ไลฟ์สไตล์

'ดอกเตอร์มี'หมอคู่กาย 24 ชั่วโมง

'ดอกเตอร์มี'หมอคู่กาย 24 ชั่วโมง

04 ก.ย. 2554

แอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพบนไอโฟน ข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลร่างกาย โดย...สาลินีย์ ทับพิลา

        หลายคนเรียนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นกลับตกใจจนลืม ด้วยเหตุนี้ สสส.จับมือมูลนิธิหมอชาวบ้าน สถาบันเชนจ์ฟิวชั่นและโอเพ่นดรีม พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนไอโฟนในชื่อ "ดอกเตอร์มี" (DoctorMe) คู่มือดูแลสุขภาพอย่างง่ายรับเทรนด์ดิจิทัล

        ดอกเตอร์มี หรือหมอมี เป็นแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพบนไอโฟน ที่จะช่วยให้คุณรู้วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย อย่างง่าย รวดเร็วและถูกต้อง ก่อนที่จะไปพบแพทย์ เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดท้อง พร้อมข้อมูลประกอบให้รู้จักกับโรคและการใช้ยา

        เนื้อหาหลักจะแบ่งร่างกายออกเป็น 3 ส่วนหลักและมีส่วนย่อยประกอบคือ ศีรษะ (หู ตา คอ จมูก ปาก) ลำตัว (ท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน) และลำตัวส่วนล่าง (อวัยวะเพศ ขา เท้า) หากรู้สึกเจ็บป่วยตรงอวัยวะส่วนไหนก็คลิกดูข้อมูลเฉพาะส่วนนั้นๆ ได้

        ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาแอพสุขภาพนี้ เกิดจากข้อมูลที่ว่า คนไทยเมื่อเจ็บป่วยมักมีจะรอให้หายเอง หรือซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ขณะที่คนชนบทบางส่วนนิยมหาข้อมูลโดยสอบถามวิธีการรักษาจากคนรอบข้างหรืออาสาสมัครสาธารณสุข ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลตัวเอง หรือรักษาตัวเองจากโรคทั่วไปได้

        ประกอบกับสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จึงเกิดเป็นไอเดียแอพพลิเคชั่นมือถือ เน้นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยข้อมูลจากหนังสือคู่มือหมอชาวบ้าน ที่เนื้อหาเข้าใจง่าย เหมาะกับคนทั่วไปใช้ดูแลตัวเอง

        นายชิตพงษ์ กิตตินราดร รองผู้จัดการแผนงานไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ดิจิทัลและสนับสนุนภาคีเครือข่าย สสส. และที่ปรึกษาของสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น กล่าวว่า ก่อนการพัฒนาได้ทำวิจัยเล็กๆ และพบว่า อัตราการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแล้วไม่ถูกใจ และยกเลิกการติดตั้งไปเมื่อเปิดเล่นแค่ครั้งแรกครั้งเดียวมีสูงถึง 70% ดังนั้น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพให้ถูกใจผู้ใช้จึงเป็นความท้าทาย

        ระยะเวลา 4 เดือนของการพัฒนาดอกเตอร์มี แอพนี้ถูกปรับแก้มาแล้วกว่า 10 เวอร์ชั่น ตั้งแต่รูปลักษณ์ของแอพ ที่เวอร์ชั่นแรกมาด้วยสีเขียวตุ่นเหมือนชุดผ่าตัด เปิดมาหน้าแรกเป็นรูปเด็กโปร่ง ๆ ที่มีตับไตไส้พุงเหมือนหุ่นกายวิภาค แต่เมื่อมองแล้วไม่ดึงดูดใจ ทีมพัฒนาจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปเด็กไร้เพศเพื่อป้องกันปัญหา และทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกแปลกเมื่อต้องคลิกอวัยวะที่ตนมีอาการเจ็บป่วย

        ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงข้อมูลที่มีมากกว่า 200 รายการ ก็จำเป็นต้องทำให้ใช้งานลื่นไหล เชื่อมโยงอาการ ลักษณะของโรค วิธีรักษาหรือการปฐมพยาบาลเข้าด้วยกัน โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ผู้เขียนหนังสือคู่มือการตรวจวินิจฉัยโรค คู่มือหมอชาวบ้าน และเจ้าของคอลัมน์สารานุกรมทันโรคในนิตยสารหมอชาวบ้าน

        เพียงแค่ดาวน์โหลดดอกเตอร์มีเก็บไว้ก็สามารถเรียกมาดูได้แม้ไม่ต้องต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนค่ายอื่น แท็บเล็ตอื่นๆ รวมถึงเนื้อหามัลติมีเดียที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 3 จี อดใจรออีกสักนิดได้ใช้กันแน่นอน