ไลฟ์สไตล์

ฟ้าแลบฟ้าร้อง

ฟ้าแลบฟ้าร้อง

04 ก.ย. 2554

เทคนิควาดแสงเมื่อเจอเหตุการณ์อย่าง ฟ้าแลบฟ้าร้อง คว้ากล้องขึ้นมากดชัตเตอร์กันเถอะ

          แสงฟ้าแลบกดโสตประสาทของผู้ที่ขวัญอ่อนให้เตรียมตัวปิดหู ก่อนเกิดเสียงคำรามดังสนั่นที่กำลังจะตามมาภายในไม่กี่อึดใจ เพราะเสียงเดินทางช้ากว่าแสงที่เดินทางได้เร็วถึง 299,792.458 กิโลเมตรต่อวินาทีนั่นเอง นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกอย่าง ไอน์สไตน์ ค้นพบว่า ถ้าสามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสงได้ ก็จะสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาโดยใช้เครื่องไทม์แมชชีน แบบของวิเศษของโดราเอมอน แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถค้นพบวัตถุใดในโลกที่เดินทางได้เร็วกว่าแสง

          แม้จะเคยเก็บเส้นสายของฟ้าผ่าที่วิ่งลงสู่พื้นดินที่คาดเดาแบบแม่นๆ ได้หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพฟ้าแลบที่วิ่งไปมาระหว่างก้อนเมฆสักที ต้องอาศัยการประมาณการและรอคอยช่วงเวลาที่ฟ้าฝนในพื้นที่ปั่นป่วนเป็นอย่างยิ่ง ถึงจะมีโอกาสแก้ตัวได้หลายครั้ง ยิ่งอยู่ที่สูงกว่าย่อมเหลือสิ่งที่บดบังน้อยลงด้วย

          จากที่เคยเปิดช่องรับแสงที่ 8-11 สำหรับฟ้าผ่า แต่ฟ้าแลบนั้นมีขั้นตอนและพลังงานยังไม่มากที่จะปลดปล่อยแสงสว่างเพียงพอ จึงต้อง ใช้ช่องรับแสงที่กว้าง ขึ้นอย่าง 4-5.6 ยิ่งแสงฟ้าแลบอยู่ไกลออกไปมาก ก็ยิ่งต้องเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อรับแสง ขาตั้งกล้อง ที่มั่นคงยังต้องใช้ควบคู่กับการบันทึกภาพที่ประมาณ 8-15 วินาทีต่อครั้ง เพื่อเก็บบรรยากาศในสถานการณ์นั้นๆ ทิศทางการตั้งกล้องก็ต้องอาศัยการสังเกตเป็นหลัก บริเวณไหนเกิดฟ้าแลบบ่อยครั้ง ตรงนั้นก็จะเหมาะที่สุด ช่วงนี้ฝนตกบ่อยขึ้นถ้าคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่ามีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ในช่วงค่ำแถวย่านที่อยู่อาศัยก็เตรียมพร้อมอุปกรณ์ครบมือ รอลั่นชัตเตอร์เก็บภาพสายฟ้าฟาดผ่านเข้ามากันได้เลย