ไลฟ์สไตล์

หญิงไทยต้องตายด้วยมะเร็งปากมดลูกวันละ 14 คน!!

หญิงไทยต้องตายด้วยมะเร็งปากมดลูกวันละ 14 คน!!

03 ก.ย. 2554

มะเร็งปากมดลูกถือเป็นภัยคุกคามผู้หญิงอย่างมาก

        สถานการณ์มะเร็งปากมดลูกวันนี้ ถือเป็นภัยคุกคามผู้หญิงอย่างมาก แม้ว่าอัตราการเกิดจะเป็นลำดับ 2 แต่อัตราการตายกลับมาเป็นลำดับ 1 และมีการคาดการณ์ว่า หากยังไม่มีมาตรการใดๆ จะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 17 คน ในช่วงเวลา 4 ปี ถือว่าเป็นความสูญเสียที่ต้องเร่งแก้ปัญหา

        สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันทราบว่า เกิดจากติดเชื้อไวรัสหูด หรือ Human Pappilloma Virus (HPV) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดจากเพศชาย สามารถป้องกันด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ และยังพบว่า มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่

        ปัจจุบันถือว่า ผู้หญิงไทยมีความตื่นตัวในเรื่องการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกดีขึ้นจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 70% ในปี 2552 

        การตรวจคัดกรองปัจจุบันมี 3 วิธี คือ 1.การตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ หรือแปปสเมียร์ (Pap Smear) 2.การตรวจหาความผิดปกติของปากมดลูกด้วยวิธี VIA (visual inspection with acetic acid) 3.การตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยวิธีการ HPV DNA testing เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด แต่ปัจจุบันเมืองไทยยังไม่ใช้วิธีนี้อย่างแพร่หลายเนื่องจากต้นทุนของเทคโนโลยีราคาแพง 

        ซึ่งทั้ง 3 วิธีถือเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถตรวจหาเพื่อรักษาได้ทัน
 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนา “มะเร็งปากมดลูก รู้เท่าทัน ผลักดันสู่นโยบาย” 

        ดร.ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกว่า เปรียบเทียบระหว่างการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) การใช้กรดน้ำส้มสายชูเจือจาง หรือวีไอเอ (VIA) และการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV 

        ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนและไม่ตรวจคัดกรองเลยรัฐจะต้องเสียเงินเฉลี่ย 3,820 บาทต่อหญิง 1 คน 2.ถ้าตรวจคัดกรองโดยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) ครอบคลุม 80% ค่ารักษาเฉลี่ยต่อหญิง 1 คนจะลดลงเป็น 2,540 บาทต่อคน และ 3.ถ้าจะฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และตรวจคัดกรองครอบคลุม 70% ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะเหลือ 2,000 บาทต่อคน โดยการลงทุนด้านการป้องกันที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดอัตราการตายลงด้วย

        พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า จากข้อมูลของ HITAP นำไปสู่การเสนอแนวทางเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การพิจารณาจัดหามาตรการที่ดีที่สุด

        โดยข้อเสนอ คือ รัฐบาลควรกำหนดนโยบายตามกลุ่มอายุ คือ

        กลุ่มอายุ 30-45 ปีขึ้นไป ต้องได้รับบริการตรวจแปปสเมียร์/ VIA ทุก 5 ปี

        กลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ทุก 5 ปี และกลุ่มเสี่ยง (มีปัจจัยเสี่ยง) ควรได้รับการตรวจทุกปีด้วย Pap Smear หรือ HPV DNA Typing 

        กลุ่มอายุ 12-19 ปี ควรได้รับวัคซีนพื้นฐานทุกคน ซึ่งคิดอยู่บนพื้นฐานว่า วัคซีนสามารถป้องกันได้ 10-20 ปี และคำนวณราคาวัคซีนบนฐานที่ราคาวัคซีนอยู่ที่ 198 บาทต่อเข็ม ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ทั้งแง่การจัดหางบประมาณ และการจัดหาวัคซีนในราคาดังกล่าว

        ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. เปิดเผยผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-50 ปี เพื่อทราบถึงทัศนคติในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก พบว่ากลุ่มที่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกเป็นกลุ่มอายุ 31-40 ปี ในขณะที่วัยรุ่นรับทราบน้อย ซึ่งกลุ่มที่เข้ารับการคัดกรองมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 41-50 ปี โดยเหตุผลเรื่องความอาย อยู่ที่ 21.3% ถือว่าดีขึ้นจากในอดีตมาก ส่วนมากที่ไม่รับการตรวจจะระบุว่า ยังไม่มีอาการผิดปกติอยู่ที่ 66.3% ทั้งนี้ โรคมะเร็งปากมดลูก จะเกิดขึ้นจากการรับเชื้อไวรัส และใช้เวลาในการฝักตัวเป็นสิบๆ ปี ฉะนั้นการตรวจในระยะเวลาที่สม่ำเสมอยังถือเป็นความจำเป็น

        ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนพื้นฐาน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องรีบชั่งผลดีผลดีเสีย โดยมีผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง