดใจทุกเรื่อง เมื่ออบรมเสร็จได้กลับมาปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดการประชุมขึ้น โดยให้เด็กกลุ่มนี้เข้าร่วมด้วย ตอนแรกเด็กไม่พูดไม่บอก หลังจากนั้นมีตัวแทนมาบอกว่า อยากได้สนามฟุตซอล ป๋าก็ไม่ลังเลที่จะจัดหาสนามให้
ป๋า เล่าต่อว่า เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ต้องต่อยอดให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด จึงบอกให้เด็กๆ ตั้งใจซ้อม เพราะจะส่งเข้าแข่งขัน ผลปรากฏว่า ทีมของพวกเขาได้รับรางวัล ถึงจะไม่ชนะเลิศ แต่ก็ภูมิใจ เพราะเด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมทำร้านนม ซ่อมมอเตอร์ไซค์ บ้านหลังที่ 2 ที่เทศบาลนครขอนแก่นเป็นแรงหนุน เกิดเป็นกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ตัวเอง และเคารพตนเอง ท้ายที่สุดแล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องสุขภาพและการศึกษา
เมื่อมีสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และเทศบาลนครขอนแก่น เข้ามาตอกย้ำกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยการจัดวงโสเหล่ กระเทาะวงจร "เพื่อน ผู้หญิง รถ เหล้า ยาเสพติด ครู ครอบครัว" ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2554 ที่ห้องสมุดเด็กสวนดอกคูณ จ.ขอนแก่น เพื่อหาแนวทางออกให้เด็กนอกระบบที่อยู่ใต้ดินกลับขึ้นมาอยู่บนดินเหมือนมนุษย์ทั่วไป
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวถึงพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันว่า มีเด็กถูก "เหวี่ยง" ออกจากระบบเฉพาะภาคบังคับ ม.3 กว่า 3 ล้านคนในรอบ 10 ปี ไม่ร่วมกันเด็กช่วงชั้นอื่นๆ นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สสค.จึงออกแบบกลไกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า ระบบประกบตัว หรือการจัดการดูแลรายกรณี (Case Mangement Unit-CMU) เป็นกลไกจัดการทั้งในเชิงแก้ไขเยียวยา และป้องกันเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
"ถ้ารู้ว่าเด็กคนไหนกำลังมีปัญหา ให้ผู้ปกครองหรือคุณครูหรือแม้แต่คนในสังคมรีบเข้าหาตัวเด็กทันที แต่วิธีการเข้าหาจะต้องไม่ใช่วิธีด่าท้อ หรือใช้ความรุนแรง เพราะวิธีการดังกล่าวยิ่งจะทำให้เด็กออกห่าง ท้ายที่สุดก็ต้องหลุดออกจากระบบ เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทางออกที่ดีควรเริ่มป้องกันตั้งแต่แรก ไม่ควรมาแก้ปัญหาทีหลัง ส่วนเด็กนอกระบบที่เป็นปัญหาอยู่แล้วต้องได้รับเยียวยาต่อไป" ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค.กล่าวทิ้งท้าย