
ฟ้อนเมืองก๋ายลาย
วัฒนธรรมจังหวัดลำปางที่ยังทรงคุณค่า
มีเรื่องเล่ามาจากเมืองรถม้า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางจัดการอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การฟ้อนไทยลื้อ ณ โรงเรียนบ้านกล้วยแพะ ต.กล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง โดยมีการสอนการฟ้อนเมืองก๋ายลายกับเด็กเยาวชน ใน ต.กล้วยแพะ ซึ่งเป็นตำบลที่เป็นชุมชนของไทยลื้อในจ.ลำปาง โดยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทยลื้อ และยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยลื้อได้เป็นอย่างดีสำนักงานวัฒธรรมจังหวัดลำปาง เล็งเห็นว่าการเยาวชนในปัจจุบันขาดความสนใจและสืบสานการฟ้อนไทยลื้อจึงร่วมกับชุมชนไทยลื้อจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การฟ้อนไทยลื้อขึ้น
ฟ้อนเมืองก๋ายลาย (ฟ้อนเมืองกลายลาย) เป็นท่าฟ้อนที่สืบสานมาจากชนเผ่าไทยลื้อ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสำหรับชนเผ่าไทยลื้อนั้น มีที่มาจากหลายภูมิภาคในประเทศพม่า และประเทศจีน เช่น เมืองสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง และเมืองหาง เป็นต้น แต่กลุ่มไทยลื้อที่ได้สืบสานท่าฟ้อนเมืองก๋ายลายที่พบนี้มาจากเมืองหางในประเทศพม่า และอพยพถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านแสนตอง ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
การฟ้อนเมืองก๋ายลาย หมายถึงการฟ้อนพื้นบ้านของกลุ่มชนในล้านนา และได้รับการยอมรับแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับเปลี่ยนท่าฟ้อน โดยนำเอาลีลาท่าฟ้อนเชิง (ลาย) เข้าไปผสมกับท่าฟ้อนรำ คำว่า ฟ้อนเมืองนั้นหมายถึง การฟ้อนแบบของคนพื้นเมือง (ไทยวน) คำว่า กลาย หรือก๋ายนั้นหมายถึง การปรับเปลี่ยนลีลาท่าฟ้อน และคำว่า “ลาย” หมายถึง เชิงลีลาท่าฟ้อนหรือท่าร่ายรำ การฟ้อนเมืองก๋ายลาย ในสมัยก่อนที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษนั้น ก็ไม่มีการฟ้อนพร้อมหลายคน และสะดวกในการถ่ายทอด จึงได้กำหนดตั้งแถวเป็นคู่ๆ เหมือนการฟ้อนเล็บ ดังนั้น จึงต้องกำหนดท่ารำให้เรียงลำดับเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้เป็นกฎที่ตายตัวหรือเคร่งครัดมากนัก
ท่าฟ้อนเมืองก๋ายลายแบบดั้งเดิมได้รวบรวมไว้มี 14 ท่ารำ คือ 1.ไหว้ 2.บิดบัวบาน 3.เสือลากหาง 4.ลากลง 5.แทงบ่วง 6.กากางปีก 7.ใต้ศอก 8.เท้าเอว 9.ยกเข่า 10.ยกเอว 11.เต็กลายหรือแลหลาย 12.เล่นศอก 13.เต็กลายลุกยืน 14.บัวบานกว้าง
การฟ้อนเมืองก๋ายลาย นิยมฟ้อนในงานเฉลิมฉลอง งานบุญ งานปอยของวัดในล้านนาโดยจะฟ้องนำขบวนแห่ครัวตานเข้าไปถวายที่วัด หรือจะเรียกว่าเป็นการฟ้อนปิติก็ว่าได้ เพราะช่างฟ้อนจะมีวัยต่างๆ การแต่งกายด้วยชุดไทยลื้อหรือชุดชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จับคู่อย่างน้อย 3 คู่ร่ายรำท่าฟ้อนเมืองก๋ายลายที่สวยงาม นิยมฟ้อนแสดงในงานขันโตกและงานทั่วไป และที่เห็นส่วนมากจะใช้เป็นการฟ้อนนำขบวนแห่ เพราะเป็นการฟ้อนไปด้วยเดินไปด้วยโดยไม่ต้องหยุดขบวนแห่เหมือนฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเทียน
ชิตพร พูลประสิทธิ์ นักประชาสัมพันธ์รุ่น 2
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง